xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-10 ธ.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“กี้ร์-อริสมันต์” เข้ามอบตัวแล้ว ยอมรับกบดานเขมร ด้านศาลไม่ให้ประกัน ชี้ ต้องคดีร้ายแรง-โทษหนัก!
นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช.และผู้ต้องหาหลายคดี เข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา(7 ธ.ค.)
หลังมีข่าวว่าหลบหนีไปอยู่ประเทศกัมพูชาตั้งแต่หลังเหตุการณ์คนเสื้อแดงเผาเมืองเมื่อเดือน พ.ค.2553 ในที่สุดเมื่อการเมืองเปลี่ยน พรรคเพื่อไทยที่คนเสื้อแดงสนับสนุนได้เป็นรัฐบาล ล่าสุด นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ก็ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเดินทางมาพร้อมกับนางระพีพรรณ พงศ์เรืองรอง ภรรยา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และทนายความ ซึ่งนอกจากข้อหาคดีก่อการร้ายแล้ว ยังมีคดีบุกรุกอาคารรัฐสภา และคดีปราศรัยยุยงปลุกปั่นด้วยรวม 3 ข้อหา อย่างไรก็ตาม นายอริสมันต์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมขอให้การในชั้นศาล ขณะที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ จำเลยในคดีเดียวกัน ได้นำมวลชนกลุ่มเสื้อแดงประมาณ 50 คนมามอบกุหลาบและชูป้ายให้กำลังใจนายอริสมันต์

ทั้งนี้ นายอริสมันต์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วยว่า ตนหลบหนีไปอยู่ประเทศกัมพูชาและประเทศอื่นๆโดยไปทำไร่อ้อย ส่วนเหตุผลที่ตัดสินใจเข้ามอบตัวนั้น เพื่อต่อสู้คดีตามขั้นตอน เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ดีขึ้นแล้ว และตนมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งความปลอดภัย นายอริสมันต์ ยังบอกด้วยว่า ตนจะยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดที่ตนได้รับนั้น รุนแรงเกินไปหรือไม่ พร้อมย้ำว่า สิ่งที่ตนทำที่ผ่านมาแค่ต้องการประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ได้ต้องการล้มล้างอะไรทั้งสิ้น นายอริสมันต์ ยังอ้างด้วยว่า เหตุที่ต้องหลบหนีก่อนหน้านี้ เพราะมีการไล่ล่าจับกุมตน มีความพยายามที่จะอุ้ม ซุ่มทำร้าย และบุกเข้าจับที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ซึ่งเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินไป ผู้ใหญ่หลายคนเป็นห่วง จึงขอให้ตนหลบเลี่ยงการจับกุม

หลังแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษของดีเอสไอ ได้นำตัวนายอริสมันต์ส่งให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีร่วมกันก่อการร้าย โดยมีคนเสื้อแดงประมาณ 100 คนเดินทางไปให้กำลังใจ จากนั้นอัยการได้นำตัวนายอริสมันต์ไปรายงานตัวต่อศาลอาญา ซึ่งนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ บอกว่า อัยการจะไม่ค้านการประกันตัว เพราะนายอริสมันต์เดินทางเข้ามอบตัวเอง จึงขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่

