นักพฤกษศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ยังเร็วเกินไปหากไทยริอ่านจะใช้พืชจีเอ็มโอ เหตุเสี่ยงต่อการสูญเสียพันธุ์พืชดั้งเดิม ต้องพึ่งพาต่างชาติ เชื่อเพียงระบบการผลิตที่ดีพอก็นำพืชผลอินทรีย์ไทยสู่ชั้นสินค้าพรีเมียมได้
เมื่อช่วงสายวันที่ 5 ม.ค. ในรายการ “ทันโลกวิทยาศาสตร์” ทางคลื่นสถานีวิทยุจุฬาฯ เอฟเอ็ม 101.5 เมกะเฮิร์ซ ดำเนินรายการโดย ผศ.มานิต รุจิวโรดม ได้สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวว่า จีเอ็มโอคือการพัฒนาสิ่งมีชีวิตให้มีคุณลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ ด้วยความก้าวหน้าทางพันธุศาสตร์ที่เน้นเป้าหมายด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ไม่ได้มองธรรมชาติเป็นตัวตั้ง โดยการตัดต่อยีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งให้แก่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ตามแต่จะต้องการ มีประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาพืชจีเอ็มโอ และนำออกสู่เชิงการค้าเป็นรายแรก
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ มองว่า องค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยพัฒนาพืชจีเอ็มโอยังเป็นเพียงส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับส่วนที่ยังไม่มีคำตอบ ซึ่งยังมีอีกหลายปัจจัยที่มนุษย์ยังศึกษาไปไม่ถึง เช่น การปรับตัวของยีนในสิ่งมีชีวิตที่ต่างออกไป ที่แม้นักวิจัยจะมีวิธีการคัดเลือกและตรวจสอบจนออกมายืนยันแล้ว ทว่าก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยมักรีบเร่งนำออกใช้ประโยชน์ก่อนที่จะย้อนศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านในภายหลัง ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนัก
สำหรับพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ มองว่า อาจนำไปสู่การสูญเสียการพึ่งพาตัวเอง เนื่องจาก 90% ของเทคโนโลยีจีเอ็มโอ ไทยต้องพึ่งพาต่างชาติ จึงเร็วเกินไปที่จะเดินหน้าเต็มตัวในขณะนี้ ทั้งที่ประเทศไทยมีความหลากหลายของพืชพันธุ์มาก และได้ตั้งเป้าหมายเป็นครัวของโลกด้วยต้นทุนทรัพยากรการเกษตรที่มีอยู่
การใช้พืชจีเอ็มจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียพืชพันธุ์ธรรมชาติแท้ๆ ไปเป็นของต่างชาติเนื่องจากการปนเปื้อน มีการฟ้องร้องคดีความในศาลติดตามมา อีกทั้งยังเพิ่มภาระแก่ผู้ส่งออกสินค้าการเกษตรไปยังต่างประเทศที่ชาติที่พัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นจะปฏิเสธพืชจีเอ็มโอ
"ประเทศพัฒนาแล้ว ที่เลือกได้จึงไม่เอาพืชจีเอ็มโอ ระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป ส่วนประเทศที่เลือกไม่ได้ หรือกฎหมายยังไม่แข็งแรง และผู้บริโภคยังไม่ให้ความใส่ใจ เช่น ไทย ก็อาจมีการนำมาใช้งาน เช่น การนำเข้าถั่วเหลืองจีเอ็มโอเพื่อการบริโภค แต่ยังไม่ให้ทดลองในแปลงเปิด เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน" อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์กล่าว
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ยังเชื่อมั่นด้วยว่า การพัฒนาระบบการผลิตพืชผลของไทยยังเติบโตได้อีกมาก แม้ไม่ต้องใช้พืชจีเอ็มโอ เช่น การพัฒนาระบบการผลิตและการตรวจสอบย้อนกลับได้ ที่จะยกระดับสินค้าเกษตรปลอดจีเอ็มโอของไทยสู่การเป็นสินค้าเกรดดีของประเทศคู่ค้า