xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนปีในเก้าอี้รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ "ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชื่อของ “ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์” เป็นที่รู้จักอย่างดีในวงการ กว่า 40 ปีในหมวก “นักวิทยาศาสตร์” ที่แต่ละวันขลุกอยู่ในห้องแล็บกับการไขว่คว้าหาความรู้ และวิทยาการที่ตัวเองหลงใหลมาตั้งแต่วัยหนุ่ม จนมาเป็นผู้เชี่ยวชาญไบโอเทคชนิดหาตัวจับยาก กระทั่งตำแหน่งการเมืองอย่าง “รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ก็มาเคาะประตูบ้านแบบไม่คาดฝัน

ใครๆ ก็ยกให้เขาเป็นเสมือน “เสาหลัก” แห่งวงการวิทยาศาสตร์ไทย ไม่เพียงแค่ผลงานด้านมาลาเรียที่โดดเด่น ในฐานะนัก “ชีวเคมี” แต่ด้านนโยบายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทย เขายังก็ยังเป็นแกนหลักที่นำไปสู่การจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน รวมทั้งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และตามมาด้วยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส สวทช.เป็นสถานภาพสุดท้ายก่อนก้าวสู่ที่นั่งทางการเมือง

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาปีกว่าๆ แล้วที่นักวิชาการวัย 63 ปีผู้นี้ร่วมเป็นหนึ่งในทีม “ขิงแก่” รัฐบาลที่นับได้ว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญศาสตร์ต่างๆ อย่างหลากหลาย แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอ่อนด้อยในการบริหาร

ในวาระการจากไปของปีเก่าและก่อนจะอำลาตำแหน่งให้กับผู้บริหารคนใหม่ หลังการเลือกตั้งผลิดอกออกผล “ทีมข่าววิทยาศาสตร์” จึงได้สนทนากับ “ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์” บนเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงที่เขาเคยผลักดันให้เกิดขึ้น ด้วยความสนใจว่าเส้นทาง “การเมือง” กับ “วิจัย” แบบไหนจะเย็นยากหนักใจได้มากกว่ากัน

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: หนึ่งปีกว่าๆ ในตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างไรบ้าง?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ก็รู้สึกว่าแปลกไปจากงานประจำของตัวเองที่ทำเรื่องตัวงานวิทยาศาสตร์เอง แต่นี่เป็นการบริหารงานวิทยาศาสตร์ ก็รู้สึกดีที่ได้มีประสบการณ์และหวังว่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์จากประสบการณ์ตรงนี้ เพราะว่ามันมีข้อได้เปรียบที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เข้าใจประเด็นต่างๆ ได้เร็วขึ้น

ก็พอใจนะ เพราะผมเป็นคนที่ไม่ค่อยขี้บ่นอะไรนัก คือสภาพทางวิทยาศาสตร์ของไทยก็ยังไม่ค่อยดีนัก เรื่องการบริหารก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ แต่ว่าพอใจในแง่ที่ว่าถ้ามันเพอร์เฟ็กซ์แล้วเราก็ไม่ต้องทำอะไร แต่นี่เนื่องจากมันมีอยู่หลายอย่าง พอเข้ามาแล้วก็เห็นว่าระบบการบริหารมันไม่ค่อยดี ต้องการมีกฎหมายที่จะเข้ามาทำให้มันดีขึ้น เพราะว่ากฎหมายหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ยังไม่มี มีแต่กฎหมายตั้งหน่วยงาน อย่างนี้เป็นต้น จึงเข้ามาดูเรื่องกฎหมายหลัก เข้ามาดูเรื่องจัดตั้งหน่วยงานใหม่ๆ หลายหน่วยที่ยังไม่เรียบร้อยก็ทำให้มันเรียบร้อย จึงเป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องของหน่วยงาน และเรื่องของการผลักดันโครงการต่างๆ ที่มีเนื้อหาทางเทคโนโลยี

