หลายปีก่อน การดัดแปลงทางพันธุกรรมพืช หรือ "จีเอ็มโอ" นั้นเป็นประเด็นร้อนที่สังคมไทยและสังคมโลกต่างถกเถียงถึงข้อดี-ข้อเสีย ของเทคโนโลยีในการดัดแปลงพันธุกรรมนี้กันอย่างกว้างขวาง
หลายประเทศ ไม่ยอมรับสินค้าประเภทพืช ผัก และอาหารที่ใช้กระบวนการจีเอ็มโอในขั้นตอนการผลิต ขณะที่ประเทศไทยยังคงเดินหน้าเพาะพันธุ์พืชจีเอ็มโอในแปลงทดลองท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมบางสาย จนกระทั่ง มีมติครม. เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2544 ที่สั่งห้ามทดลองพืชจีเอ็มโอทุกชนิดในไร่นา
พ.ศ.2551 เริ่มต้นศักราชใหม่ พืชจีเอ็มโอกลายเป็นประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป ทว่า นั่นกลับกลายเป็นจุดอ่อนที่นำไปสู่อันตราย หากผู้บริโภคไทยไม่ใส่ใจข้อมูลใหม่ๆ เพราะคิดว่าตนรู้อยู่แล้ว
สถานการณ์พืชจีเอ็มโอในประเทศไทยวันนี้เป็นอย่างไร และท้ายที่สุด เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมนี้เป็นคุณหรือโทษกันแน่? ไปฟังทัศนะจากนักวิจัยที่เห็นด้วยกับการทดลองพืชจีเอ็มโอ และเกษตรกรท้องถิ่นผู้ยังคงยึดมั่นในมิติเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย
ความ "คลางแคลง" ที่ยังไม่จบ
ในวันนี้ คนไทยบางส่วนอาจยังมี “ความกังวล” และเกิดข้อ “ข้องใจ” เกี่ยวกับการดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งเป็นผลผลิตจากการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม หรือเทคนิคการตัดต่อยีน ที่มีทั้งในพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ให้มีคุณลักษณะที่จำเพาะเจาะจงตามที่ต้องการ เช่น ต้านทานแมลงศัตรูพืช คงทนต่อสภาพแวดล้อม หรือเพิ่มสารโภชนาการบางชนิด เทคนิคตัดต่อยีนนี้เรียกกันว่า “จีเอ็มโอ (GMOs – Genetically Modified Organisms)”
ที่สำคัญเทคโนโลยีจีเอ็มโอ เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตร จึงเกิดคำถามว่าอาหาร พืช หรือผลผลิตจากจีเอ็มโอ จะปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ...
“พืช GMOs ส่งผลต่ออาหารปลอดภัยอย่างไร ?” จึงกลายเป็นประเด็นที่ได้ถูกหยิบยกมาร่วมแลกเปลี่ยนในงานสร้างสุขภาคกลาง ภายใต้แนวคิด “สุขอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานพอเพียง” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับภาคีสมัชชาสุขภาพภาคกลาง 26 จังหวัด เพื่อร่วมกันเสนอรูปธรรมและประสบการณ์ข้อมูลข่าวสารและปัญหาที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
เพราะในสังคมสมัชชาสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ 26 จังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ล้วนประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ผลิตพืชผักซึ่งเป็นอาหารมาสู่ผู้บริโภคอย่างเราๆ เมื่อมีการนำเทคโนโลยีจีเอ็มโอเข้ามาใช้ในภาคเกษตร ภาคสังคมจึงควรได้ทำความเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียอันเป็นผลกระทบที่อาจตามมากับภาคเกษตรของไทยด้วยเช่นกัน ในเวทีวิชาการงานสร้างสุขภาคกลางจึงได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน
ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการทดลองพืชจีเอ็มโอ คือ ฝ้าย พริก มะเขือเทศ และมะละกอ ซึ่งประสบความสำเร็จไปถึง 90% แต่ถูก “คัดค้าน” จาก “กลุ่มเอ็นจีโอ” กระแสคัดค้านในช่วงเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา รุนแรงมาก รัฐบาลต้องหยุดการทดลองไว้ทั้งหมด
ผลจากการคัดค้านทำให้ผู้บริโภค ต้องรับประทานผลไม้ที่มีสารพิษเหมือนเดิม แทนที่จะได้รับประทานผลไม้ปลอดสารพิษ ตามหลักการทดลองพืชทางวิชาการจะต้องทำการทดลองอย่างน้อย 2 ฤดูกาลของพืชนั้น ซึ่งมะละกอออกผลครั้งแรกภายใน 7 เดือน นั่นก็หมายความว่าในเวลา 2 ปี เราสามารถทดลองได้กว่า 90% โดยพบว่ามีความปลอดภัย แต่เหลือเพียงการปลูกในแปลงทดลองซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย จึงทราบถึงความปลอดภัยที่จะอนุญาตให้ประชาชนนำไปรับประทานได้ แต่กลับต้องหยุดการทดลองไป จึงทำให้อะไรหลายอย่างต้องหยุดชะลอไปด้วย
ดร.บุญญานาถ ยกตัวอย่างของการทำ “มะละกอจีเอ็ม” ว่า ที่ผ่านมามะละกอมีโรคมากมายแต่โรคที่พบบ่อยที่สุดก็คือ ไวรัสใบด่างจุดวงแหวน ถ้าไปตามภาคเหนือ อีสาน กลาง มะละกอ ปลูกไม่ได้ไวรัสระบาดไปหมด ทำให้ผลผลิตตกต่ำ รูปทรงเบี้ยว ติดโรค เป็นต้น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2519 มีเกษตรกรเข้าไปร้องเรียนกับกระทรวงเกษตรว่ากำลังถูกไวรัสชนิดนี้โจมตี จึงได้มีการคิดค้นหาวิธีการแก้ไข โดยเอาเกสรของมะละกอพันธุ์ต่างๆมาผสมกันเพื่อป้องกันไวรัสดังกล่าวแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นการเดินมาผิดทาง ปัจจุบันมีการย้ายไปปลูกที่ชุมพร ก็เกิดการถางป่าปลูกมะละกอ แม้จะเป็นทางเพื่ออยู่รอดแต่ก็ต้องสูญเสียป่าไปด้วย
“จากการศึกษาทางด้านพันธุวิศวกรรมพบว่ามะละกอมีระบบในการป้องกันและปราบศัตรูอยู่แล้ว แต่ในตัวของมันทางชีว มันไม่สามารถทราบว่าใครบ้างที่จะเข้ามาเป็นศัตรู เวลาเพลี้ยอ่อนไปกินน้ำเลี้ยงจากต้นที่ติดโรคก็จะเอาเชื้อไวรัสติดมาด้วย เอาเชื้อมาแพร่ต้นอื่นๆ พอเพลี้ยจับไม่กี่วินาทีก็จะปล่อยเชื้อไวรัสเข้าต้นมะละกอ การใช้สารเคมีเมื่อพ่นไปแล้วเพลี้ยตายก็จริงแต่ไวรัสก็จะค้างอยู่ในต้น รวมทั้งสารเคมีก็สะสมในพืชและดินด้วย จึงได้มีการพัฒนามะละกอจีเอ็ม ต้านโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน โดยการตัดเอาเฉพาะส่วนหน้าของไวรัสเข้าไปต่อกับสารพันธุกรรมของมะละกอ เพื่อให้มะละกอรู้จักหน้าตาของไวรัสและเตรียมตัวป้องกัน เมื่อมะละกอจีเอ็มเจอไวรัสซึ่งเป็นศัตรูจึงเอาระบบที่สร้างมาเข้าไปทำลาย”
ดร.บุญญานาถ ย้ำว่า อยากจะให้ประชาชนทุกคนทราบว่าไวรัสที่เป็นศัตรูของพืชจะทำลายเฉพาะตระกูลของพืชเท่านั้น จะไม่ข้ามไปสู่คน และสัตว์ จึงอยากจะให้ประชาชนทุกคนเปิดใจกว้าง เพราะการทดลองทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประเทศ จากเหตุการณ์หยุดทดลองมะละกอจีเอ็มโอ ประเทศไทยต้องเสียนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญไปเป็นจำนวนมาก หากผลการทดลองมะละกอ ไม่ปลอดภัย รัฐบาลคงไม่อนุญาตให้เข้าไปสู่ตลาดได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลสรุป บางคนก็ตัดสินแล้วว่าจีเอ็มโอไม่ปลอดภัย
