xs
xsm
sm
md
lg

เจาะข้อมูลตลาดข้าวไทยในจีนผู้ส่งออกรายใหญ่ชี้ทางรวย-ไม่ถูกโกง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ - เจาะข้อมูลตลาดข้าวไทยในจีน แนวโน้มรุ่ง อุทัยโปรดิวส์ แนะผู้ประกอบการใหม่ค้าขายข้าวอย่างไรไม่ถูกโกง พร้อมชี้ทำการตลาด 2 ระดับ ตลาดไฮเอนท์-เน้นสร้างแบรนด์ทำการตลาด ส่วนตลาดโรงงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวจีนโตอีกมาก เหตุรัฐบาลหนุนให้โควตาไม่อั้น ส่วนซี.พี.อินเตอร์เทรดวิเคราะห์โลกใกล้สู่วิกฤตขาดแคลนอาหาร แรงหนุนข้าวไทยเปิดตลาดจีนได้มากขึ้น

สถานการณ์ข้าวไทยปีนี้ร้อนแรงสุดขีด จากการหยุดส่งออกข้าวของอินเดียและเวียดนาม ส่งผลให้ข้าวไทยยิ่งเนื้อหอมและมีความต้องการสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนอกเหนือจากบริโภคภายในประเทศแล้ว ไทยก็ยังมีข้าวเหลือพอจะส่งออก และจีนก็เป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ…

เพิ่มปริมาณส่งออกปทุมธานี-หอมมะลิขายแพงขึ้น

ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานบริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวไทยในจีนว่า ได้มีการนำเข้าข้าวไทยโดยรัฐวิสาหกิจจีนที่ชื่อ CEROIL ในปี 2533 โดยจีนได้เปิดโควตาให้ข้าวหอมมะลิไทยปีละ 2 แสนตัน จนกระทั่งจีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก (WTO) ก็ได้มีการเปิดกว้างให้มีการนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้น โดยให้มีการนำเข้าข้าวได้เป็นจำนวน 5 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้น 2.5 ล้านตัน และข้าวเมล็ดยาว 2.5 ล้านตัน

ปัจจุบันข้าวไทยไปจีนจะมี 2 ตัวใหญ่ๆ คือข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งข้าวหอมมะลิจะมีราคาที่สูงมาก ขณะที่ข้าวหอมปทุมธานีเป็นข้าวที่มีราคาถูกกว่า แต่คุณภาพใกล้เคียงกัน ทำให้ระยะหลังข้าวหอมปทุมธานีได้เข้าไปแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดข้าวในจีนมากขึ้น

โดยข้าวจีน จะแบ่งได้ 2 พันธุ์ใหญ่ๆ คือ ข้าวเมล็ดกลม และข้าวเมล็ดยาว ข้าวเมล็ดกลมจะมีกลุ่มผู้นิยมบริโภคในบริเวณเหนือแม่น้ำแยงซีเกียง ขณะที่ข้าวเมล็ดยาวมีกลุ่มผู้นิยมบริโภคอยู่ทางใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง ได้แก่ กวางตุ้ง เสิ่นเจิ้น

อย่างไรก็ดีเป็นที่รู้กันว่าที่ผ่านมาข้าวจีนนั้นจะเน้นเรื่องของจำนวนผลผลิตต่อไร่มากกว่าคุณภาพของข้าว เพราะประชาชนจีนมีจำนวนมาก รัฐบาลจีนกลัวปัญหาขาดแคลนอาหารจึงเน้นการผลิตในจำนวนมากๆ แต่สถานการณ์ข้าวในจีนปัจจุบันได้เปลี่ยนไป เมื่อเศรษฐกิจจีนดีขึ้น มีความนิยมบริโภคข้าวที่คุณภาพมากขึ้น ทั้งกลิ่นและรสชาติ ทำให้รัฐบาลจีนได้หันมาพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ตามท้องถิ่นต่างๆ หลายพันธุ์มากขึ้น

อย่างไรก็ดีข้าวหอมมะลิไทยก็ยังเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความไม่เหมือนใครและยังได้รับความนิยมสูงในจีน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดตรงที่ว่าข้าวหอมมะลิไทยมีการเก็บเกี่ยวปีละ 1 ครั้งคือช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งจะต้องมีการเก็บไว้ขายตลอดปี เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว 3-4 เดือนก็จะทำให้ข้าวหอมมะลิมีสีสันของข้าวเหลืองมากขึ้น และความหอมน้อยลง