ไม่ว่าจะเป็นแบบของเดิม เช่น นาโนเทค และวัสดุศาสตร์ อะไรพวกนี้ก็ผลักดันเข้าไปให้เป็นแผนที่เป็นรูปธรรม และของใหม่ๆ ที่ในเวลาไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้านี้ ระหว่างที่มีเวลาเหลือเราก็หวังว่าจะได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (การศึกษาเตรียมการโรงไฟฟ้า) นิวเคลียร์ที่ก็ผ่านไปแล้ว ส่วนเรื่องจีเอ็มโอ (การอนุมัติทดสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรมระดับแปลงเปิด) สงสัยสังคมยังไม่เข้าใจ ผมไม่แน่ใจ ท่านนายกฯ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) อาจจะไม่ยอมให้เข้าไป (สัมภาษณ์ก่อนมีมติ ครม.เมื่อ 25 ธ.ค.ให้มีการทดสอบภาคสนามในแปลงเปิดของราชการได้)
 
แต่ผมก็ยังเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ที่เราต้องจับเข้าไว้ ยุทธศาสตร์หุ่นยนต์แห่งชาติก็กำลังส่งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และมีเรื่องวิทยาการด้านโลกร้อนที่ทำร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.- อีกกระทรวงที่ได้รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรี) และเรื่องของยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ ของพวกนี้เราจะต้องดำเนินการให้มีการเตรียมตัวสำหรับอนาคตของเรา

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: ก่อนที่จะมานั่งเก้าอี้ รมต.คิดว่าตำแหน่งนี้มันเป็นอย่างไร และเมื่อได้เข้ามาสัมผัสด้วยตัวเองเป็นเวลาปีกว่าๆ แล้วรู้สึกเหมือนหรือต่างจากที่คิดไว้อย่างไรบ้าง?

ศ.ดร.ยงยุทธ: คือบังเอิญผมค่อนข้างคุ้นกับกระทรวงนี้อยู่แล้ว ก็เลยพอจะรู้ว่าประเด็นหลักๆ มันมีอะไรบ้าง แต่ไม่เคยเข้ามาถึงจุดนี้ ก็ดีตรงที่ว่าได้เห็นภาพใหญ่และภาพที่วิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของการบริหารรัฐ จุดที่สำคัญก็คือเมื่อก่อนหน้านี้ผมก็มักจะเอาแต่ด้านซัพพลายพุช (Suppy Push) หมายความว่าทำวิทยาศาสตร์ให้ดีที่สุด ผลิตกำลังคน สร้างอะไรที่จะสนอง (งานด้านวิทยาศาสตร์) แต่พอเข้ามาจุดนี้ก็เห็นด้วยว่าดีมานด์พูล (Demand Pull) คือการที่มีความต้องการวิทยาศาสตร์จากสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราทำวิทยาศาสตร์ให้ดีที่สุดแต่ถ้าไม่มีคนต้องการก็ไม่มีประโยชน์

ทั้งนี้ การตลาดก็เป็นเพียงส่วนเดียว เพราะผมมองว่าสังคมที่ต้องการวิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่เชิงการตลาดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำทันตกรรมแบบใหม่ ไม่ใช่เชิงจะเป็นเรื่องการตลาด แต่เป็นเรื่องสนองความต้องการของผู้มีอายุสูงขึ้นซึ่งสังคมไทยก็มีมากขึ้น และเรื่องของคนพิการ ฯลฯ คือรวมกลุ่มผู้ที่ไม่กำลังจ่ายไปด้วย หากพูดถึงเรื่องการตลาดอย่างเดียวจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเงินมากไปหน่อย คือต้องเป็นเรื่องของการสาธารณะประโยชน์หลายๆ เรื่องด้วยกัน