ด้านศาลพิเคราะห์คำร้องขอปล่อยตัวของนายอริสมันต์ จำเลยคดีก่อการร้ายแล้วเห็นว่า คดีนี้มีข้อหาร้ายแรง และอัตราโทษสูง ประกอบกับหลังเกิดเหตุจำเลยหนีตลอดมา แม้จำเลยจะเข้ามอบตัวต่อพนักงานก็เป็นเวลานานหลังเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลที่ศาลออกหมายจับในคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่น ในชั้นนี้จึงไม่มีเหตุเพียงพอให้ศาลเชื่อได้ว่า หากอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจะไม่หลบหนีอีก จึงให้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้านนายวาสุเทพ ศรีโสดา ทนายความของนายอริสมันต์ บอกว่า หลังจากนี้จะปรึกษากับทีมทนายความเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยจะเพิ่มหลักทรัพย์ที่จะใช้ยื่นประกันจากเงินสด 1.2 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายอริสมันต์ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่คนเสื้อแดงต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ บางคนถึงกับร้องไห้เสียใจที่นายอริสมันต์ต้องนอนคุก ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พูดถึงกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวนายอริสมันต์ว่า ขณะนี้บ้านเมืองกำลังเดินหน้าเข้าสู่การปรองดอง เมื่อเป็นอย่างนี้ไม่รู้จะเดินหน้าต่อได้หรือไม่ “แน่นอนว่าเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจโกรธเคืองให้กับผู้ที่สนับสนุนนายอริสมันต์ แต่ถึงขั้นบานปลายนำไปสู่ความรุนแรงคงไม่มี แต่จะทำให้ความพยายามที่จะสร้างความปรองดองยากขึ้น แต่เราจะไม่มีการกดดันศาล ก็อยากฝากไปถึงคนเสื้อแดงให้ใช้ความอดทน อดกลั้น เชื่อว่านายอริสมันต์น่าจะได้รับการประกันตัว”

ด้านนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เผยหลังศาลไม่ให้ประกันตัวนายอริสมันต์ว่า ได้มอบหมายให้ทนายความทำหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา เพื่อให้อายัดตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดสงขลาตามที่มีการออกหมายจับในคดีหมิ่นประมาทตนเมื่อปี 2553 โดยใส่ร้ายว่าตนเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ซึ่ง กกต.ได้มีมติยกคำร้องไปแล้ว

ขณะที่นายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช. ได้เดินทางเข้าเยี่ยมนายอริสมันต์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. จากนั้นได้เผยถึงการต่อสู้คดีว่า คาดว่าสัปดาห์หน้าจะยื่นประกันตัวชั่วคราวใหม่ โดยเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็น 2 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มตำแหน่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยของนางระพีพรรณ ภรรยานายอริสมันต์ เพื่อสร้างความมั่นใจ นายคารม ยังบอกด้วยว่า นายอริสมันต์มั่นใจว่าจะได้รับการประกันตัว เพราะที่ผ่านมาจำเลยคนอื่นในคดีเดียวกันก็ได้รับการประกันตัวทั้งหมด และว่า ขณะนี้นายอริสมันต์มีคดีทั้งหมด 12 คดี

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายอริสมันต์ต้องนอนคุกเพราะศาลไม่ให้ประกันตัว ปรากฏว่า ทางแกนนำคนเสื้อแดงก็เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการย้ายนักโทษคดีการเมือง รวมทั้งนายอริสมันต์ไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ซึ่งอยู่ในบริเวณสโมสรตำรวจและกองบังคับการตำรวจสันติบาล ชื่อเดิมคือโรงเรียนพลตำรวจบางเขน ซึ่งในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ควบคุมนักโทษคดีการเมืองมาตั้งแต่ปี 2506 ต่อมาปี 2553 ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของกองบังคับการตำรวจสันติบาล แต่ทางสันติบาลไม่ได้เข้ามาใช้ กรมราชทัณฑ์จึงได้ขอพื้นที่คืน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อใช้ควบคุมนักโทษคดีความมั่นคง คดีการเมือง และนักโทษต่างชาติ เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ทั้งนี้ นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช. เปิดแถลงหลังศาลไม่อนุญาตให้นายอริสมันต์ประกันตัวว่า ตนได้รับคำยืนยันจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. ผู้ถูกคุมขังคดีการเมือง 32 คน เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข (บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และ แนวร่วม นปช. ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน) ,นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (หรือแซ่ด่าน) แกนนำกลุ่มแดงสยาม (ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน) และนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง (ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน) จะถูกย้ายไปอยู่ที่คุมขังแห่งใหม่ หลังสโมสรตำรวจ

