สวทช. จับมือกรมการข้าว พัฒนาข้าวนาน้ำฝน 3 สายพันธุ์ใหม่สำเร็จ เตรียมยื่นขอรับรองพันธุ์ พร้อมลุยวิจัยเฟส 2 มุ่งค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลไว้ใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าว เน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวต้านทานโรค แมลง และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพิ่มผลผลิตอีก 20% คาดสำเร็จภายใน 5 ปี
นายสุนิยม ตาปราบ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ กรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศึกษาวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวจนได้ข้าวพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ ที่มีคุณสมบัติทนต่อโรคและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาน้ำฝน ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอรับรองพันธุ์ข้าว และสานต่องานวิจัยสู่ระยะที่ 2 มุ่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้นและให้ผลผลิตสูงขึ้น
สวทช. กับกรมการข้าว ร่วมมือกันตั้งแต่ปี 49-52 เพื่อทำงานวิจัยเพิ่มผลผลิตข้าว โดยเฉพาะข้าวนาปีหรือข้าวนาน้ำฝน ซึ่งเป็นพื้นที่ 2 ใน 3 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดในประเทศไทย แต่ให้ผลผลิตข้าวอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สวทช. จึงใช้เทคโนโลยีโมเลกุลเครื่องหมายเพื่อค้นหายีนลักษณะดีในข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นแหล่งพันธุกรรมข้าว แล้วกรมการข้าวนำยีนเหล่านั้นมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนให้มีคุณสมบัติดียิ่งขึ้น และทดลองปลูกในพื้นที่เพาะปลูกจริง รวมทั้งให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มีความแข็งแรงทนทาน และมีลักษณะการหุงต้มที่ดี
"ความร่วมมือในระยะแรกเราได้ข้าวพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน, ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนดินเค็ม และข้าว กข6 ต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับรองพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว ซึ่งคณะกรรมการจะต้องดำเนินการตรวจสอบและทดลองปลูกว่าข้าวสายพันธุ์ใหม่มีคุณสมบัติตรงตามที่แจ้งไว้หรือไม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและได้รับการขึ้นทะเบียนภายในปลายปีนี้ จากนั้นจึงจะเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรได้" นายสุนิยม กล่าวต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน
ทั้งนี้ สวทช. กับกรมการข้าวได้เริ่มความร่วมมือในระยะที่ 2 ต่อทันที ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือกันไปเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ปี 53-58 มุ่งเน้นต่อยอดจากงานวิจัยในระยะแรก และขยายขอบเขตงานวิจัยสู่ข้าวนาชลประทาน
"ในงานวิจัยระยะที่ 2 จะนำพันธุ์ข้าวที่ได้จากการวิจัยระยะแรกมาพัฒนาต่อยอด โดยปรับปรุงให้มีความต้านทานต่อโรค แมลง และสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้มีคุณสมบัติต้านทานโรคไหม้ประกอบกับลักษะพิเศษอื่นๆ รวมทั้งให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น 20-30% เพื่อสร้างเสถียรภาพและศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ข้าวหอมมะลิของไทย รวมทั้งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวถึงความร่วมมือในระยะถัดจากนี้ไป ซึ่งนักวิจัยคาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปีนี้ จะได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆที่มีลักษณะตามต้องการดังกล่าวอีกหลายสายพันธุ์
ดร.ธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยจะขยายขอบเขตไปสู่การปรับพันธุ์ข้าวสำหรับนาชลประทานด้วย โดยเน้นที่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่นาดังกล่าว พร้อมกับพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่มีน้ำน้อย
นอกจากนี้ยังมุ่งศึกษาค้นหายีนสำคัญในข้าวสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลพันธุกรรมข้าวในธนาคารข้าว สำหรับนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน สวทช. จะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีโมเลกุลเครื่องหมายไปสู่ห้องปฏิบัติการของกรมการข้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ให้มีความรู้ความเข้าใจต่างๆ เพื่อการเพาะปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"สวทช. มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีโมเลกุลเครื่องหมาย ส่วนกรมการข้าวมีจุดเด่นในด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรในการวิจัยข้าวในแปลงทดลอง และมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ร่วมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว เมื่อสองหน่วยงานมาร่วมมือกัน สามารถลดจุดด้อยของแต่ละหน่วยงาน ช่วยย่นระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการพัฒนาและผลิตข้าวทั้งระบบ" นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าว