การทำจีเอ็มโอ ในมะละกอจึงเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ลดต้นทุนการใช้สารเคมีฉีดพ่น การทำพืชจีเอ็มโอจึงต้องมีการเลือกพืชที่เป็นปัญหามากเท่านั้น แม้ว่าอนาคตมะละกอจีเอ็มเมื่อผ่านทดสอบทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่ใช่ว่าจะซื้อขายส่งออกกันได้เลย รัฐบาลจะต้องมาพิจารณาในแง่ของความเหมาะสมในแง่ของเศรษฐศาสตร์และสังคมด้วย
ย้ำ "ข้าวไทย" ปลอดจีเอ็มโอ
เมื่อปีที่แล้ว บริษัทผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของโลก 41 บริษัท รวมตัวกันออกแถลงการณ์ปฏิเสธการซื้อข้าวที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอ ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ กลับพยายามผลักดันให้มีการยกเลิกมติครม.ที่ห้ามทดลองพืชจีเอ็มโอทุกชนิดในไร่นา
หลายคนจึงพลอยเป็นกังวลเกี่ยวกับการทำจีเอ็มโอใน"ข้าว" ซึ่งเป็นอาหารหลักของไทยด้วยเช่นกัน... ซึ่งกรณีนี้ นักวิจัยไบโอเทคชี้แจงว่า
“นโยบายของประเทศไทย เรื่องข้าวจีเอ็มโอ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นตรงกันว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งพันธุ์ข้าว จะไม่เข้าไปแตะต้องเรื่องการทำจีเอ็มโอในข้าว” ดร.บุญญานาถ กล่าว
นักวิจัยไบโอเทคย้ำว่า เพราะไทยมีวิธีอื่นในการปรับผสมพันธุ์ข้าว แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าเราทำอะไรแล้วจะช่วยในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยได้ แต่ถ้าต่อไป ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม โดยเฉพาะในเวียดนามก็เป็นแหล่งพันธุ์ข้าวเหมือนกับไทย เขาก็ทำจีเอ็มโอข้าวกันแล้ว และจีนด้วยเช่นกัน ในอนาคตหากไทยไปเปิดเสรีทางการค้ากับจีนหรือเวียดนาม แล้วข้าวจีเอ็มโอของประเทศเหล่านี้เข้ามาในไทยเราจะทำอย่างไร ดังนั้นทุกคนต้องทำความเข้าใจในเทคโนโลยี ในขณะที่ต้องมีการระวังไปพร้อมๆกัน
จีเอ็มโอ...ได้คุ้มเสีย?
เทคโนโลยีจีเอ็มโอ นับเป็นมุมมองการพัฒนาทางพันธุวิศวกรรม และทางวิชาการที่ได้มีการศึกษามาบ้างแล้ว แต่ในปัจจุบันได้เกิดคำถามขึ้นว่าในเมื่อทางวิชาการศึกษาดีแล้ว ทำไมจึงยังมีปัญหาและเกิดความขัดแย้งในสังคมมากมายในเรื่อง “พืชจีเอ็มโอ”
ศ.ดร.จรัญ จันทลักขณา อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในวันนี้ต้องยอมรับว่างานด้านวิชาการในประเทศไทยพัฒนาขึ้นมาก ในเชิงวิชาการสิ่งมีชีวิตสามารถดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อพัฒนาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย มีการวิจัย ศึกษา ค้นคว้า ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วมุมมองที่กำลังเป็นปัญหาทุกวันนี้คืออะไ
ร
คำตอบก็คือ หนึ่ง ความปลอดภัยทางด้านอาหาร ถ้าวันหนึ่งถามว่าการรับประทานพืชจีเอ็มโอที่สามารถป้องกันแมลงได้คนจะได้รับสารพิษด้วยหรือไม่ ในขณะนี้ตอบไม่ได้ เพราะยังไม่มีงานวิจัยในระยะยาวมาตอบได้ว่าถ้ากินพืชดัดแปรพันธุกรรมเข้าไปวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทางทวีปยุโรปหลายประเทศจึงได้ห้ามปลูกพืชจีเอ็มโอจะปลูกหญ้าดัดแปรพันธุกรรมเลี้ยงวัวก็ไม่ได้ สลัดผลไม้ถ้ามีมะละกอจีเอ็มเข้ามาทางยุโรปก็ไม่รับ จะตอบว่าปลอดภัยก็ไม่ได้ ในหลายประเทศจึงตอบโจทย์ของปัญหานี้ว่า ถ้าจะขายอาหารหรือสินค้าจีเอ็มโอก็ต้องติดฉลาก รวมทั้งต้องให้การศึกษาให้ความรู้ว่าการบริโภคอาหารจีเอ็มโอเข้าไปอาจมีความเสี่ยงเนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในระยะยาวว่าปลอดภัย 100% ถ้าคุณเลือกบริโภคจึงอาจมีความเสี่ยงเอง
