ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มน้ำตาล “วังขนาย” ลั่นพร้อมผลิตน้ำตาลอินทรีย์ออกสู่ตลาดภายในปี 2553 เผยยุทธศาสตร์จัดการเกษตรชีวภาพประสบผลสำเร็จ ระบุผลการดำเนินงานคืบหน้าแล้วกว่า 50% ผ่านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเบื้องต้นกว่า 572 กลุ่ม เน้นปรับการผลิตสู่เกษตรอินทรีย์ป้อนผลผลิตสู่โรงงาน วางเป้าปี 2554 ผลิตน้ำตาลอินทรีย์กว่า 40,000 ตัน จับตลาดส่งออกเป็นหลัก เหตุตลาดตอบรับสูง เชื่อเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยทั้งระบบ
ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานกรรมการบริหาร ด้านการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า กลุ่มน้ำตาลวังขนาย มีความพร้อมที่จะผลิตน้ำตาลอินทรีย์ออกสู่ตลาดเป็นกลุ่มแรกของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในด้านการทำเกษตรชีวภาพให้แก่เกษตรกรในโควตาของกลุ่มวังขนายมาอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์เกษตรชีวภาพ เพื่อการผลิตอ้อยอินทรีย์ ประสบผลสำเร็จน่าพอใจ โดยใช้กลไกผ่านเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อการเพาะปลูกอ้อยอินทรีย์ให้แก่โรงงานน้ำตาลของกลุ่มวังขนาย เบื้องต้นได้สนับสนุนให้เกษตรกรในโควตาทำการจดทะเบียน จัดตั้งเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแล้วกว่า 572 กลุ่ม
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้นำรูปแบบเกษตรชีวภาพมาปรับใช้กับกระบวนการปลูกอ้อยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการลดปริมาณและเลิกใช้เคมีภัณฑ์ทุกประเภท ตั้งแต่ขั้นตอนบำรุงดิน จัดการเพาะปลูก ปราบศัตรูพืช พร้อมทั้งนำปุ๋ยอินทรีย์มาบำรุงอ้อยทดแทนปุ๋ยเคมี รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม พัฒนาไปสู่ผู้ผลิตอ้อยอินทรีย์เต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้
“ที่ผ่านมาได้จัดฝึกอบรมเกษตรกรในเครือข่ายทั้ง 4 โรงงาน ควบคู่กับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกอ้อยของตนเอง ซึ่งผลการดำเนินงานจากเกษตรรูปแบบเดิมที่ใช้เคมีภัณฑ์ ได้ปรับลดปริมาณการใช้เคมีภัณฑ์ลงเรื่อยๆ และพัฒนาสู่เกษตรอินทรีย์มีความคืบหน้าไปแล้วมากกว่า 50% โดยมีสำนักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เข้ามาตรวจสอบ” ดร.ณรงค์ กล่าวและว่า
การดำเนินงานในช่วงปี 2551-2552 จะเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนการจัดการเกษตรไปสู่เกษตรอินทรีย์ โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยเป้าหมายของกลุ่มวิสาหกิจทั้ง 572 กลุ่มประมาณ 40,000 ไร่ ที่จะผลิตอ้อยอินทรีย์นำไปผลิตเป็นน้ำตาลอินทรีย์ คาดว่าจะเริ่มมีผลผลิตอ้อยอินทรีย์และผลิตเป็นน้ำตาลอินทรีย์ (Organic Sugar) ประมาณปี 2553 และจะมีผลผลิตน้ำตาลอินทรีย์ไม่ต่ำกว่า 40,000 ตันภายในปี 2554 นี้
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ากลุ่มวังขนายจะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายแรกของไทยที่มีน้ำตาลอินทรีย์ออกสู่ตลาด โดยน้ำตาลอินทรีย์ดังกล่าว เป็นน้ำตาลธรรมชาติบริสุทธิ์ ไม่มีการปนเปื้อนของเคมีภัณฑ์ โดยมีการควบคุมตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกที่เข้มงวด ทำแนวป้องกันแปลงปลูกอ้อยอินทรีย์ออกจากอ้อยทั่วไป การจัดการเพาะปลูกทั้งขั้นตอนจะไม่มีการใช้สารเคมี ทำให้ได้ผลผลิตอ้อยที่บริสุทธิ์นำมาผลิตเป็นน้ำตาลอินทรีย์
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการทำตลาดน้ำตาลอินทรีย์ กลุ่มวังขนายจะเน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีกระแสตอบรับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติสูงมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานตรวจสอบจากต่างประเทศ เข้ามาตรวจสอบและรับรองกระบวนการเพาะปลูกและการผลิตธรรมชาติน้ำตาลอินทรีย์ของกลุ่มวังขนาย เป็นใบเบิกทางในการทำตลาดส่งออก
สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการผลิตน้ำตาลอินทรีย์ แม้ว่าระยะแรกจะมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่ถือเป็นพัฒนาการยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากน้ำตาลอินทรีย์เป็นผลผลิตน้ำตาล จับกลุ่มตลาดบน มีราคาที่สูงกว่าน้ำตาลทรายทั่วไปมาก ขณะที่เกษตรกรที่ร่วมโครงการ สามารถขายผลผลิตอ้อยในราคาที่สูงมากเช่นกัน
ส่วนแผนงานในอนาคต กลุ่มวังขนายจะสนับสนุนให้เกษตรกรในโควตาของโรงงานน้ำตาลในเครือทั้ง 4 โรงงานทั่วประเทศ ดำเนินการจดทะเบียน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและรวมกันผลิตอ้อยอินทรีย์เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับปริมาณการผลิตน้ำตาลอินทรีย์ที่มีลู่ทางขยายตัวอีกมาก อีกทั้งกลุ่มวังขนายมีนโยบายจะพัฒนาเกษตรกรทั้งหมดในเครือทำเกษตรชีวภาพให้สมบูรณ์ในอนาคต
สำหรับกลุ่มน้ำตาลวังขนาย ถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีบริษัทในเครือที่เป็นโรงงานผลิตน้ำตาล 4 แห่ง เริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2518 ตั้งบริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันย้ายโรงงาน มาทำการผลิตที่จังหวัดมหาสารคามกำลังผลิตน้ำตาล 15,453 ตันอ้อยต่อวัน
ปี 2527 ตั้งบริษัท น้ำตาลรีไฟน์ ชัยมงคล จำกัด อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีกำลังผลิตน้ำตาล 17,731 ตันอ้อยต่อวัน ปี 2530 ตั้งบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาล ที.เอ็น.จำกัด อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี มีกำลังผลิตน้ำตาล 18,000 ตันอ้อยต่อวัน และปี 2533 ตั้งบริษัท อุตสาหกรรมอ่างเวียน จำกัด ตั้งโรงงานที่อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลใหญ่ที่สุด มีกำลังการผลิต 36,000 ตันอ้อยต่อวัน