xs
xsm
sm
md
lg

เผยร่าง กม.ไบโอเซฟตี ทดลองจีเอ็มโอพลาดโดยไม่เจตนา “ไม่เป็นความผิด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยโฉมร่าง พ.ร.บ.ไบโอเซฟตีฉบับใหม่ แม้มีบทลงโทษหากเกิดความเสียหายจากการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่ไม่เอาผิดผู้ที่ก่อความเสียหายโดยไม่เจตนา หากพิสูจน์ได้ว่าทำตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ อย่างเคร่งครัด ยกไม่ซ้ำรอยมะละกอขอนแก่น

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "มาตรการเพื่อรองรับการทดสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรมในระดับภาคสนาม" ขึ้นเมื่อวันที่ 16 ม.ค.51 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ

ดร.วิเทศ ศรีเนตร นักสิ่งแวดล้อมสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้อภิปรายถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... ซึ่งแบ่งเป็น 9 หมวด 109 มาตรา และอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ทั้งนี้ จุดสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ที่ ดร.วิเทศ กล่าวถึงเช่น การนิยาม “การใช้ในการทดลองภาคสนามในสภาพจำกัด” หมายความว่า การทดลองใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในภาคสนาม ซึ่งมีขอบเขตพื้นที่จำกัดตามความเหมาะสมของคณะกรรมการ ภายใต้เงื่อนไขและสภาพจำกัดที่จะลดและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก และป้องกันการเคลื่อนย้ายของสารพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อม และห่วงโซ่อาหารของมนุษย์และสัตว์

ที่สำคัญในประเด็นความรับผิดชอบและการชดใช้หากเกิดความเสียหายจากการทดลองดังกล่าว ตามมาตรา 82 ของร่าง พ.ร.บ.ระบุไว้ว่า ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต้องรับผิดและชดใช้ความเสียหาย กรณีที่เจตนา ประมาท เลินเล่อหรือละเลย และหากฝ่าฝืนมาตราใน พ.ร.บ.จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งห้ามการใช้

อย่างไรก็ดี ดร.วิเทศ อธิบายว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะคุ้มครองนักวิชาการที่ทำการทดลองโดยไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหาย โดยหากนักวิจัยได้ทำตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่มีการเสนอแก่หน่วยงาน ซึ่งได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแล้ว นักวิชาการนั้นๆ ก็จะไม่จัดเป็นผู้สร้างความเสียหายดังกล่าว ไม่มีความผิด ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งเข้าไปเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นทันที

ทั้งนี้ภายหลังการแจกแจงร่างไบโอเซฟตีฉบับใหม่ ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เขาเองไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่มีบทลงโทษอย่างหนักสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย หากนักวิชาการทำวิจัยแล้วเกิดความผิดพลาดก็จะได้รับโทษมากกว่าโจรปล้นบ้านเสียอีก จึงรู้สึกสงสารนักวิชาการมาก

ดร.อนันต์ ได้ยกตัวอย่างกรณี นางวิไล ปราสาทศรี ผอ.ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตขอนแก่น ซึ่งเคยถูกบุกทำลายแปลงปลูกมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 47 ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีเจตนาทำการวิจัยอย่างบริสุทธิ์ แต่กลับต้องเสื่อมเสียทั้งต่อตัวเองและหน่วยงานต้นสังกัด อีกทั้งยังไม่มีใครปกป้อง จึงอยู่ในสภาพไร้ที่พึ่งใดๆ

สำหรับรายละเอียดกฎหมายในพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... มาตราอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่ ห้ามใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในการทดลองภาคสนามในสภาพจำกัด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการ (มาตรา 31)

ในส่วนนี้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตและการขออนุญาตจะกำหนดในกฎกระทรวงที่ออกโดยรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบตามคำแนะนำของคณะกรรมการ ซึ่งจะกำหนดระยะเวลาสำหรับการพิจารณาไว้อย่างชัดเจนด้วย

ส่วนมาตรา 32 ได้ระบุไว้ว่า ผู้ขออนุญาตใช้ในการทดลองภาคสนามในสภาพจำกัดต้องจัดทำและเสนอแผนการทดลองให้ผู้ขออนุญาตเสนอมาตรการการดำเนินงานควบคุมและลดความเสี่ยงตามแผนดังกล่าวก่อนการทดลอง ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณาอนุญาต รายละเอียดและแผนการทดลองและขั้นตอน หลักเกณฑ์ต้องมีข้อมูลครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

มาตรา 33 หน่วยงานผู้รับผิดชอบต้องพิจารณาแผนการทดลองและมาตรการการดำเนินงานควบคุมและลดความเสี่ยงที่ผู้ขออนุญาตยื่นเสนอ โดยใช้หลักเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติที่รัดกุม โดยให้เป็นไปตามที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