“สอง ความมั่นคงทางด้านอาหาร ตัวอย่างข้าว ซึ่งเป็นอาหารประจำชาติ ข้าวที่ว่าเป็นหัวใจขณะนี้ต่างประเทศได้เอาของเราไปแล้ว เช่น หอมมะลิ ถูกเอาไปดัดแปรพันธุกรรมแล้วยึดไปเป็นสมบัติของเขาด้วยวิธีทางกฏหมายนานาชาติ เอาไปจดทะเบียน โดยเอาข้าวมาทำเพื่อป้องกันแมลง โดยการตัดยีนผสมกับแบคทีเรียให้ผลิตสารพิษป้องกันแมลงเอาไปใส่ไว้ในต้นข้าว แต่ถ้าจะเอาพันธุ์ข้าวหรือพันธุ์พืชผสมกับแบคทีเรีย ซึ่งมีขนาดเล็กมันทำไม่ได้ แต่จีเอ็มโอทำได้ ในต่างประเทศได้นำไปทำกันก่อนเพราะมีเงินทุน มีนักวิชาการเป็นร้อยเป็นพัน เอายีนแบคทีเรียไปใส่ในต้นข้าวจึงผลิตสารพิษมาป้องกันตัวเองให้ปราศจากแมลง” ศ.ดร.จรัญ กล่าว
ศ.ดร.จรัญ ยกตัวอย่างด้านการละเมิดสิทธิในทางกฏหมายซึ่งอาจเป็นผลต่อความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต ว่า ในต่างประเทศมีแปลงเกษตรปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่อีกแปลงหนึ่งปลูกพืชพันธุ์พื้นเมือง ปรากฎว่าละอองเกสรจากแปลงจีเอ็มโอปลิวข้ามไปผสมพันธุ์กับพืชทั่วไปที่เป็นชนิดเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากลม แมลง หรือสัตว์อื่นเป็นพาหะ ทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนขึ้นเมื่อบริษัทที่มีแปลงปลูกพืชจีเอ็มโอ ฟ้องร้องแปลงเกษตรข้างเคียงว่ามียีนพันธุกรรมที่เป็นของบริษัทอยู่ ศาลจึงมีคำสั่งให้ห้ามเจ้าของแปลงที่ปลูกพืชพันธุ์พื้นเมืองเก็บพันธุ์พืชดังกล่าวในแปลงของตนเอง
จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่า เกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิ พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทดลองในประเทศไทยทั้งหมดเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิทธิในหลายลักษณะ เช่น สิทธิบัตรในยีนหรือกระบวนการวิจัยเป็นของบริษัทต่างชาติ การปนเปื้อนทางพันธุกรรมอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยเกษตรกรอาจกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท เอกชนซึ่งเป็นเจ้าของพันธุ์พืชจีเอ็มโอ ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองหรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ศ.ดร.จรัญ บอกว่า หากมามองประเด็นนี้ในประเทศไทยหากพันธุ์ข้าวไทยดี ที่เป็นของตาสีตาสาไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวของตัวเองเอาไว้ได้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ไทยมีพันธุ์ข้าวนับพัน ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ไม่มีพันธุ์ข้าวเลยแล้วเกิดเอาของเราไปดัดแปรพันธุกรรม นำกลับมาขายที่บ้านเราหากเกิดยีนปลิวมาผสมพันธุ์กับข้าวพื้นเมือง อย่างนี้เราก็แพ้อย่างเดียว เพราะเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เกษตรกรที่ทำนาในวันนี้จึงต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง ซึ่งมีมาแต่บรรพบุรุษ ถามว่าประเทศไทยเตรียมพร้อมในการป้องกันปัญหานี้แล้วหรือยัง เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร การเดินหน้าจีเอ็มโอต้องระวังการตกเป็นเครื่องมือและเดินตามหลังต่างชาติ
