กระทรวงวิทย์ฯ โชว์คอมฯ สมรรถนะสูง สร้างระบบเตือนภัยธรรมชาติล่วงหน้า เผยพยากรณ์จากแผนที่ลม คาดการณ์ก่อน 3 วัน ครอบคลุมพื้นที่ระดับตำบล เดิมประมวลผลในระดับจังหวัดต้องใช้เวลาวิเคราะห์นาน แจงจากแบบจำลองคาดวันที่ 30 มี.ค. 54 ฝนจะเคลื่อนไปสงขลา
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และนายชวรัตน์ ชาญวีระกุล รมว.มหาดไทย (มท.) เข้าตรวจเยี่ยม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ ชั้น 14 ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กทม. เพื่อดูระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง สำหรับวิเคราะห์และประมวลผลแบบจำลองลมและแบบจำลองสภาพอากาศ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.54 ที่ผ่านมา โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมงานนี้ด้วย
ดร.วีระชัย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้ สสนก. เร่งดำเนินการพัฒนาระบบประมวลผลสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยแนวทางการวิเคราะห์และประมวลผลแบบจำลองลมและแบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่เกี่ยวกับอุณหภูมิ ทิศทางลม และคลื่นลมในทะเล ตามแนวพระราชดำริ โดยได้ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computer) จำนวน 2 ชุด ใช้งบประมาณ 17 ล้าน ตั้งแต่เดือน ก.พ. 54
“ระบบคอมฯดังกล่าวจะทำให้ สสนก. สามารถวิเคราะห์และประมวลผลแบบจำลองลม ด้วยแบบจำลองอุตุนิยมวิทยา 3 มิติ และแบบจำลองสภาพอากาศ โดยสามารถนำผลจากแบบจำลองทั้งสองแบบมาจำทำแผนที่ลม และสภาพอากาศ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศไทย สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ 3 วัน ประมวลผลได้วันละ 2 รอบ รวมทั้งสามารถคาดการณ์สภาพอากาศได้ในระดับ 3 x 3 ตารางกิโลเมตรหรือควบคุมพื้นที่ขนาดเล็กระดับตำบล ซึ่งเดิมสามารถประมวลผลได้ในระดับจังหวัด และต้องใช้เวลาในการประมวลผล ไม่ต่ำกว่า 2 วัน” รมว.วท.อธิบาย
ทั้งนี้ สสนก.จะใช้ข้อมูลลมส่วนหนึ่ง จากสถานีโทรมาตรมาตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติของ สสนก. ที่ติดตั้งไว้แล้วทั่วประเทศ 469 สถานี ในการวิเคราะห์อีกด้วย
รมว.วท อธิบายว่า ทาง สสนก. จะส่งข้อมูลสภาพอากาศไปยังกรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อนำไปใช้ในการแจ้งเตือนกับพี่น้องประชาชน และวางแผนล่วงหน้าในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินถล่ม ใน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ลำปาง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และในพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นๆ อาทิ กรณีของอุทกภัยทางภาคใต้ในขณะนี้
ทั้งนี้ สสนก.ได้มีการแจ้งเตือนภัยทั้งโดยวาจาและโดยการส่งข้อความสั้นไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เตรียมรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ดี จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในภาคใต้ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมพบว่า ยังจะมีฝนตกหนักในเกือบทุกพื้นที่ไปจนถึงวันที่ 30 มี.ค. 54
ดร.วีระชัย บอกด้วยว่า จากแบบจำลองคาดการณ์ว่า ตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป จะเกิดฝนตกหนักที่นครศรีธรรมราช จากนั้น วันที่ 29 มี.ค. ฝนจะเคลื่อนตัวไปที่จังหวัดพัทลุง ด้วยความเร็วลม 8-12 เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นความเร็วปานกลาง จากนั้นวันที่ 30 มี.ค.ฝนจะเคลื่อนตัวไปที่สงขลา และหลังจากนั้นปริมาณฝนจะลดน้อยลง
ทั้งนี้ ปริมาณฝนปีนี้ ถือว่ามากกว่าหรือเท่ากับปีที่ประเทศไทยมีน้ำมาก ในปี 2551 เนื่องจากประเทศไทยจะยังคงได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญา ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2554
นายชวรัตน์ กล่าวว่าขณะนี้ ประเทศไทยประสบภัยอยู่ 3 รูปแบบคือ 1.ภัยแล้ง 2.ภัยล้น และ 3.ภัยหนาว ในฐานะเจ้ากระทรวงอยากให้ภัยแล้งและภัยล้น ลบออกจากประเทศไทย ซึ่งหากขจัดภัยทั้งสองได้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ข้อมูล ก็ได้มีการแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส พร้อมด้วย ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ เขต12 สงขลา และเขต 17 จันทบุรี จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเฝ้าระวังคลื่นสึนามิ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด24 ชั่วโมง
ดร.รอยัล จิตรดอน ผอ.สสนก. บอกด้วยว่า ข้อมูลปริมาณฝนและลม จะนำเผยแพร่อผ่านเว็บไซต์ http://dpm.haii.or.th อีกทั้ง อยากให้สื่อมวลชนเข้ามาติดตาม เพื่อให้เกิดความร่วมมือการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โดยนำข้อมูลไปรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมกับภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที