xs
xsm
sm
md
lg

ฟันซ้ำ “วัฒนา อัศวเหม” ทุจริตคลองด่าน “สุวัจน์” รอด ชี้ไม่มีหลักฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัฒนา อัศวเหม
ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ ฟัน “วัฒนา อัศวเหม” ทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จี้ ทำหนังสือชี้แจงภายใน 15 วัน ก่อนส่งสำนวนให้อัยกายต่อ ด้าน “สุวัจน์” รอดบ่วง ชี้ แม้จะเป็นผู้ริเริ่มผลักดันโครงการ แต่ไม่ได้มีส่วนต่อการกำหนดพื้นที่ พร้อมเอาผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้องเพิ่ม

วันนี้ (8 ธ.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น.นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช.แถลงมติผลการประชุมคดีทุจริตการก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ กรณี นายวัฒนา อัศวเหม ในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ถูกล่าวหาที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ บีบบังคับขู่เข็ญเจ้าหน้าที่ อบต.คลองด่าน ให้ร่วมประชุมเพื่อมีมติเห็นชอบใช้พื้นที่คลองด่าน เพื่อทำเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157 ทั้งนี้ นายวัฒนา ซึ่งเป็นผู้ถูกกกล่าวหา ได้หลบหนีตามหมายจับตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่หมายเลข อม.2/2552 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ให้นายวัฒนาได้รับทราบ ทั้งนี้ นายวัฒนา จะต้องส่งหนังสือชี้แจงกลับภายใน 15 วัน หากไม่มีการชี้แจงกลับ จะต้องส่งสำนวนให้อัยการโดยไม่มีคำชี้แจงประกอบ

ขณะที่ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 สมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้มีการเสนอขอออกแบบโครงการรวบรวมและบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ เพื่อขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อมาวันที่ 17 ต.ค.พ.ศ.2538 ครม.เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของกระทรวงวิทย์ ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม 2 แห่ง คือ ที่ ต.บางปูใหม่ เนื้อที่ประมาณ 1,550 ไร่ และที่ ต.คลองบางปลากด เนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ รวมวงเงินก่อสร้างทั้งสิ้น 13,216 ล้านบาท แต่ได้มีการสอดแทรกพื้นที่ อ.คลองด่าน เข้ามาภายหลัง รวมเป็นเนื้อที่ 1,900 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด โดยมี นายวัฒนา เป็นผู้ถือหุ้นอยู่

นอกจากนี้ ยังได้มีการขอปรับงบเพิ่มจากเดิมเป็น 2.2 หมื่นล้านบาท โดยมีผลผูกพันข้ามปีงบประมาณ (2540-2545 ) ดังนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 ต.ค.38 และวันที่ 5 ก.ค.26 ฝ่าฝืนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 10 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2534 ข้อ 7 เป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานที่ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการเสียหายต่อรัฐ และยังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 151 และมาตรา 157 แต่นายยิ่งพันธ์ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.46 ป.ป.ช.จึงมีมติจำหน่ายเรื่องดังกล่าว

ส่วนกรณี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2537 ถึงวันที่ 13 ก.ค.2538 ได้ใช้อำนาจหน้าที่สมัยรับตำแหน่งดังกล่าว ริเริ่มผลักดันโครงการ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการกำหนดใช้พื้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะเป็นการดำเนินการในสมัย นายพิศาล มูลศาสตรสาทร สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.วิทย์ ก่อนนายสุวัจน์มาดำรงตำแหน่ง

ส่วนการพิจารณาโครงการจาก 2 ฝั่ง มาเป็นฝั่งเดียว และกำหนดให้ใช้ที่ดิน ต.คลองด่าน เป็นที่ดำเนินการจนนำไปสู่การจัดซื้อที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนค์ ฟิชเชอรี่ จำกัด รวมทั้งการขอเพิ่มวงเงินจาก 1.3 หมื่นล้านบาท เป็น 2.3 หมื่นล้านบาท และการสั่งจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ก็อยู่ในการดำเนินการของนายยิ่งพันธ์ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ กรณีที่มีข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว จำนวน 14 คน ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษตามวินัย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ทั้งนี้ ยกเว้นเพียง 4 ราย ประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นางนิศากร โฆษิตรัตน์ ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ และ นางยุวรี อินนา นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 และ ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ

โดยให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97
สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
กำลังโหลดความคิดเห็น