นางธิดา ยังบอกด้วยว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย น้ำแห้งแล้ว แต่กิจกรรมการเมืองเพิ่งจะเริ่มต้น โดยภาระหน้าที่ที่คนเสื้อแดงต้องเดินหน้าให้บรรลุผลให้ได้คือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยึดรัฐธรรมนูญ 2540 ร่าง คปพร.(ของ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.) และข้อเสนอของคณาจารย์นิติราษฎร์ เป็นต้นแบบ รวมทั้งกฎหมายอื่นที่มีปัญหาก็ต้องทำใหม่ เช่น มาตรา 112 (ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบัน) ,พ.ร.บ.กลาโหม เป็นต้น

ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่า จะมีการย้ายกลุ่มนักโทษคดีการเมืองกว่า 100 คน รวมทั้งนายอริสมันต์ไปอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ หลังปรับปรุงแล้วเสร็จในวันที่ 20 ธ.ค. พร้อมชี้แจงว่า การย้ายนักโทษดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) และมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นควรให้แยกนักโทษคดีการเมืองออกจากคดีอาชญากรรมทั่วไป

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า กำลังตรวจสอบว่าการจะย้ายนายอริสมันต์และผู้ต้องหาเสื้อแดงคนอื่นๆ ไปไว้ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ โดยอ้างว่าเป็นคดีการเมืองนั้นเป็นมติของใคร เพราะความผิดประเภทการก่อการร้าย การทำร้ายผู้อื่น การใช้อาวุธสงคราม การวางเพลิง ล้วนเป็นความผิดทางอาญาทั่วไป จึงไม่คิดว่าเป็นเหตุเป็นผลพอที่จะบอกว่านี่คือความผิดทางการเมือง อยากให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ทบทวนเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นต่อไปจะเป็นปัญหามากขึ้น ถ้าไม่ทบทวน ต่อไปจะเป็น 2 มาตรฐาน

2.ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ แจ้งข้อหา “วัฒนา” ทุจริตคลองด่าน ด้าน “ยิ่งพันธ์” โดนด้วย แต่ตายก่อนจึงจบ ขณะที่ “สุวัจน์” รอด!
นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย(ซ้าย) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (ขวา)
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณาผลการไต่สวนคดีทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งคณะอนุกรรมการที่มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานไต่สวนแล้วเสร็จเสนอให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา หลังประชุม นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แถลงว่า คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 36 คน ประกอบด้วย กลุ่มนักการเมือง 3 คน คือ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ,กลุ่มข้าราชการ 14 คน ,กลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)คลองด่าน 3 คนและกลุ่มเอกชน 16 คน

ทั้งนี้ นายกล้านรงค์ เผยว่า คณะอนุกรรมได้ไต่สวนพยานจำนวน 114 ปาก รวบรวมพยานเอกสารและหลักฐานได้ 17,985 แผ่น หลังที่ประชุมพิจารณาสำนวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการอย่างละเอียดแล้ว จึงได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายวัฒนา แม้คณะอนุกรรมการจะไม่พบพยานหลักฐานว่านายวัฒนามีส่วนร่วมกับการกระทำผิด แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยพิพากษาว่า ระหว่างปี 2531-2536 นายวัฒนาได้รวบรวมที่ดินใน ต.คลองด่าน ผ่านบริษัทที่ตนเองเคยถือหุ้น นอกจากนี้ยังพบว่านายวัฒนาได้สั่งการให้สมาชิก อบต.คลองด่าน ใช้พื้นที่ของตนเป็นที่ตั้งโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์เห็นควรให้แจ้งข้อกล่าวหานายวัฒนา และให้เวลานายวัฒนาแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน โดยสามารถส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรได้ หากไม่ชี้แจง จะถือว่านายวัฒนาไม่ติดใจ ป.ป.ช.จะดำเนินการไต่สวนในขั้นตอนต่อไป

