xs
xsm
sm
md
lg

สุวัจน์ รอดคดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้องข้อกล่าวหานายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เกี่ยวพันทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สั่งฟัน “วัฒนา อัศวเหม” เพิ่มฐานขู่เข็ญจนท.ท้องถิ่นเห็นชอบใช้พื้นที่คลองด่านทำบ่อบำบัด ส่วน “ยิ่งพันธ์” ผิดแต่เสียชีวิตให้จำหน่ายคดี 4 บิ๊กอดีตข้าราชการกรมควบคุมมลพิษไม่รอดเจอดำเนินคดีอาญา

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.54 เวลา 14.30 น. นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกกรรมการป.ป.ช. แถลงมติผลการประชุมคดีทุจริตการก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียอ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ กรณีนายวัฒนา อัศวเหม ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรมช.กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ถูกล่าวหาที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ บีบบังคับขู่เข็ญเจ้าหน้าที่อบต.คลองด่าน ให้ร่วมประชุมเพื่อมีมติเห็นชอบใช้พื้นที่คลองด่าน เพื่อทำเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157

ทั้งนี้ นายวัฒนา ซึ่งเป็นผู้ถูกกกล่าวหา ได้หลบหนีตามหมายจับตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่หมายเลข อม.2 / 2552 ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ให้นายวัฒนาได้รับทราบ และ นายวัฒนาจะต้องส่งหนังสือชี้แจงกลับภายใน 15 วัน หากไม่มีการชี้แจงกลับ จะต้องส่งสำนวนให้อัยการโดยไม่มีคำชี้แจงประกอบ

ขณะที่นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 สมัยที่ดำรงรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้มีการเสนอขอออกแบบโครงการรวบรวมและบำบัดนำเสียฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เขตควบคุมมลพิษ จ. สมุทรปราการ เพื่อขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อมาวันที่ 17 ต.ค. พ.ศ. 2538 ครม.เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของกระทรวงวิทย์ฯ ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม 2 แห่ง คือที่ต.บางปูใหม่ เนื้อที่ประมาณ 1,550 ไร่ และที่ต.คลองบางปลากด เนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ รวมวงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 13,216 ล้านบาท แต่ได้มีการสอดแทรกพื้นที่อ.คลองด่าน เข้ามาภายหลัง รวมเป็นเนื้อที่ 1,900 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด โดยมีนายวัฒนา เป็นผู้ถือหุ้นอยู่

นอกจากนี้ ยังได้มีการขอปรับงบเพิ่มจากเดิมเป็น 2.2 หมื่นล้านบาท โดยมีผลผูกพันข้ามปีงบประมาณ (2540-2545 ) ดังนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนมติครม. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 38 และวันที่ 5 ก.ค. 26 ฝ่าฝืนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 10 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ. 2534 ข้อ 7 เป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานที่ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการเสียหายต่อรัฐ และยังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 151 และมาตรา 157 แต่นายยิ่งพันธ์ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 46 ป.ป.ช. จึงมีมติจำหน่ายเรื่องดังกล่าว

ส่วนกรณี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2537 ถึงวันที่ 13 ก.ค. 2538 ได้ใช้อำนาจหน้าที่สมัยรับตำแหน่งดังกล่าว ริเริ่มผลักดันโครงการ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการกำหนดใช้พื้นที่จ.สมุทรปราการ เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะเป็นการดำเนินการในสมัยนายพิศาล มูลศาสตรสาทร สมัยดำรงตำแหน่งรมว.วิทย์ฯ ก่อนนายสุวัจน์มาดำรงตำแหน่ง

ส่วนการพิจารณาโครงการจาก 2 ฝั่ง มาเป็นฝั่งเดียว และกำหนดให้ใช้ที่ดินต.คลองด่าน เป็นที่ดำเนินการจนนำไปสู่การจัดซื้อที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนค์ ฟิชเชอรี่ จำกัด รวมทั้งการขอเพิ่มวงเงินจาก 1.3 หมื่นล้านบา เป็น 2.3 หมื่นล้านบาท และการสั่งจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ก็อยู่ในการดำเนินการของนายยิ่งพันธ์ ดังนั้น คณะกรรมการป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ กรณีที่มีข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว จำนวน 14 คน ทางคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษตามวินัย ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกาทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ทั้งนี้

ส่วนอดีตข้าราชการระดับสูงกรมควบคุมมลพิษ 4 ราย ประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นางนิศากร โฆษิตรัตน์ ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 และผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 97

