xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทคเตรียมทดสอบ "ข้าวทนโลกร้อน" อีก 2 ปีได้ 4 สายพันธุ์เจ๋ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ได้ 73 สายพันธุ์ รวม 4 คุณสมบัติเจ๋งไว้ในต้นเดียว เตรียมปลูกทดสอบในพื้นที่จริงอีก 2 ฤดูกาล คาดอีก 2 ปี ได้ "ซูเปอร์ข้าว" ทนทานภาวะโลกร้อน นักวิจัยเผยงานนี้จีเอ็มโอไม่มีเอี่ยวแน่นอน

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แถลงความก้าวหน้างานวิจัยข้าวด้วยเทคโนโลยีขีวภาพของไทย เมื่อวันที่ 14 มี.ค.51 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้มทั้งเผยผลสำเร็จการปรับปรุงพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ 73 สายพันธุ์ และเตรียมทดลองปลูกในพื้นที่จริงหลายจังหวัดที่มีปัญหาดินเค็ม สุดท้ายคัดให้เหลือ 4 สายพันธุ์ดีที่สุด สำหรับแจกจ่ายเกษตรกรในอีก 2 ปีข้างหน้า

ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากไบโอเทค เปิดเผยว่า พื้นที่ที่มีความเค็มสูงจะส่งผลให้ข้าวให้ผลผลิตต่ำ และพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีปัญหาดินเค็มและได้ผลผลิตเพียง 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตจากพื้นอื่นๆ อยู่ที่ประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ และภาวะการแพร่กระจายของดินเค็มกำลังจะเป็นปัญหาคุกคามประชากรโลก

ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวโยงไปถึงภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันด้วย ซึ่งดร.เฉลิมพล ขยายความว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเสียสมดุลของคาร์บอนในอากาศและที่ถูกกักเก็บไว้ใต้ดินทำให้เกิดภัยแล้งตามมา น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำทะเลรุกล้ำเข้าสู่ชายฝั่งมากขึ้น และเกิดการแพร่กระจายของดินเค็มมากขึ้น ประกอบกับปัญหาพื้นที่ป่าถูกทำลาย ทำให้เกลือที่เคยสะสมอยู่ใต้ดินซึมขึ้นสู่ผิวดินมากขึ้นอีก

ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนต่อสภาวะต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และด้วยเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบันทำให้นักวิจัยสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะดีต่างๆ อยู่ภายในต้นเดียวได้ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน

"ขณะนี้เราปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ 73 สายพันธุ์ที่ทนเค็ม ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรคไหม้ได้ภายในต้นเดียวกัน ซึ่งใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์กว่า 7 ปี จากข้าว 3 สายพันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ, ข้าวปทุมธานี และข้าวหอมจันทร์ และกำลังจะนำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ต่างๆ อีก 2 ฤดูกาล เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดเพียง 4 สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่างๆ คาดว่าอีกประมาณ 2 ปี จึงจะได้สายพันธุ์สำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปปลูกได้" ดร.เฉลิมพล กล่าว

ทั้งนี้ นักวิจัยจะนำข้าวทั้ง 73 สายพันธุ์ไปทดลองปลูกพื้นที่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ และในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม, สกลนคร, นครราชสีมา, อุบลราชธานี และสุพรรณบุรี ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์ข้าวดังกล่าวเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ได้แก่ ม.มหาสารคาม, ม.ธรรมศาสตร์, ม.มหิดล, ม.เกษตรศาสตร์, ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี, กรมวิชาการเกษตร, บริษัท เกลือพิมาย จำกัด และไบโอเทค

ด้าน ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวจาก ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านสายพันธุ์ข้าว ทำให้มีพันธุกรรมข้าวที่หลากหลายด้วย และความหลากหลายนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ และการอนุรักษ์สายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งที่กรมวิชาการเกษตรรวบรวมพันธุ์ข้าวไว้ได้กว่า 10,000 สายพันธุ์แล้ว

"ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบันช่วยให้นักวิจัยค้นหายีนเป้าหมายได้ เมื่อรู้ว่ายีนตำแหน่งไหนควบคุมลักษณะใด นักวิจัยสามารถใช้ประโยชน์จากยีนนั้นในการปรับปรุงพันธุ์ได้ในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งขณะนี้นักวิจัยหายีนสำคัญในข้าวได้แล้วกว่า 200 ยีน"

"ทั้งนี้ในอดีตใช้วิธีการปลูกในพื้นที่ที่จำเพาะแล้วคัดเลือกต้นที่ทนทานในสภาพแวดล้อมนั้นได้ ซึ่งจะทำได้เพียงครั้งละคุณลักษณะเท่านั้น แต่เมื่อเรารู้เครื่องหมายโมเลกุล ทำให้สามารถคัดเลือกลักษณะที่ต้องการได้ทุกอย่างในเวลาเดียวกันและใช้เวลาไม่นาน" ดร.ธีรยุทธ เผยและเปรียบว่าการรู้ตำแหน่งของยีนนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์สมัยใหม่

ดร.ธีรยุทธ อธิบายว่าเขาเอายีนที่ต้องการใส่เข้าไปในข้าวโดยวิธีการ "ผสมกลับ" และใช้โมเลกุลเครื่องหมายที่ควบคุมยีนที่ต้องการปรับปรุงในการคัดเลือกต้นข้าวที่มีลักษณะที่ต้องการ ซึ่งวิธีดังกล่าวต่างจากการทำจีเอ็มโอ และบอกว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องทำข้าวจีเอ็มโอ เนื่องจากมีพันธุกรรมข้าวที่หลากหลายให้เลือกใช้ปรับปรุงพันธุ์ได้อยู่แล้ว.

กำลังโหลดความคิดเห็น