ส่วนกรณีนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ นั้น ผลการไต่สวนพบว่านายยิ่งพันธ์มีการร่วมมือกับข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ 4 คน นำโดยนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการจากเดิมที่แบ่งเป็น 2 ฝั่ง เหลือฝั่งตะวันออกเพียงแห่งเดียว พร้อมเพิ่มพื้นที่ 1,550 ไร่ เป็น 1,900 ไร่ ทำให้เหลือกิจการร่วมค้า NVPSKG เพียงรายเดียวที่ยื่นประกวดราคาโครงการนี้ นอกจากนี้นายยิ่งพันธ์ยังขอเพิ่มวงเงินงบประมาณจาก 12,866 ล้านบาท เป็น 22,955 ล้านบาท โดยเสนอที่ประชุม ครม.เป็นเพียงวาระเพื่อทราบ ทำให้เกิดความเสียหาย 17,045 ล้านบาท ที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์ให้นายยิ่งพันธ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 แต่เนื่องจากนายยิ่งพันธ์เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2546 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ป.ป.ช.จึงมีมติให้จำหน่ายออกจากสารบบ

สำหรับนายสุวัจน์นั้น ป.ป.ช.พบว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการริเริ่มโครงการ โดยโครงการริเริ่มในสมัยนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อบริษัทที่ศึกษาผลกระทบเสนอรายงานมาให้นายสุวัจน์ นายสุวัจน์ก็เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา โดยกำหนดพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่ ต.บางปูใหม่ และฝั่งตะวันตกที่ ต.บางปลากด ไม่รวมถึง ต.คลองด่าน นอกจากนี้เมื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2538 ปรากฎว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพราะได้มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ส่วนประเด็นที่ว่า นายสุวัจน์ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทประยูรวิศว์การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัวนายสุวัจน์หรือไม่นั้น ป.ป.ช.พบข้อเท็จจริงว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นบริษัทหลักในกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG และไม่พบว่านายสุวัจน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการประกวดราคาแต่อย่างใด ที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์ให้ข้อกล่าวหานายสุวัจน์ตกไป

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นข้าราชการ เช่น นายปกิต ,นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ,นางนิศากร โฆษิตรัตน์ และนางยุวรี อินนา ข้าราชการกรมควบคุมมลพิษนั้น ป.ป.ช.ให้มีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง รวมทั้งมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 ส่วนข้าราชการรายอื่น ยกเว้นสมาชิก อบต.คลองด่าน 3 คน ให้มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ทั้งนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัยและให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งฟ้องศาลต่อไป ยกเว้นนายปกิตที่พ้นจากตำแหน่งก่อนที่จะมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ(ป.ป.ป.) ป.ป.ช.จึงไม่สามารถส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัยได้ สำหรับสมาชิก อบต.คลองด่าน 3 คน ป.ป.ช.ให้นำไปรวมพิจารณาในสำนวนของนายวัฒนา ส่วนกลุ่มเอกชนทั้ง 16 ราย ป.ป.ช.เห็นว่า ข้อเท็จจริงยังไม่พอที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงาน จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

อนึ่ง นายวัฒนา อัศวเหม อยู่ระหว่างหลบหนี หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ 8 : 1 เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2551 สั่งจำคุกนายวัฒนาเป็นเวลา 10 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขู่ หรือชักจูงให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์และที่เทขยะมูลฝอย แล้วนำไปขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

3.“อภิสิทธิ์-สุเทพ” ให้ปากคำ ตร.คดีสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ชี้ 16 ศพฝีมือชายชุดดำ!
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าให้ปากคำพนักงานสอบสวนที่ บช.น.คดี 16 ศพจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.- พ.ค.53(9 ธ.ค.)
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง และคณะทนายความ ได้เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อเข้าพบ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีชันสูตร 16 ศพ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 เพื่อให้ปากคำในฐานะพยาน โดยการเข้าให้ปากคำครั้งนี้ มีขึ้นหลังเจ้าหน้าที่มีหนังสือเชิญนายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าให้ปากคำ โดยนายอภิสิทธิ์ แจ้งว่าจะเข้าให้ปากคำในวันที่ 9 ธ.ค.

