xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์-ก.พลังงานจับมือดันพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล และ (ขวา) นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนา พลังงานทดแทน
ก.วิทย์-ก.พลังงาน จับมือดันพลังงานทดแทนสอดคล้องแผนแม่บทพลังงาน 15 ปี ที่ต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 20% ภายในปี 2565 จากเดิมที่ใช้แค่ 7% โดยหน่วยงานกระทรวงวิทย์พร้อมหนุนเทคโนโลยีลดใช้พลังงาน พัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่ และส่งเสริมพลังงานแห่งอนาคต

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทน เมื่อวันที่ 13 ม.ค.54 ณ กระทรวงพลังงาน โดยการลงนามครั้งนี้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานแห่งชาติ 15 ปี (2551-2565)

นพ.วรรณรัตน์ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ปัจจุบันไทยใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วน 7.75% ซึ่งตามแผนแม่บทพลังงานนั้นจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแทนขึ้นไปเป็น 20% ในปี พ.ศ.2565 คิดเป็นมูลค่า 4.76 หมื่นล้านบาท และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.2 ล้านตัน

ด้าน ดร.วีระชัย กล่าวถึงการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีว่าจะเน้น 3 เรื่อง คือ งานวิจัยและพัฒนาด้านการลดใช้น้ำมัน โดยการสนับสนุนไบโอดีเซลและเอธานอล ด้วยงานวิจัยเพิ่มผลผลิต อ้อย น้ำมัน สบู่ดำ สาหร่าย รวมถึงข้าวฟ่างหวานซึ่งเป็นวัตถุดิบความหวังใหม่ในการพัฒนาพลังงานชนิดนี้ อีกเรื่องคือการพัฒนาพลังงานทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อน ซึ่งงานวิจัยยังอยู่ระยะกลาง เรื่องสุดท้ายคืองานวิจัยเพื่อพัฒนาแบตเตอรีในอนาคตและพลังงานไฮโดรเจน

ส่วนกลไกอะไรที่จะผลักดันให้งานวิจัยด้านพลังงานทดแทนออกไปสู่เชิงพาณิชย์นั้น รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ตอบคำถามว่า จะเน้นทั้งงานพื้นฐานและงานประยุกต์ โดยกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้กำหนดโจทย์ เมื่อกำหนดโจทย์ชัดเจนแล้วเป็นเรื่องของเงินซึ่งจะใช้จากงบประมาณของทั้ง 2 กระทรวงที่ร่วมกันสนับสนุน จากนั้นเป็นเรื่องของคนที่ทั้งคนที่ทำวิจัยและคนที่รับหน้าที่บริหารจัดการ

พร้อมกันนี้ ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้นำตัวอย่างงานวิจัยด้านพลังงานไปร่วมจัดแสดงระหว่างการลงนามบันทึก อาทิ การผลิตน้ำมันจากสาหร่ายโตเร็วสายพันธุ์ Botryococcus Spp. การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเพือ่ผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
พิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานทดแทน กระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงพลังงาน (ซ้าย) ดร.วรระชัย วีระเมธีกุล และ (ขวา) นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล
กำลังโหลดความคิดเห็น