ด้าน นายแมน ภูผา ผู้ใหญ่บ้านหนองกระโดนมน ต.หนองโพธิ์ อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ได้ย้อนมุมมองในมิติเกษตรกรรมดั้งเดิมว่า หลักกสิกรรมธรรมชาติตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่าของเราการปลูกพืชจะใช้หลัก คนเลี้ยงดินบำรุงรักษาดิน เพื่อให้ดินเลี้ยงพืช และพืชก็มาเลี้ยงคนสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงและหลักพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 ในการแก้ปัญหาทุกข์ให้กลับไปดูที่ต้นเหตุ
ผู้ใหญ่แมน กล่าวว่า เมื่อพืชจีเอ็มโอ ยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยอย่างแท้จริง การทำเกษตรโดยใช้หลักเกษตรอินทรีย์แบบธรรมชาติ ปลอดสารเคมีน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของความปลอดภัยทางด้านอาหารการทำเกษตรโดยใช้หลักของความพอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฟื้นฟูดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
เช่น ถ้าเห็นว่ามะละกอมีปัญหาไม่ต้องทำจีเอ็มโอ เพราะเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็ม ลิตรละ 1,000-2,000 บาท ซึ่งราคาสูงมาก แต่ถ้าเราใช้ปุ๋ยชีวภาพก็ได้กินลูก ไม่ได้เน้นรสชาติ แต่กินรสชาติแบบดั้งเดิมโบราณ บรรพบุรุษกินอย่างไรเราก็กินแบบนั้น ไปกินตามฝรั่งจะไม่ไหว ขณะที่ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ที่วางขายในซอง เช่น เม็ดฟักทอง เม็ดละ 1 บาท เกษตรกรควรนำเอาเมล็ดพืชผักดั้งเดิมมาสืบสาน ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าวหรือพันธุ์พืชอื่นๆ จะได้ไม่ต้องเป็นเบี้ยล่างของใคร และยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชของไทย ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยแม้จะไม่มีแผ่นกระดาษมารับรองสิทธิ์ก็ตาม
ที่ผ่านมาเราหลงไปเดินตามต่างชาติคล้ายโดนหลอก เช่น การเข้ามาของปุ๋ย MPK ต่อมาก็สะสมทำลายดินทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วถ้านักวิชาการเก่งก็ให้ย้อนไปดูสุขภาพของเกษตรกรไทย ภาครัฐทุ่มเงินนับหมื่นนับแสนล้านสามารถแก้ปัญหาที่ปลายเหตุได้หรือไม่
เจตนารมณ์ของสมัชชาสุขภาพภาคกลางจึงได้เน้นว่า การเกษตรแบบไทย น่าจะเป็นการเกษตรแบบสามารถพึ่งตนเองได้ ที่เรียกว่า แบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ การใช้สารชีวภาพ เป็นนโยบายหลัก ในการทำการเกษตร ในพืชหลักเช่น ข้าว แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้ปฏิเสธพืช GMO ควรศึกษาไว้ เผื่อถ้าภายภาคหน้า โลกของโลกาภิวัตน์ พืช GMO เกิดแพร่หลายมากในประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งกับชาวเกษตรของเรา ถึงเวลานั้น เราอาจต้องหันมาทำการเกษตรแบบ GMOs ในพืชบางประเภท เช่น มะละกอ ก็อาจเป็นได้