หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านเมล็ดพันธุ์พืชชี้ถึงเวลาไทยใช้ “ข้าวลูกผสม” เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร แก้ปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ ปัจจุบันแม้ราคาข้าวสูงแต่เกษตรกรยังไม่ได้กำไร แนะศึกษาความสำเร็จจากจีน ที่ปลูกข้าวลูกผสมจนได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงถึง 1,000 กิโลกรัม ขณะที่ไทยได้เพียง 400 กิโลกรัมต่อไร่ หวั่น “งบประมาณ-บุคลากร” ด้านพัฒนาพันธุ์ข้าวขาดแคลน ทำให้เวียดนาม อินเดีย แซงหน้าไทย
สถานการณ์ข้าวในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง เพราะราคาข้าวโลกมีการถีบตัวสูงสุดในรอบ 19 ปี คือมีการปรับตัวสูงขึ้นถึง 245% ราคาข้าวในไทยที่เคยขายได้เกวียนละ 6,000-7,000 บาท ช่วงหนึ่งก็ขายได้ในราคาสูงกว่าทองคำคือแตะที่ระดับ 15,000 บาทต่อเกวียน
อย่างไรก็ตามเมื่อราคาข้าวพุ่งขึ้นสูงถึงหลักหมื่นบาทต่อตัน ผู้บริโภคไทยก็ต้องรับผลกระทบต่อการบริโภคข้าวในราคาสูงมาก ขณะที่ตัวเกษตรกรไทยผู้ปลูกข้าว แม้ราคาข้าวจะสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องเพราะเกษตรกรต้องเจอภาวะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลงกว่าเท่าตัวในช่วงที่ผ่านมา
นี่เป็นสาเหตุที่มีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนและรัฐบาลไทยในเรื่องของการนำ “ข้าวพันธุ์ลูกผสม” มาใช้ในประเทศไทย โดยมีต้นแบบการศึกษาจากความสำเร็จของ “จีน”
แนะใช้ข้าวลูกผสมเพิ่มกำไรเกษตรกร
รศ.ดร.จวงจันทร์ ดวงพัตรา นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เปิดเผยว่า จากการทำรายงานเรื่อง “ข้าวลูกผสม-โอกาสในการเพิ่มผลผลิตข้าวของไทย” พบว่าปัญหาการปลูกข้าวของเกษตรกรไทยที่ต้องเผชิญต่อต้นทุนที่สูงขึ้นมากจากการปลูกข้าวนั้นสามารถแก้ได้โดยการนำ “ข้าวพันธุ์ลูกผสม”มาใช้ในสังคมไทย ซึ่งจากตัวอย่างของประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 300 กิโลกรัม/ไร่ หรือประมาณ 30% ของผลผลิตปกติ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวอยู่ที่ 430 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่คู่แข่งอย่างจีนมีผลผลิตข้าวต่อไร่มากกว่า 1,000 กิโลกรัม เวียดนามมีผลผลิตข้าว 778 กิโลกรัม/ไร่ อินโดนีเซีย 741 กิโลกรัม/ไร่ และอินเดียมีผลผลิต 512 กิโลกรัม/ไร่ แม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ในโลก แต่ความสามารถในการแข่งขันยังถือว่าสู้ประเทศอื่นไม่ได้ ขณะที่ไทยมีงบประมาณด้านปรับปรุงพันธุ์ข้าวน้อยมาก แต่รัฐบาลเวียดนามกลับให้ความสำคัญกับการทุ่มงบจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าว
สำหรับข้าวที่เป็นเมล็ดพันธุ์นั้นจะมี 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือข้าวพันธุ์แท้ที่จะมีลักษณะการผสมพันธุ์ตัวเอง ซึ่งสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปใช้ได้เรื่อยๆ แต่ยิ่งปลูกหลายรุ่น ลักษณะทางพันธุกรรมของข้าวนั้นๆ จะมีลักษณะเสื่อมถดถอยไปเรื่อยๆ จึงควรเก็บเมล็ดพันธุ์วิธีที่ดีที่สุดของการใช้เมล็ดพันธุ์แท้คือควรเก็บไว้ใช้เพียง 2-3 ปี และใช้เมล็ดพันธุ์ใหม่ในรอบการผลิตต่อไปจะดีที่สุด