ทั้งนี้ หลังการสอบปากคำนานเกือบ 4 ชั่วโมงแล้วเสร็จ นายสุเทพ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ให้ปากคำเกี่ยวกับการขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อรองรับการจราจรผ่านสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ซึ่งมีคนไปอ้างว่าการปฏิบัติการดังกล่าวตามคำสั่งของตนนั้นเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จึงให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า ตนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พ.ศ.2548 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 และจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ขึ้น และมอบหมายให้ตนเป็นผู้อำนวยการ กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ “การสั่งการในวันที่ 10 เม.ย.2553 ผมสั่งการแต่ผู้เดียว ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผมสั่งการตามหน้าที่และตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่รับคำสั่งจากผมก็ได้ปฏิบัติงานอยู่ในกรอบคำสั่งที่ชอบทุกประการ ได้ติดตามกำกับตลอดเวลา ไม่ได้เกินกว่ากรอบที่กำหนดแต่อย่างใด”

นายสุเทพ บอกด้วยว่า ได้นำภาพนิ่งเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ ซึ่งเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนมาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย แต่ตำรวจถามว่ามีภาพวีดิโอหรือไม่ ซึ่งตนจะพยายามหามา ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้นัดสอบปากคำนายสุเทพอีกครั้งในวันที่ 14 ธ.ค. เวลา 14.00น. เพื่อสอบเหตุการณ์วันที่ 13 เม.ย. และ 14-16-19 พ.ค.2553

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. โดยเดินทางมากับนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ,นายศิริโชค โสภา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และคณะทนายความ ทั้งนี้ หลังใช้เวลาสอบปากคำนานประมาณ 3 ชั่วโมง นายอภิสิทธิ์ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ส่วนใหญ่ได้อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของตนในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการเซ็นคำสั่งตั้ง ศอฉ. ที่มีนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งตนมีหน้าที่ดูแลในเชิงนโยบาย ส่วนคำสั่งในเชิงปฏิบัติการเป็นคำสั่งที่ทำโดย ศอฉ. นายอภิสิทธิ์ ยังบอกด้วยว่า ตนได้ให้ข้อมูลเอกสารหลักฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 10 เม.ย.2553 ว่าเป็นอย่างไร ในเรื่องของการขอคืนพื้นที่จราจร ซึ่งเจ้าหน้าที่หยุดเคลื่อนไหวในช่วงก่อนมืด พยายามจะออกมา แต่ถูกโอบล้อมและมีการใช้อาวุธสงครามยิงเข้ามา ทำให้เกิดเหตุชุลมุนและมีภาพของชายชุดดำปรากฎตัวอยู่บริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ

ด้าน พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีชันสูตร 16 ศพ เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 พูดถึงผลการสอบปากคำนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพว่า ภาพรวมในคดีถือว่าเรียบร้อยดี เป็นการให้รายละเอียดบางเรื่อง ทำให้รูปคดีชัดเจนยิ่งขึ้น และว่า ในชั้นนี้ไม่มีการเรียกสอบปากคำนายอภิสิทธิ์เพิ่มเติม ส่วนที่ต้องนัดสอบปากคำนายสุเทพเพิ่มเติมในวันที่ 14 ธ.ค. เนื่องจากนายสุเทพไม่ได้เตรียมเอกสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันอื่นๆ นอกเหนือจากวันที่ 10 เม.ย.2553 มา จึงขอมาให้ปากคำเพิ่มเติมในภายหลัง