อนึ่ง การตรวจสอบทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง การทุจริตจัดซื้อที่ดิน ซึ่งป.ป.ช.สรุปสำนวนส่งฟ้องศาลฎีกาฯ และศาลได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2551 สอง การทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่ง ป.ป.ช.แถลงผลการตรวจสอบดังกล่าวข้างต้น

สำหรับคดีก่อนหน้าที่ป.ป.ช.ส่งสำนวนฟ้องศาลฎีกาฯ นั้น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2551 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ โดย ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ 9 คน ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับคลองสาธารณประโยชน์และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม นำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยพิพากษาว่า จำเลยดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี

นอกจากนั้น ยังมีคดีที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ว่าจ้างทนายเอกชนฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม และพวก รวม 19 ราย ประกอบด้วย 1.กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี 2.บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 3.นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 4.บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง 5.นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัท ประยูรวิศว์การช่าง 6.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) 7.นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัท สี่แสงการโยธา 8.บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ 9.นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ 10.บริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์

11.นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ 12.บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ 13.นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 14.นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 15.นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 16.บริษัท ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ 17.นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ 18.นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ และ 19.นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2552 ศาลแขวงดุสิต อ่านคำพิพากษา โดยศาลพิเคราะห์ว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2-19 เชื่อมโยงมีการแบ่งหน้าที่กันทำกลุ่มหนึ่งเป็นผู้รวบรวมที่ดินนำขายให้แก่โจทก์ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโครงการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวออกโฉนดโดยมิชอบแล้วนำมาขายให้กับโจทก์ใช้ก่อสร้างโครงบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านโดยไม่มีบริษัทผู้เชี่ยวร่วมดำเนินการ มีเจตนาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นำผลประโยชน์ไปแบ่งปันกัน พยานหลักฐานรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2-19 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องอันเป็นความผิดกรรมเดียว

ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2-19 กระทำผิดตาม ป.อาญา ม.341 ฐานร่วมกันฉ้อโกง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17 ,18 และ19 เป็นเวลาคนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2, 4, 6, 8, 10, 12 และ 16 ปรับรายละ 6,000 บาท ต่อมาญาติจำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17 และ 18 ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงิน คนละ 1 ล้านบาท ขอประกันตัว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยตีราคาประกันคนละ 1 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกค่าเสียหายจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการ ที่มีนายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ เป็นประธาน ได้พิจารณาตัดสินข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2554 ที่ผ่านมา โดยข้อพิพาทนี้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ กล่าวอ้างว่ากรมควบคุมมลพิษ ในฐานะคู่สัญญาได้ปฏิบัติผิดสัญญา 9 ข้อ

คำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการฯ ชี้ขาดให้ กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้อง เป็นเงิน 4,983,342,383 บาท 31,035,780 เหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ผู้เรียกร้อง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 4,424,099,982 บาท และของเงิน 26,434,636 เหรียญสหรัฐฯ นับแต่วันที่ 28 ก.พ. 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนหนังสือค้ำประกันพร้อมค่าธรรมเนียมและจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้เรียกร้อง เป็นเงิน 6 ล้านบาท จนกว่าจะคืนหนังสือค้ำประกันให้ผู้เรียกร้อง
 
ข้อเรียกร้องนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกข้อเรียกร้องแย้ง คดีนี้กระทรวงการคลัง เห็นพ้องกับกรมควบคุมมลพิษไม่รับคำตัดสินดังกล่าว และจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสัญญาโครงการเป็นโมฆะและไม่ได้มีสัญญาเกิดขึ้น

การทุจริตในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโครงการและเพิ่มงบประมาณจาก 13,000 ล้านบาท เป็น 23,000 ล้านบาท โดยการย้ายจุดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจากฝั่งตะวันออก และตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.บางปู และอ.พระสมุทรเจดีย์ ไปรวมอยู่จุดเดียวที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ บนเนื้อที่ 1,903 ไร่ เพื่อหวังขายที่ดินที่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของอยู่เบื้องหลัง โดยมูลค่าซื้อขายที่ดินตกประมาณ 1,956 ล้านบาท สูงกว่าราคาประเมินเท่าตัว และซื้อแปลงใหญ่เกินใช้สอยถึง 3 เท่า อีกทั้งต้องการเพิ่มงบก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียทั่วจังหวัด ซึ่งมีบริษัทเอกชนเครือญาตินายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นผู้ชนะประมูลงานก่อสร้าง โดยงบก่อสร้างมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของมูลค่าโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น