เอเยนซี/เมดิคัลนิวส์ทูเดย์ - นักวิทย์มะกันพบวิธีทำ "ข้าวโพดวิตามินเอสูง" โดยไม่ต้องพึ่งจีเอ็มโอ ใช้ยีนกลายพันธุ์โดยธรรมชาติให้ถ่ายทอดจากต้นพ่อแม่สู่ลูก หวังช่วยเด็กขาดวิตามินเอในประเทศกำลังพัฒนา
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาพบยีนกลายพันธุ์ในข้าวโพดที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติแล้วมีผลทำให้ปริมาณสารตั้งต้นของวิตามินเอในธัญพืชชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เตรียมปูทางสู่การผลิตข้าวโพดอุดมวิตามินเอแต่ไม่จีเอ็มโอ หวังแก้ภาวะทุพโภชนาการของเด็กในประเทศกำลังพัฒนา พร้อมทั้งได้รายงานผลการวิจัยลงในวารสารไซน์ (Science)
เอดเวิร์ด บัคเลอร์ (Edward Buckler) นักพันธุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) และกระทรวงเกษตร สหรัฐฯ หนึ่งในทีมวิจัยเรื่องนี้เปิดเผยว่า พวกเขาพบยีนในข้าวโพดที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติและเป็นผลให้ข้าวโพดมีการสร้างสารที่เรียกว่า "โปรวิตามินเอ" (provitamin A) มากขึ้นกว่าเดิม โดยร่างกายเราจะมีกระบวนการเปลี่ยนโปรวิตามินเอ เช่น เบตาแคโรทีน (beta-carotene) ให้กลายเป็นวิตามินเอและสามารถนำไปใช้ได้
บัคเลอร์ อธิบายต่อว่า มีข้าวโพดหลากสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็มีปริมาณโปรวิตามินเอมากน้อยต่างกัน โดยข้าวโพดขาว (white corn) มีโปรวิตามินเอต่ำหรือไม่มีเลย ส่วนข้าวโพดเหลือง (yellow corn) มีโปรวิตามินเอมากกว่า
ทั้งนี้ ชาวอเมริกาใต้และแอฟริกาปลูกข้าวโพดเป็นธัญพืชหลัก ทว่าในประเทศเหล่านี้มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ราว 30% ที่ต้องอยู่ในภาวะขาดวิตามินเอ ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับดวงตาและการมองเห็น รวมทั้งโรคอื่นๆ อีกหลายโรคที่เป็นผลมาจากการที่ร่างกายได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอ
ทีมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดโดยการศึกษายีนต่างๆ ในข้าวโพดจากทั่วโลกกว่า 300 ยีน พบมีบางยีนที่ผิดปกติแล้วทำให้ข้าวโพดสร้างเบตาแคโรทีนมากขึ้นเป็น 15 ไมโครกรัมต่อข้าวโพด 1 กรัม ซึ่งนักวิจัยระบุให้เป็น "ยีนมาร์กเกอร์" (marker gene) หรือยีนคัดเลือก เพื่อการคัดเลือกพันธุ์ต่อไป โดยการผสมพันธุ์ข้าวโพดแล้วติดตามดูการถ่ายทอดยีนจากพ่อแม่สู่รุ่นลูก ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่ประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถทำได้ เพื่อให้ได้ข้าวโพดพันธุ์ดีไว้สำหรับบริโภคในท้องถิ่น
ทั้งนี้ ข้าวโพดทั่วไปที่ชาวแอฟริกาบริโภคกันมีปริมาณเบตาแคโรทีนเพียง 0.1 ไมโครกรัมต่อข้าวโพด 1 กรัม
"ภาวะร่างกายขาดวิตามินเอเป็นปัญหากระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตาบอดในเด็กและภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งวิตามินเอมีบทบาทสำคัญต่อการมองเห็นของดวงตา การเจริญของเนื้อเยื่อกระดูก และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ในร่างกายอีกหลายกระบวนการ" บัคเลอร์อธิบาย และย้ำว่าทีมวิจัยของเขาไม่ใช้การตัดต่อพันธุกรรมปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดอย่างแน่นอน
ประชากรในแอฟริกาทั่วไปบริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลักทั้ง 3 มื้อ ซึ่งนักวิจัยเล็งเห็นว่าหากทำให้อาหารที่เขาบริโภคเป็นประจำอยู่แล้วมีปริมาณวิตามินเอมากขึ้นก็น่าจะเป็นวิธีที่แก้ปัญหาภาวะขาดวิตามินเอให้พวกเขาได้ได้ กระบวนการลักษณะนี้เรียกว่า "ไบโอฟอติฟิเคชัน" (biofortification) ซึ่งเป็นวิธีการทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารมีสาหารที่จำเพาะเจาะจงในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม