พันธุ์ข้าวลูกผสมกำลังมาแรง ล่าสุดไบเออร์เปิดศูนย์วิจัยข้าวลูกผสมแห่งแรกในไทย หลังผลิตขายมาแล้วหลายประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 50% ของข้าวทั่วโลก เตรียมขยายตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมในเอเชียแปซิฟิก นำร่องทดลองข้าวลูกผสมจากอินเดียในแปลงไทย คาดอีก 3-4 ปี เริ่มผลิตจำหน่าย หวังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มผลผลิตข้าวของชาวนาไทย
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.51 ที่ผ่านมา บริษัท ไบเออร์ ครอปซายน์ จัดงานเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสม ซึ่งเป็นแห่งแรกของไบเออร์ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 80 ไร่ ในเขต อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีสื่อมวลชนร่วมงานมากมายรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ โดยไบเออร์หวังให้ศูนย์วิจัยแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสมของไทย และเตรียมขยายตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อรองรับความต้องการบริโภคข้าวในอนาคต
ดร.ฟรีดริช แบร์เชาเออร์ (Dr.Friedrich Berschauer) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไบเออร์ ครอปซายน์ เอจี กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชอาหารหลักของประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่ง และพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 90% อยู่ในเอเชีย ทว่าประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่เดิม อาจให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในอนาคต ขณะเดียวกันมีแนวโน้มว่า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรน้อยลง
"มีการคาดการณ์ว่าในอีกประมาณ 15-20 ปีข้างหน้า ความต้องการบริโภคข้าวจะเพิ่มขึ้นอีก 30% ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต ไบเออร์จึงอยากให้เกิดการปฏิวัติเขียวครั้งที่ 2 ด้วยการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นและทนต่อสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น" ดร.แบร์เชาเออร์ กล่าว ซึ่งขณะนี้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมพันธุ์อไรซ์ (Arize) ที่ไบเออร์พัฒนาขึ้น ได้มีวางจำหน่ายและเพาะปลูกแล้วใน 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และบราซิล โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 50% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั่วโลก
"ประเทศไทยผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยส่งออกมากถึง 60% ของข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมด ซึ่งนับว่าส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวโดยเฉลี่ยของไทย ยังต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยของข้าวในเอเชีย ทั้งนี้เพราะวิธีเพาะการปลูกที่แตกต่างกัน และพันธุ์ข้าวของไทยยังให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ปลูกมากในปลายประเทศ ในการจะเพิ่มผลผลิต จึงจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทย" ดร.แบร์เชาเออร์กล่าว
ด้านนายเอ็ด รูเมน (Ed Roumen) ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาพันธุ์ข้าวและข้าวลูกผสม ของไบเออร์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) อธิบายเพิ่มเติมว่า การพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมเป็นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าว
ทั้งนี้ ทำได้โดยนำข้าวต่างสายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์แท้มาผสมกัน แล้วคัดเลือกข้าวลูกผสมที่มีคุณสมบัติหรือพันธุกรรมตรงตามต้องการเพื่อนำไปปลูกทดสอบในพื้นที่จริง ซึ่งลูกผสมบางสายพันธุ์อาจต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี ในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้พันธุกรรมนิ่งจนสามารถนำไปใช้ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมต่อไปได้
การปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสมสามาถทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นถึง 15-20% จากข้าวพันธุ์แท้ที่ปลูกในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เพราะข้าวลูกผสมมีความทนทานต่อสภาพการเพาะปลูกที่ไม่เอื้ออำนวยได้ดีกว่า อัตราการเจริญเติบโตสูง ทั้งยังให้เมล็ดข้าวที่มีคุณภาพดี และรสชาติการหุงดีไม่แพ้ข้าวพันธุ์แท้ดั้งเดิม
ในเบื้องต้นไบเออร์ได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมที่พัฒนาขึ้นในประเทศอินเดีย เข้ามาปลูกทดสอบในแปลงของศูนย์วิจัยฯ ที่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกของไทย โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมนี้จำหน่ายในประเทศไทยได้ในราวปี 2554
ส่วนในระยะยาว นายรูเมน บอกว่าจะนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทย มาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ สำหรับพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมที่หลากหลายและตรงตามสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และความต้องการของคนไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์และศึกษาความต้องการของตลาดอีกนานหลายปีกว่าจะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมที่มีสายพันธุ์ข้าวของไทยเป็นพ่อแม่พันธุ์ โดยไบเออร์จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายให้กับเกษตรกรเท่านั้น จะไม่ผลิตข้าวจำหน่ายให้ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม นายรูเมน กล่าวอีกว่า สิ่งที่ท้าทายในเรื่องนี้คือการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรไทยยอมรับเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม เพราะในแต่ละประเทศที่ผ่านมาต้องใช้เวลาพอสมควรในการทำความเข้าใจร่วมกับเกษตรกรเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวลูกผสม ซึ่งก็หวังว่าจะเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรไทยได้มากขึ้นในการเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อการส่งออกหรือบริโภคในอนาคต.