อีกแบบคือ ข้าวลูกผสม ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวสายพันธุ์แท้สองสายพันธุ์ที่มีฐานพันธุกรรมต่างกัน โดยลูกผสมชั่วที่ 1 จะให้ลักษณะทางด้านปริมาณและคุณภาพที่ดีกว่าพันธุ์พ่อหรือพันธุ์แม่ เพราะเทคโนโลยีข้าวลูกผสมได้นำเอาหลักการความแข็งแรงของลูกผสมที่ดีเด่นกว่าพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่ (Hybrid vigor) ในการให้ผลผลิตสูงกว่ามาใช้
ศึกษาข้าวลูกผสมจีน
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย แต่เมื่อศึกษาจากกรณีของจีน ก็พบว่าประเทศไทยน่าจะมีการพัฒนาข้าวลูกผสมมาใช้เป็นทางเลือกให้เกษตรกรไทยด้วย
จีน เป็นประเทศแรกของโลกที่คิดค้นวิจัยพัฒนาข้าวลูกผสมเป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี 2517 โดยศ.หยวนหลงผิง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นผู้คิดค้นข้าวลูกผสมเป็นผลสำเร็จจนได้รับการขนานนามจากนานาชาติว่าเป็น “บิดาแห่งข้าวลูกผสม” และได้รับรางวัล World Food Prize สำหรับความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้ช่วยลดปัญหาความขาดแคลนด้านอาหารเมื่อ 29 มีนาคม 2548 รางวัลดังกล่าวได้รับการยอมรับกลายๆ ว่าเป็นรางวัลโนเบลสำหรับวงการอาหารและการเกษตรด้วย
โดยจีนเริ่มจากความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมจนปัจจุบันสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในบางพื้นที่ของจีนได้จำนวนผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,500 -2,000 กิโลกรัมต่อไร่ สิ่งนี้คือคำตอบเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน ที่มีประชากรสูงสุดในโลกคือ 1,300 ล้านคน ปัจจุบันทั้งอินเดียและเวียดนามต่างนำความรู้ด้านข้าวลูกผสมจากจีนมาพัฒนาต่อยอด
“จีนเป็นประเทศกว้างมาก ข้าวที่ปลูกตามมณฑลต่างๆ ก็จะไม่เหมือนกัน เพราะต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูกแต่ละที่ด้วย ซึ่งจีนก็ได้นำเทคนิคต่างๆ มาปรับใช้ และเราต้องเรียนรู้จากจีน”
โดยข้าวลูกผสมจีนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากนั้น เรียกว่า มีลักษณะเด่นคือทำให้พันธุ์พ่อเป็นหมัน โดยศ.หยวนพบว่าการทำให้พันธุ์พ่อเป็นหมันนั้นสามารถทำได้โดยใช้เทคนิคด้านอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมมาใช้ ไม่ต้องมานั่งเอามือไปตัดดอกตัวผู้เหมือนสมัยก่อน เมื่อปลูกคู่กับดอกตัวเมียสามารถผสมไปได้เลย ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมที่มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น 20-30% ในบางพื้นที่
การันตีรายได้เกษตรกรเพิ่ม
สำหรับประเทศไทยได้นำข้าวลูกผสมจากจีนเข้ามาทดสอบและเริ่มงานวิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมในปี 2523 แล้ว โดยรัฐบาลอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถทำการวิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมได้ด้วย แต่เนื่องจากข้าวลูกผสมนั้นจะต้องนำมาทดลองใช้ได้เฉพาะพื้นที่และด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้ความคืบหน้าด้านข้าวลูกผสมเพิ่งปรากฏในช่วงปี 2550-2551 นี้เอง โดยขณะนี้บริษัทเอกชน ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมสำเร็จ ส่วนกรมการข้าวเองนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองปลูกในระดับไร่นา ซึ่งคาดว่าภายในอีก 1 -2 ปีนี้ น่าจะมีผลผลิตข้าวลูกผสมของกรมการข้าวออกมาให้เกษตรกรได้ใช้เป็นทางเลือก
