นักวิจัยกำแพงแสนมุ่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ แก้ปัญหาข้าวคุณภาพดีขาดตลาด เผยเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์มีพร้อม แต่ยังขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เตรียมของบกระทรวงวิทย์จัดตั้งสถาบันวิจัยข้าว เดินหน้าผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสู่เกษตรกร พร้อมผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจากข้าวไทยป้อนภาคอุตสาหกรรม แย้มอีก 2 ปีมี "ซูเปอร์ข้าวหอมมะลิ" ทนทานสารพัดปัญหา
จากปัญหาราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบันจนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลก ประกอบกับเมื่อวันที่ 19 เม.ย.51 ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระดำรัสแสดงความห่วงใยต่อปัญหาขาดแคลนเมล็ดข้าวสำหรับปลูกในฤดูต่อไป อีกทั้งที่ผ่านมาได้พระราชทานทุนวิจัย จำนวน 2 ล้านบาทให้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้สายพันธุ์ที่ทนต่อทุกสภาพภูมิอากาศ ทั้งทนแล้ง ทนน้ำท่วม เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงสนองพระราชดำริในเรื่องดังกล่าว โดยเร่งให้หน่วยวิจัยในสังกัดพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวและเผยแพร่สู่เกษตรกร โดยนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วท. และคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์จากยีนข้าว ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อวันที่ 23 เม.ย.51 และเตรียมสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันวิจัยข้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสำหรับเกษตรกรไทย
รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผอ.หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์จากยีนข้าว ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนและร่วมวิจัยกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า ทางหน่วยวิจัยได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นศึกษายีนและการแสดงออกของยีนในข้าว เพื่อสร้างองค์ความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและคัดเลือกพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุล
"งานวิจัยหลักมุ่งเน้นที่การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นการปรับปรุงเชิงรับโดยการแก้ไขจุดอ่อนในด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ข้าวหอมมะลิที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนดินเค็ม ต้านทางโรคไหม้และแมลงศัตรูพืช โดยยังคงคุณลักษณะดีทุกประการของข้าวหอมมะลิดั้งเดิมไว้ด้วย ขณะเดียวก็ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น เช่น ข้าวไรซ์เบอรี ข้าวธาตุเหล็กสูง และข้าวต้านเบาหวานเป็นต้น" รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว ซึ่งได้มีการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่พัฒนาแล้วไปเผยแพร่สู่เกษตรกร 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน และข้าวพันธุ์แก้วเกษตรต้านทานโรคไหม้
ผอ.หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์จากยีนข้าว เผยถึงสถานการณ์ราคาข้าวในปัจจุบันว่าอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เนื่องจากปัญหาด้านวิกฤตพลังงานของโลกทำให้มีการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานเพิ่มมากขึ้น และเกิดการแย่งพื้นที่ปลูกพืชอาหาร ซึ่งหลายประเทศอาจตื่นตะหนกถึงความขาดแคลนข้าวจนนำไปสู่การกักตุนข้าว และทำให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น แต่หลังจากนั้นทั่วโลกจะต้องหันกลับมาส่งเสริมการปลูกข้าวอีกครั้ง ในที่สุดก็จะช่วยดึงราคาข้าวให้ต่ำลงได้ แต่ก็จะไม่ตกต่ำมากเหมือนที่ผ่านมาแน่นอน
รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวต่อว่า ปัญหาข้าวราคาแพงเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้เอง ขณะที่ระยะเวลาอันยาวนานในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรกลับต้องเผชิญกับปัญหาข้าวราคาถูก และไม่มีคุณค่าในสายตาชาวโลก ทำให้โจทย์วิจัยที่ได้รับมาในตอนแรกคือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวให้สูงขึ้นและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ดังนั้นหน่วยวิจัยจึงอาจจะแก้ปัญหาให้ราคาข้าวถูกลงไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ข้าวแพงและมีประโยชน์สูงสุด เพราะขณะนี้ชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังใช้สายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นข้าวที่มีช่วงอายุการปลูกสั้นเพียง 3 เดือน และกินปุ๋ยเยอะ ทำให้ต้นทุนสูง
"วิธีแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ข้าวในตอนนี้ก็คือต้องให้เกษตรกรเลิกปลูกพันธุ์ข้าวที่ไม่มีสกุล และหันมาปลูกข้าวที่มีคุณภาพดีแทน ซึ่งจะให้ผลผลิตข้าวสูงกว่า และจะเป็นการลดการต้นทุนการผลิตได้เองในตัว" รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวและเผยอีกว่าขณะนี้กำลังพัฒนาข้าวหอมมะลิที่สามารถทนทานสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ในต้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนดินเค็ม ทนโรคไหม้ และทนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งคาดว่าอีก 2 ปีน่าจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวดังกล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ทางหน่วยวิจัยจะสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดีได้ ทว่ายังขาดเทคโนโลยีที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอสำหรับเกษตรกรได้ เช่น เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าว เพราะโดยปกติหน่วยวิจัยจะเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกับมหาวิทยาลัย แต่ทุกๆ 3 ฤดูกาล เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรผลิตได้อาจเกิดการผันแปร ดังนั้นจึงควรจะได้รับเมล็ดพันธุ์ใหม่จากหน่วยวิจัยเพื่อไปขยายพันธุ์เองอีก ซึ่งหน่วยวิจัยเองก็ยังผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ไม่เพียง
รศ.ดร.อภิชาติ เผยว่า ขณะนี้กำลังเตรียมยื่นเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังจะรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูบจากข้าว เช่น แป้งข้าวเจ้าคุณภาพสูง สำหรับเป็นวัตถุดิบป้อนภาคอุตสาหกรรมขนาดเอสเอ็มอีที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวคุณภาพดี โดยงบประมาณที่ตั้งไว้เบื้องต้นประมาณ 10 ล้านบาท
ด้านนายวุฒิพงศ์เสริมว่า กระทรวงวิทย์พร้อมพิจารณาโครงการดังกล่าวเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณต่อไป เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและอีกหลายๆ ชาติ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และยังจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องขาดแคลนโภชนาการได้ด้วยข้าวที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่า.