xs
xsm
sm
md
lg

NAC 2008 เปิดจองกล้าไม้สักเสาชิงช้า-โชว์ชุดทดลองข้าวไทยไปอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวทช. เตรียมงัดผลงานเด่นโชว์ในงาน NAC 2008 เพียบ เจาะกลุ่มผู้ประกอบการเป็นหลัก หวังดันงานวิจัยลงจากหิ้งสู่ห้าง แม่งานใหญ่ไบโอเทคอวดชุดทดลองข้าวในอวกาศ ตั้งเป้าส่งข้าวไทยไปโคจรรอบโลกปีหน้า พร้อมรับจองต้นสักมงคลเตรียมแจกประชาชนปลายปีนี้

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. 2551 (NAC 2008) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24-26 มี.ค.นี้ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงานในวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งปีนี้มีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นเจ้าภาพ โดยมีเป้าหมายหลักในการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่ประชาชนและผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเปิดเวทีให้นักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ แลกเปลี่ยนความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการ

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. กล่าวว่า ปี 2550 ที่ผ่านมา สวทช.จดสิทธิบัตรผลงานวิจัยไปแล้ว 92 ผลงาน และตั้งเป้าจะจดสิทธิบัตรเพิ่มอีก 110 ผลงานในปีนี้ ตามแผนฟาสท์ ฟอร์เวิร์ด (Fast Forward) ซึ่งเน้นงานวิจัยที่เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นหลัก และงานวิจัยที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งเพิ่มผลิตและการลดต้นทุน ทั้งทางด้านการเกษตร พลังงาน การแพทย์ หรืออุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ต่างๆ

ส่วนผลงานวิจัยที่ผ่านมานั้นก็จะนำมาจัดแสดงในงานประชุมประจำปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นว่ามีงานวิจัยใดบ้างที่จะสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้บ้าง

ด้าน ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผอ.ไบโอเทค กล่าวว่า ไฮไลต์ของงานประจำปีนี้ได้แก่ การเปิดให้ผู้เข้าชมงานร่วมลงทะเบียนจองต้นกล้าไม้สักมงคลที่มีรหัสพันธุกรรมเดียวกันกับเสาชิงช้า ซึ่งไบโอเทคได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สักเสาชิงช้าและแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปปลูกเป็นศิริมงคล โดยในเบื้องต้นจะแจกจำนวน 500 ต้น ในเดือน ธ.ค. ปีนี้

อีกหนึ่งผลงานเด่นคือชุดจำลองการทดลองปลูกข้าวไทยในอวกาศ ซึ่งจำลองเทคโนโลยีตรวจวัดปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยเป็นความร่วมมือของไบโอเทคและองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือแจกซา (JAXA) ศึกษาความเป็นไปได้ในการทดลองปลูกข้าวบนสถานีอวกาศในห้องแล็บคิโบ (Kibo) ของญี่ปุ่นว่าจะสามารถออกรวงได้หรือไม่

ศ.ดร.มรกต เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบปลูกข้าวภายใต้สภาวะควบคุมบนโลก และจะรวบรวมผลการทดลองส่งให้แจกซาในปีหน้าเพื่อพิจารณาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำขึ้นไปทดลองในอวกาศในปี 2553 ซึ่งได้ทดลองกับข้าว 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กข 6, ขาวดอกมะลิ 105, ปทุมธานี และข้าวพันธุ์ของญี่ปุ่น

"หากข้าวไทยได้ขึ้นไปทดสอบการออกรวงในอวกาศจริง ก็จะเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองปลูกข้าวในอวกาศ เช่น การปลูกข้าวในสภาวะไร้น้ำหนัก, ไร้แรงโน้มถ่วง, อุณหภูมิต่างๆ, ความเข้มแสง หรือความยาวคลื่นของแสงในช่วงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้ข้อมูลใหม่ๆ ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมและทนต่อสภาวะบนโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้" ศ.ดร.มรกต เผย และบอกว่าความเป็นไปได้ของการส่งข้าวไทยไปอวกาศยังจะเป็นแรงกระตุ้นและจูงใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจการทดลองทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย

ผลงานที่เด่นนอกเหนือจากนี้ยังมีการต่อยอดงานวิจัยเทคโนโลยีนาโนคริสตัลสำหรับผลิตโซลาร์เซลล์ต้นทุนต่ำ ซึ่งนาโนคริสตัลมีคุณสมบัติดูดซับแสงอัลตราไวโอเลต (UV) จะช่วยให้โซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานได้มากกว่าปกติหลายเท่า, โครงการระบุรหัสดีเอ็นเอต้นสักเสาชิงช้า, เทคโนโลยีตรวจวัดคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซล, ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช

ตลอดจนผลงานที่จดสิทธิบัตรและได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนแล้ว เช่น นมก่อนนอน ที่พัฒนาวิธีการรีดนมวัวและกระบวนการผลิตให้ได้นมที่มีสารเมลาโทนินสูง ซึ่งช่วยส่งเสริมการนอนหลับให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ สามารถใช้แทนยานอนหลับได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเทคโนโลยีรากฟันเทียมที่ช่วยเพิ่มโอกาสผู้ป่วยทันตกรรมให้เข้าการรักษามากขึ้นในราคาชิ้นละ 5,000 บาท และช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึง 15,000 บาท ได้

นอกจากการแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานในสังกัด สวทช. แล้วยังมีการบรรยายพิเศษและการประชุมวิชาการในเรื่องต่างๆ อีกมากมาย ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nstda.or.th/nac/




กำลังโหลดความคิดเห็น