มาตรา 34 ระบุว่า เมื่อผู้ใช้ได้รับอนุญาตการใช้ในการทดลองภาคสนามในสภาพจำกัดแล้ว ถ้าต่อมาผู้ใช้มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปหรือเหตุสำคัญที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขอนามัย ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งห้าม การใช้ หรือสั่งแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขการใช้ได้ตามความจำเป็น

มาตรา 35 ในกรณีที่ผู้ใช้ในการทดลองภาคสนามในสภาพจำกัดได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขโดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่หากมีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในภายหลังบ่งชี้ว่าการใช้ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขอนามัย หน่วยงานผู้รับผิดชอบอาจมีคำสั่งให้ยกเลิกการใช้ ทั้งนี้ต้องระบุเหตุผลของการยกเลิกการอนุญาตด้วย

ส่วนที่ 7 การดูแล ขนส่ง เคลื่อนย้าย นำผ่าน เก็บรักษา บรรจุหีบห่อ กำจัด และจำแนกระบุ มาตรา 59 ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจกรรมสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผู้นำผ่านตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหน้าที่ต้องดูแล ขนส่ง เคลื่อนย้าย เก็บรักษา บรรจุหีบห่อ กำจัด และจำแนกระบุด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ปลอดภัย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบกำหนดตามคำแนะนำของคณะกรรมการ

มาตรา 60 ผู้ได้รับอนุญาตการใช้และประกอบกิจกรรมสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ต้องจำแนกระบุสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมขณะที่อยู่ในความครอบครองได้ การจำแนกระบุอาจเป็นฉลากหรือเอกสารกำกับหรือหลักฐานอื่นใดเพื่อสามารถแสดงแหล่งที่มา และการสืบค้นย้อนกลับได้ตลอดเวลาที่ครอบครองนั้น

มาตรา 61 ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ต้องจัดทำแนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่เจตนา

แนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่เจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

มาตรา 62 ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่เจตนา ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมต้องแจ้งเหตุฉุกเฉินดังกล่าวให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบทราบทันที และต้องให้ความร่วมมือ รวมถึงให้ข้อมูลที่จำเป็นกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับความเสียหายหรืออันตรายที่เกิดขึ้น

หมวด 4 การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มาตรา 63 เมื่อมีเหตุฉุกเฉินและการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่เจตนา ซึ่งหากปล่อยไว้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพย์สินของรัฐหรือของประชาชนเป็นอันมาก หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับเหตุฉุกเฉินนั้นได้

มาตรา 64 บุคคลมีสิทธิแสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ และได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องดังกล่าว เว้นแต่ข้อมูลหรือข่าวสารทางราชการถือว่าเป็นความลับเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือเป็นความลับเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในทรัพย์สิน หรือสิทธิในทางการค้า หรือกิจการของบุคคลใดที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอื่น

หมวด 8 ความรับผิดและการชดใช้ความเสียหาย มาตรา 82 ผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย หมายถึง ผู้ใดซึ่งมีสถานะในการควบคุมการดำเนินการขณะเกิดเหตุการณ์ที่ก่อความเสียหาย ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต้องรับผิดและชดใช้ความเสียหาย กรณีที่เจตนา ประมาท เลินเล่อหรือละเลย และทำให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงจาการดำเนินการใดๆ ของตน

กรณีที่มีผู้ก่อให้เกิดความเสียหายจากเหตุการณ์หนึ่งมากกว่าหนึ่งราย ความรับผิดจะแบ่งกันตามสัดส่วนของความเสียหายร่วมกัน และการประเมินค่าความเสียหายก็จะแบ่งตามสัดส่วนการดำเนินการของผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่ละรายด้วย

หมวด 9 บทกำหนดโทษ มาตรา 93 ผู้ใดใช้ในการทดลองภาคสนามสภาพจำกัดฝ่าฝืนมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งห้ามการใช้

มาตรา 94 ผู้ใดปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยเจตนาฝ่าฝืนมาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 98 ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดละเลยหน้าที่ตามมาตรา 59 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 101 ผู้แจ้งหรือผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และมาตรา 102 ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 62 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีขึ้นภายหลัง ครม.มีมติให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอระดับแปลงเปิดของหน่วยงานราชการได้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.50 เป็นเวลาประมาณ 22 วัน ภายในงานมีเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้แทนหอการค้าไทย บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ตลอดจนตัวแทนกลุ่มเกษตรผู้ปลูกมะละกอ เข้าร่วมงานเกือบ 50 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น