“ข้อเสียของข้าวลูกผสมคือเกษตรกรจะต้องนำเมล็ดพันธุ์ใหม่มาใช้ทุกครั้ง แต่เมื่อศึกษาและเทียบประโยชน์ดูพบว่าการที่ปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 20-25% จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้นแน่นอน”
7 ข้อดีปลูกข้าวลูกผสม
ที่ผ่านมานักวิชาการพันธุ์ข้าวได้กล่าวถึงข้อดีของข้าวลูกผสมที่มีการทดลองให้เกษตรกรปลูกอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ว่า มีข้อเด่นมากถึง 7 ประการ คือ
1.ผลผลิตข้าวจะสูงกว่าสายพันธุ์ทั่วไปประมาณ 20-50%
2.ไม่มีพันธุ์ปน ระบบรากมีความแข็งแรงและแผ่กระจายมากกว่า
3.จำนวนเมล็ดต่อรวงมากถึง 250 เมล็ดต่อรวง หากปลูกในฤดูกาลและ
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
4.ในเชิงการค้าข้าวลูกผสมให้ผลตอบแทนมากกว่า
5.เป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูก
6.ลดการใช้สารเคมี เพราะมีความต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว
7.ประหยัดการใช้น้ำและเพิ่มรอบการปลูก เนื่องจากข้าวลูกผสมมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าข้าวพันธุ์ทั่วไป
อย่างไรก็ดี นอกจากข้าวลูกผสมจะมีจุดเด่นที่เพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่กำลังทดลองปลูกกันในไทยแล้ว รศ.ดร.จวงจันทร์ ย้ำว่า ได้มีความสนใจทดลองนำข้าวหอมมะลิมาพัฒนาเป็นข้าวลูกผสมด้วย โดยบริษัทเอกชนกำลังหาวิธีทำให้ข้าวหอมมะลิสามารถปลูกได้ตลอดปี แทนที่จะปลูกได้แค่ 1 ครั้งต่อปี แต่ขณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งได้มีหลายบริษัทกำลังทดลองทำข้าวลูกผสมเพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเช่น นำไปผลิตแป้งป้อนโรงงานอีกด้วย
ห่วงบุคลากรภาครัฐน้อย
นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยนั้นคือ ขณะนี้บุคลากรด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวมีน้อยมาก โดยเฉพาะในกรมการข้าวที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ต่างก็เกษียณราชการไปแล้วจำนวนมาก
โดยในส่วนของระดับการศึกษา ก็พบว่าในระดับปริญญาตรีทั่วประเทศนั้น แม้ว่าจะมีการให้นักศึกษาทุกคนเรียนเรื่องปรับปรุงพันธุ์ แต่พอถึงระดับปริญญาโท-เอก พบว่ามีคนเรียนในสาขานี้ในทั่วประเทศมีไม่ถึง 100 คนต่อปี อีกทั้งพอถึงเวลาทำงาน ก็ทำงานในสายนี้น้อยมาก เพราะไปทำอาชีพอื่นได้เงินเดือนมากกว่า ทำให้บุคลากรด้านปรับปรุงพันธุ์มีน้อยลงทุกที ขณะที่งบประมาณของภาครัฐต่อการปรับปรุงพันธุ์พืชก็น้อยมากต่อปี จึงอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมของภาครัฐไทย ขณะเดียวกันกลับพบว่าเวียดนามส่งคนมาเรียนด้านปรับปรุงพันธุ์ในระดับปริญญาโท-เอก มากขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในไทยนั้นยังมีข้อถกเถียงถึงการให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวลูกผสมกันอยู่ว่า เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ เนื่องเพราะเป็นห่วงว่าจะถูกภาคเอกชนผูกขาดด้านเมล็ดพันธุ์อีกทั้งอาจมีผลต่อการทำลายความมั่นคงทางชีวภาพของไทยไป แต่อย่าลืมว่าในสถานการณ์วิกฤตขาดแคลนอาหารโลก โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่เกรงว่าพลเมืองจำนวนมากของจีนจะเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร
“ข้าวลูกผสม”จึงเปรียบเป็นพระเอกที่มาช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างดี...