4.ป.ป.ช. ไฟเขียวอนุ กก.ไต่สวนเรียก “สุพจน์” แจงทรัพย์สินวันถูกปล้นใน 30 วัน ด้านเจ้าตัวให้การ ตร.ย้ำคำเดิม ถูกปล้นแค่ 5 ล้าน!
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
ความคืบหน้าคดีปล้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคนร้ายได้เงินสดไปจำนวนมาก แต่ตัวเลขยังสับสน เนื่องจากนายสุพจน์อ้างว่าถูกปล้นไป 5 ล้านบาท แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนร้ายได้แล้ว 8 ราย พร้อมของกลางเงินสด 18 ล้านบาทเศษ ขณะที่คนร้ายบางคนที่ถูกจับได้ บอกว่า ยังมีกระเป๋าบรรจุเงินในบ้านนายสุพจน์อีกนับพันล้านบาทนั้น ปรากฏว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่า พนักงานสอบสวนได้นัดสอบปากคำนายสุพจน์ ในฐานะผู้เสียหายในวันที่ 7 ธ.ค. เพื่อสอบถามว่าทรัพย์ที่ถูกปล้นไปจำนวนเท่าใด เพราะครั้งแรกให้การว่า 5 ล้าน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามคืนมาได้ 18 ล้านบาทแล้ว ส่วนทรัพย์สินที่นายสุพจน์ได้มาจะถูกต้องหรือไม่นั้น พล.ต.ท.วินัย บอกว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสุพจน์ได้เลื่อนการเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนจากวันที่ 7 ธ.ค. เป็นวันที่ 8 ธ.ค. โดยอ้างว่าติดภารกิจ ไม่สามารถเดินทางมาได้ ด้าน พล.ต.ท.วินัย ทองสอง เผยว่า นายสุพจน์นัดหมายให้ตำรวจไปสอบปากคำที่บ้านพักของนายสุพจน์ เลขที่ 77 ซอยลาดพร้าว 64 แยก 2 แขวงและเขตวังทองหลาง กทม.วันที่ 8 ธ.ค.เวลา 16.00น.-17.00 น. ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนด ผู้สื่อข่าวต่างไปรอทำข่าวที่หน้าบ้านพักนายสุพจน์ แต่กลับได้รับแจ้งจากคนในบ้านว่า นายสุพจน์เปลี่ยนสถานที่ให้ปากคำแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเป็นที่ไหน

กระทั่งวันต่อมา(9 ธ.ค.) พ.ต.อ.ธวัช วงศ์สง่า ผู้กำกับการ สน.วังทองหลาง ได้ออกมาเผยว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำนายสุพจน์แล้วเมื่อคืนวันที่ 8 ธ.ค.ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ หลังนายสุพจน์โทรศัพท์มาขอเลื่อนพบจากที่บ้านพักมาเป็นที่โรงแรมดังกล่าว โดยนายสุพจน์ให้การยืนยันว่าเงินที่ถูกปล้นไปมีเพียงแค่ 5 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากงานแต่งลูกสาว แต่จากการสอบปากคำกลุ่มคนร้ายทั้งหมดยืนยันตรงกันว่าเงินที่ปล้นไปมีจำนวนมากกว่านั้น เมื่อจำนวนเงินยังมีความขัดแย้งกัน เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจสอบว่าเงินส่วนต่าง 13 ล้านบาทมาจากไหนและมีที่มาที่ไปอย่างไร “ขณะนี้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร หากพบว่าจำนวนเงินไม่ถูกต้อง จะเรียกนายสุพจน์มาสอบปากคำอีกครั้ง แต่คงไม่ต้องไปสอบปากคำกลุ่มผู้ต้องหาอีกครั้ง เพราะกลุ่มผู้ต้องหายืนยันว่าเงินที่ได้มามีมากกว่า 5 ล้านบาทแน่นอน และจากแนวทางการสอบสวนเชื่อว่าที่ผู้ต้องหาพูดเป็นเรื่องจริง และไม่ปักใจเชื่อคำให้การของนายสุพจน์ทั้งหมด”