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: ต่างจากตอนเป็นผู้บริหารคนแรกของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อย่างไร?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ตอนที่เป็น ผอ.สวทช.นั้น ตอนนั้นผมเป็นผู้บริหารที่มีความใกล้ชิดกับตัววิทยาการ เราต้องทันสมัยหรือมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เต็มที่ แต่ตรงนี้ อันนั้นจะไม่สำคัญเท่ากับการมองเห็นกว้าง ดังนั้นเรื่องตัวเทคนิคนี่ผมสามารถถาม อ.ศักรินทร์ (รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช.คนปัจจุบัน) ได้ แต่ตรงนี้ผมจะดูภาพอย่างกว้างๆ ว่าวิทยาการนั้นๆ จะเอาไปทำอะไร ใช้อะไรได้ ประเทศมีความต้องการไหม

บางทีบางอย่างเป็นเทคโนโลยีที่มีความสวยงามมากแต่ประเทศเรายังไม่ถึงจุดที่จะเอาไปใช้อะไรได้ อย่างนาโนเทคหลายอย่างที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งคนไทยยังเพิ่งรู้จัก ในที่สุดคนไทยก็ยังทำได้แค่เอามาเคลือบเสื้อ มันยังทำอะไรไม่ได้หลายอย่าง ยังทำอะไรได้น้อย คล้ายๆ ก้าวไปสองก้าวถอยหลังกลับมาก้าวหนึ่ง หรือก้าวไปสองก้าวแต่ถอยหลังกลับมาตั้งสามก้าว แต่ในที่สุดมันก็จะก้าวไปข้างหน้า แม้มันจะเร็วก็จริง แต่มันก็ไม่เร็วขนาดนั้น เพราะมีการก้าวผิดก้าวถูก มันเลยดูเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แต่จริงๆ แล้วมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะ

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: ผลงานชิ้นไหนที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงขณะที่อยู่ในตำแหน่ง?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ผมคิดว่าคงต้องเป็นกฎหมาย (พระราชบัญญัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ...) ที่เพิ่งผ่าน (สภา) ไป และจะนำทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้ ซึ่งตรงนี้มันจะสร้างระบบให้มีการทำนโยบายที่ดี และมีการปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกำลังคนที่ดี และกฎหมายนี้ยังสามารถเพิ่มเติมได้ในอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่องกำลังคนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการทำระบบให้มีความร่วมมือระหว่างเอกชนกับภาครัฐให้ดีขึ้น คือมันเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาต่อไป

จริงอยู่สำหรับคนทั่วไปอาจบอกว่า "ว้า!!!" มันรู้สึกเป็นนามธรรมจังเลย แต่ถ้าเผื่อจะถามอะไรที่มันก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมไปเลย ผมก็คงต้องพูดในทำนองที่ว่าเรื่องของการดึงให้คนโดยเฉพาะเยาวชนมีความสนใจเลือกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอาชีพของเขา หรือมีความสนใจ มีความตระหนักในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น อย่างเรื่องวันเด็กที่จะถึงในอีกไม่กี่วันแล้ว เป็นเรื่องการปลูกฝังปัญญาเยาว์ที่ควบคู่กับโครงการบำรุงเฝ้าปัญญายืน และเรื่องมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเดือนสิงหาคมที่มีคนมาเป็นล้าน ซึ่งถือว่าเราลงไปเยอะ หรือวันเทคโนโลยีที่มีคนสนใจเยอะ มากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้เห็นว่าเรามีคนสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ว่าในขณะเดียวกันก็มีข้อผิดหวังอยู่ด้วยเพราะมันยังไม่มากอย่างที่เราอยากเห็น ยังมีคนที่เข้าใจผิด รวมทั้งผู้ใหญ่ด้วยที่เข้าใจผิดแล้วก็มองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเชิงร้าย คือมักจะมองในเรื่องของความเสี่ยงและผลเสียมากกว่าจะจับมาชั่งดีๆ ว่า แม้จะมีข้อเสียและมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่มันก็มีข้อดีมากพอที่น่าจะรับได้ ทั้งเรื่องนิวเคลียร์ จีเอ็มโอ คุณจะสังเกตว่ามีหลายคนที่พอมีของใหม่เขาก็ออกมาต่อต้านก่อน นาโนเทคตอนนี้ก็เริ่มมีการต่อต้านกันบ้างว่าอาจจะไม่ค่อยปลอดภัย

