xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธงทศวรรษนี้เอเชียเป็นเจ้าตลาดพืชจีเอ็มโอต่อจากสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กูรูจีเอ็มโอฟันธงแนวโน้มอีก 10 ปี เอเชียครองตลาดพืชจีเอ็มโอ พร้อมเผยช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นปีทองของสหรัฐฯ ในการปลูกพืชจีเอ็มโอ ทว่ามีอัตราการเติบโตในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า เชื่อแนวโน้มพืชพลังงานจะมาแรง แถมมีจีเอ็มโอชนิดใหม่เกิดขึ้นอีก เพิ่มอีก 100 ล้านครอบครัวเกษตรกรจีเอ็มโอ

ดร.ไคล์ฟ เจมส์ (Dr. Clive James) นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศเทศอังกฤษ ผู้ก่อตั้งองค์กรไอซา (International Service for Agri-biotech Acquisition Association: ISAAA) ซึ่งปัจจุบันเป็น ประธานและคณะกรรมการบริหารของไอซา บรรยายพิเศษเรื่อง "สถานภาพการผลิตพืชเทคโนโลยีชีวภาพ ปี ค.ศ.1996-2007" เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2551 ณ โรงแรมรามาการ์เดน ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.)

รศ.ดร.สุพัฒน์ อรรถธรรม ผอ.ศูนย์ข้อมูลทางชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ และนักวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรม ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน สรุปเนื้อหาที่ ดร.ไคล์ฟ เจมส์ บรรยาย ได้ความว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการปลูกพืชเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2539 (1996) จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว และมีพื้นที่เพาะปลูกกระจายไปทั่วโลกใน 23 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนา 12 ประเทศ และประเทศอุตสาหกรรม 11 ประเทศ คิดเป็นพื้นที่กว่า 114.3 ล้านเฮคตาร์ โดยมีเกษตรกรผู้เพาะปลูกราว 12 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาถึง 11 ล้านคน

ดร.เจมส์ มองว่าสิ่งท้าทายนักวิทยาศาสตร์คือทำอย่างไรจึงจะเพิ่มปริมาณอาหารคนและสัตว์ได้ในพื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิมและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้ ขณะที่หากเป็นวิธีการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบปรกติอย่างเดียวไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้เท่าตัวภายในปี 2593

12 ปีที่ผ่านมา พืชจีเอ็มโอช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มรายได้และลดความยากจนให้กับเกษตรกรรายย่อยได้ถึง 11 ล้านครอบครัว เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการหักล้างถางพงเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน รวมถึงภัยแล้งที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต โดยในปี 2549 ลดการใช้สารเคมีได้กว่า 2 แสนตัน ลดการไถพรวนดินทำให้ลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ 15 พันล้านกิโลกรัม เทียบได้กับการเอารถยนต์ 6.5 ล้านคัน ออกจากถนน ทั้งยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินด้วย

เฉพาะในอเมริกาเหนือ ปี 2550 ปลูกพืชจีเอ็มโอเพิ่ม 37% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เช่น ปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอเพิ่มขึ้น 40% เพื่อนำไปผลิตเอทานอล แต่หากพิจารณาทั่วโลกแล้วจะพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศอินเดียมีพื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็น 63% จากการปลูกฝ้ายบีที ส่วนในบราซิลก็เพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองและฝ้ายจีเอ็มโออีก 30 % เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปแอฟริกาที่ปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ โดยมีชิลีและโปแลนด์เป็นประเทศใหม่ที่เพิ่งเริ่มปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์เมื่อไม่กี่ปีมานี้

ทั้งนี้ โปแลนด์เป็นประเทศที่ 8 ในสหภาพยุโรปที่ปลูกข้าวโพดบีที ตามหลังสเปน ฝรั่งเศส สาธารณรัฐเชค โปรตุเกส เยอรมนี สโลวาเกีย และโรมาเนีย ทำให้ยุโรปมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 100,000 เฮคตาร์ (625,000 ไร่) เป็นครั้งแรก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 77% ในปี 2550 เฉพาะประเทศสเปนอย่างเดียวก็ใช้พื้นที่กว่า 70,000 เฮคตาร์ ดังนั้นเรื่องที่กล่าวกันว่าสหภาพยุโรปปฏิเสธพืชจีเอ็มโอจึงไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ดี จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าประเทศกำลังพัฒนามีพื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากกว่าประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งในปี 2550 พื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 21% โดย 5 อันดับแรก หรือ 5 เสือไบโอเทคในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้แก่ จีน อินเดีย อาร์เจนตินา บราซิล และแอฟริกาใต้

ดร.เจมส์ กล่าวต่อว่า ในช่วงทศวรรษแรกของพืชจีเอ็มโอ นับเป็นปีทองของสหรัฐฯ ทว่าแนวโน้มของทศวรรษที่ 2 ของการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ จะมีพื้นที่เพาะปลูกขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีจีนและอินเดียเป็นผู้นำ และอาจมีประเทศใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น เวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศไทย ส่วนในแอฟริกามีแนวโน้มว่าประเทศอียิปต์ เบอร์กินาฟาโซ และเคนยา และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออก

ในอนาคตยังจะมีพืชจีเอ็มโอชนิดใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาด้วย หรือเป็นพืชที่มีลักษณะดีด้านต่างๆ รวมอยู่ในต้นเดียวกัน เช่น ต้านแมลง ทนต่อสารเคมี และทนแล้ง โดยเฉพาะพืชพลังงานที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นสำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อบรรเทาปัญหาภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ลดน้อยลงทุกขณะ

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2558 จะมีการเพาะปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 40 ประเทศ โดยเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านครอบครัวทั่วโลก ซึ่ง ดร.เจมส์ ก็หวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น