ด้าน พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ธวัช นำพนักงานสอบสวนไปสอบปากคำคนรับใช้ที่บ้านนายสุพจน์ เพื่อหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินที่โดนปล้นหรือเงินที่ได้เก็บไว้ในบ้าน อย่างไรก็ตาม หลังพนักงานสอบสวนเชิญนางสมบัติ รักสุข และนางจันทรา สังข์เกิด แม่บ้านของนายสุพจน์มาสอบปากคำเพิ่มเติมแล้ว ทั้งสองให้การว่า ไม่ทราบว่าทรัพย์สินในบ้านหายไปเท่าใด และไม่สามารถจำใบหน้าคนร้ายได้ เนื่องจากคนร้ายสวมหมวกไอ้โม่งไหมพรม จำได้แค่ว่ามีชาย 6-7 คนใส่ชุดดำสวมหมวกไหมพรมสีดำเท่านั้น

ส่วนความคืบหน้าการติดตามตัวคนร้ายที่เหลืออีก 3 คนที่ยังคงหลบหนีอยู่ ประกอบด้วย นายวีระศักดิ์ หรือโก้ เชื่อลี หัวหน้าแก๊งปล้น ,นายพงษ์ศักดิ์ หรือเจี๊ยบ นามวงศ์ และนายคำนวณ หรือนวน เมฆน้อย นั้น พล.ต.ท.วินัย ยืนยันว่า “นายวีระศักดิ์ เชื่อลี หรือโก้ หัวหน้าทีมปล้น ยังอยู่ในลาว โดยชุดสืบสวนของ บช.น.และ บช.ภ.4 ได้ประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลาวใกล้ชิด มีเบาะแสบ้าง แต่ไม่ขอพูด”

สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบที่มาที่ไปของทรัพย์สินนายสุพจน์นั้น เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนายสุพจน์ กรณีปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ร่ำรวยผิดปกติ และทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หลังประชุม นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.แถลงว่า คณะอนุกรรมการรายงานผลการไต่สวนให้ที่ประชุมทราบ 2 ประเด็น คือ 1.ผลการตรวจสอบค้นบ้านนายสุพจน์ที่พบหลักฐาน 10 กว่ารายการ โดยเฉพาะบัญชีการฝากเงินกว่า 20 ล้านบาท และ 2.ขอให้ที่ประชุมอนุมัติให้นายสุพจน์มายื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินในวันที่ถูกปล้นหรือวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อขอทราบว่าในช่วงดังกล่าวนายสุพจน์มีทรัพย์สินอยู่เท่าใด เพื่อเปรียบเทียบกับบัญชีทรัพย์สินที่นายสุพจน์ได้ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช.รวม 16 ครั้ง โดยล่าสุด มีการยื่นเมื่อวันที่ 12 พ.ย.เช่นกัน ในโอกาสที่นายสุพจน์เข้ารับตำแหน่งคณะกรรมการบริหารบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.ได้อนุมัติตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนร้องขอแล้ว โดยให้นายสุพจน์ชี้แจงทรัพย์สินภายในวัน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. ซึ่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้นำหนังสือไปให้ที่บ้านพักนายสุพจน์แล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายสุพจน์จะชี้แจงด้วยตัวเองหรือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ หากพบว่ามีทรัพย์สินที่นายสุพจน์ไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. นายสุพจน์จะเข้าข่ายแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จอีก 1 คดี

ส่วนการตรวจสอบของกลางเงินสด 18.1 ล้านบาทที่ตำรวจยึดได้จากคนร้ายที่ปล้นบ้านนายสุพจน์ และ ป.ป.ช.มีมติอายัดและฝากไว้ที่ สน.วังทองหลางนั้น นายกล้านรงค์ บอกว่า จากการตรวจสอบสายคาดธนบัตร พบว่า สายคาดธนบัตรทั้ง 89 แหนบ รวมเป็นเงินกว่า 8 ล้านบาท มีที่มาจาก 9 ธนาคาร ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนจะตรวจสอบไปยังธนาคารเหล่านั้นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีการเบิกถอนอย่างไร หากพบว่ามีการโยงใยไปถึงใคร ก็ต้องเรียกมาสอบปากคำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือนักการเมือง ส่วนเงินอีกกว่า 10 ล้านบาทที่ไม่มีสายคาดธนบัตร ป.ป.ช.จะใช้วิธีอื่นในการตรวจสอบที่มาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น