ส่วนข้าวหอมปทุมธานี จะได้เปรียบกว่า เพราะข้าวหอมปทุมธานีเป็นข้าวนาปรัง ปลูกได้ตลอดทั้งปี จึงทำให้มีข้าวใหม่ออกตลอดปี ทำให้ข้าวหอมปทุมธานีมีสีสัน ความนิ่ม และความหอมที่ดีกว่าข้าวหอมมะลิ ดังนั้นไทยจะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวหอมปทุมธานีได้มากกว่าข้าวหอมมะลิ ซึ่งแนวโน้มด้านราคาของข้าวทั้ง 2 ชนิด ยังต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย ทั้งปัจจัยด้านราคา และการทำการตลาด

โดยข้าวหอมมะลิไทยเราควรจะจับตลาดพรีเมียม หรือชนชั้นกลางขึ้นไปที่มีอำนาจซื้อสูง เพราะจะมีรสนิยมการบริโภคข้าวที่คุณภาพมากกว่าราคา และต้องทำหีบห่อ (Packaging) ให้มีขนาดเล็กลง คือ มีขนาด 10 กิโลกรัม 5 กิโลกรัม และ 2 กิโลกรัม จะทำให้สามารถขายในราคาที่สูงขึ้นได้อีก

แนะเจาะ 2 ตลาดข้าวใหญ่ในจีน

ส่วนตลาดข้าวในจีนสำหรับผู้ส่งออกข้าว จะมีตลาดที่สำคัญอยู่เพียง 2 ตลาดคือ ตลาดไฮเอนด์ ในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ของจีน และสามารถขายให้โรงงานของจีนนำข้าวไทยไปผสมพันธุ์ข้าวท้องถิ่นและบรรจุใหม่ (Repackaging) ในแบรนด์ของจีนเอง

สำหรับผู้ประกอบการส่งออกข้าวไทยรายใหม่ๆ ที่อยากไปเจาะตลาดจีน แนะนำว่าการเข้าไปเจาะตลาดไฮเอนด์นั้นสามารถทำได้ แต่ต้องเน้นการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดจีนเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหากจะส่งออกข้าวไปขายให้โรงงานของจีนจะทำได้ง่ายกว่าและขณะนี้มีผู้ส่งออกไทยหลายรายได้เข้าไปเจาะตลาดในส่วนนี้ เพราะรัฐบาลจีนเปิดเสรีในตลาดนี้มาก คือให้โควตามากกว่าจำนวนที่ต้องการ ทำให้โรงงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวของจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ มีโอกาสการทำแบรนด์ได้ยากขึ้น เพราะมีการแข่งขันสูง แต่ถ้าเน้นขายให้โรงงานจีนโดยเฉพาะก็ยังขายได้อีกมาก

ส่วนคนที่อยากเจาะตลาดไฮเอนด์ ต้องเริ่มจากการไปจดทะเบียนตราสินค้า เนื่องจากพ่อค้าจีนจำนวนหนึ่งนั้นมักจะสังเกตว่าข้าวที่นำเข้าไปขายดีหรือไม่ ถ้าเห็นว่าขายดี จะชิงไปจดทะเบียนในตราสินค้านั้นๆ ทันที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายให้รัดกุมก่อนเข้าไปทำการค้า

เทคนิคที่สำคัญคือผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแบรนด์เอง ควรจะหาผู้ซื้อหรือเอเย่นท์ที่รับขายและทำ Promotion ให้สินค้าเราเพียงตัวเดียว และควรปฏิเสธที่จะร่วมกับเอเย่นท์ที่มีโรงงานปรับปรุงพันธุ์ข้าว หรือเอเย่นท์ที่ขายสินค้าข้าวตัวอื่นๆ ด้วย เพราะเอเย่นท์เหล่านี้จะนำสินค้าที่ดีของไทยไปเป็นตัวนำขาย แต่เน้นขายสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นที่ถูกกว่าแทน

ปัญหาใหญ่เก็บเงินไม่ได้

ปัญหาใหญ่อีกปัญหาที่ผู้ประกอบการใหม่ๆ ต้องระวังคือปัญหาการไม่สามารถเก็บเงินได้ เพราะลักษณะการค้าขายกับจีน จะเป็นลักษณะการให้สินค้าไปก่อน เก็บเงินที่หลัง ไม่มีการเปิด LC ฉะนั้นการเลือกคู่ค้าที่ไว้ใจได้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยผู้นำเข้ารายใหญ่ของจีนนั้นมีไม่กี่ราย ผู้ประกอบการไทยรายใหม่ๆ จำเป็นจะต้องหาข้อมูลผู้นำเข้าเหล่านั้นให้ชัดเจนก่อนที่จะไปทำการค้าขาย ซึ่งสามารถขอข้อมูลได้ที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศได้

สำหรับการส่งออกข้าวของบริษัทอุทัยโปรดิวส์นั้น ปัจจุบันได้ส่งออกข้าวไปทั่วโลกประมาณ 160,000 ตัน และส่งออกข้าวหอมมะลิไปจีนปีละประมาณ 50,000 ตัน โดยเป็นข้าวหอมมะลิประมาณ 85-90% โดยตลาดใหญ่อยู่ที่ มณฑลกวางตุ้ง มหานครปักกิ่ง และมหานครเซี่ยงไฮ้

สำหรับแนวโน้มอนาคตของบริษัทอุทัยโปรดิวส์ และผู้ส่งออกข้าวไปจีนรายใหญ่ๆ ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาความเข้มงวดของมาตรฐานข้าวหอมมะลิในไทยที่ทำให้มีภาระต้นทุนในการบริหารจัดการค่อนข้างมากไม่สามารถแข่งขันกับข้าวที่ผสมขายในจีนได้ ทำให้บริษัทต่างๆ สนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุนตั้งโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวกันมากขึ้น

CPIชี้อาจเกิดวิกฤตอาหาร-คนไทยส่งออกข้าวเพิ่ม

ด้าน สุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด (CPI) ผู้ส่งออกข้าวไปจีนรายใหญ่อีก 1 ราย กล่าวว่า เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้ส่งออกข้าวไปจีนกว่า 3,161.54 ตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกไป 1,952.96 ตันอยู่ถึง 61.88% และมีแนวโน้มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จีนนั้นเป็นตลาดที่เข้าไปเจาะตลาดไม่ง่ายนัก เนื่องจากตลาดข้าวจีนจะอยู่ในความดูแลของรัฐบาลกลางมาก โดยเฉพาะปักกิ่งที่มีหน้าที่จัดสรรโควตาในการนำเข้าข้าว

อย่างไรก็ดีมองว่าแนวโน้มข้าวไทยจะสามารถเข้าไปขายในจีนมากขึ้น เนื่องจากโลกเกิดวิกฤตขาดแคลนพืชอาหาร สิ่งที่ต้องสังเกตคือนอกจากประเทศมหาอำนาจจะมีการนำธัญพืชมาผลิตน้ำมันแล้ว ยังต้องดูเรื่องของสภาวะอากาศปีนี้ที่แปรปรวนมากให้ดีโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2-3ของปีนี้ โดยต้องรอดูว่าช่วงฤดูกาลเพาะปลูกของประเทศต่างๆ จะมีปัญหาภาวะอากาศหรือไม่ ถ้ามีจะเกิดภาวะวิกฤตการขาดแคลนอาหารของจีนและทั่วโลกอย่างแสนสาหัส

ดังนั้นโอกาส ของประเทศไทยที่ยังสามารถผลิตข้าวได้จำนวนมาก และมีการบริโภคภายในประมาณ 40% และส่งออกได้ 60% ก็จะทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงขึ้นอีกมาก ตลอดจนสามารถนำเข้าไปขายในจีนได้มากขึ้นด้วย

“บริษัทตั้งเป้าขายตลาดในจีนโดยจะส่งออกให้ได้ปีละ 4 หมื่นตัน ซึ่งคิดว่าถ้าไปได้ดี ปีหน้า 2552 จะมีการส่งออกไปจีนได้มากถึง 1 แสนตัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น