ผมไม่ได้ว่าอะไรพวกนี้เลยนะ และผมว่าบางทีเราต้องฟังเขา แล้วไปดูให้มันปลอดภัย ก็ดีที่มีคนคัดค้าน แต่ถ้าเผื่อทุกคนคัดค้านหมดมันก็แย่ (ทำเสียงอ่อย) ที่จะทำอะไรไม่ได้ และบังเอิญที่เราไม่ค่อยมีความสำเร็จที่จะชี้ให้เห็นว่าประเทศอื่น สังคมอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกับเรา เขายังรับได้ และดูว่าเขาจะไปได้ไกลกว่าเรา อันนี้ก็ทำได้เท่านี้

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: มองว่าเพราะเหตุใด วิทยาศาสตร์บ้านเราจึงเน้นไปทางนวัตกรรมที่ขายได้มากกว่าที่จะเป็นตัวงานวิจัยเอง?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ก็เพราะว่าสังคมก็คาดหวังอย่างนั้นไง คนก็ต้องพยายามทำเช่นนั้น เพราะงานวิจัยเฉยๆ กว่ามันจะไปถึงจุดที่ใช้ประโยชน์ได้ต้องใช้เวลานาน เราต้องมีอยู่แต่ต้องไม่มีมากนัก อย่างผมเองเป็นนักวิจัยขั้นพื้นฐาน แต่ก็บอกว่างานวิจัยขั้นพื้นฐานในเมืองไทยมี 10 -20% ก็ใช้ได้แล้ว พอแล้ว เพราะว่าถ้าทำมากเกินไป คนก็จะอดรนทนรอไม่ได้ว่าเมื่อไรจะเห็นผลสักที ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วก็ทำกันที่ปลายทาง

ผมชอบวาดว่าออกมาเป็นรูปต้นไม้ซึ่งมีราก มีต้น มีใบ กิ่ง และในที่สุดก็ลูกไม้ (ทำมือประกอบ) ทุกคนอยากเห็นลูกไม้ เวลาปลูกต้นไม้แล้วต้องการให้เป็นต้นไม้ที่มีแต่ลูกไม้มันก็เป็นไปไม่ได้ มันต้องมีทุกอย่าง ดังนั้นเราต้องทำ (งานวิจัยพื้นฐาน) และก็แน่นอนต้องการให้เป็นต้นไม้ที่มีผลมากที่สุดก็ต้องทำ

ถูกต้องแล้วและไม่ผิดที่ประชาชนจะอยากเห็นอะไรๆ เป็นรูปธรรมจับต้องได้ มันจะได้เชื่อมโยงไปยังภาคการผลิตจริงๆ และจริงอยู่ สาธารณประโยชน์ก็ดี แต่อะไรก็ตามที่เป็นสาธารณประโยชน์ รัฐต้องลงทุนให้ ก็คงมีความสามารถได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นอะไรที่ตลาดมีความต้องการด้วยมันก็จะดี ยกตัวอย่างการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปวิจัยพัฒนาและผลิตตัวตรวจโรคก็จะเป็นสาธารณประโยชน์และเป็นทั้งอะไรที่ไปขายได้ด้วย เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐไม่ต้องลงเสียทั้งหมด

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: หนึ่งปีที่ผ่านมางานส่วนใหญ่ที่ทำค่อนข้างเป็นงานที่ยากเย็นหรือเป็นงานที่ค่อนข้างง่ายสำหรับตัวเอง?

ศ.ดร.ยงยุทธ: (หยุดคิด) ค่อนข้างง่ายนะ ในแง่ที่ว่าการเข้าใจประเด็นหลักค่อนข้างง่าย แต่ยากที่จะนำประเด็นหลักนั้นมาสู่สาธารณะได้ อย่างที่คุณก็จะเห็นแล้วว่าผมก็ถือว่าทำงานไม่ได้ผลในแง่ที่คนไม่รู้จัก ก็เป็นอะไรที่ชัดๆ เพราะผมชินกับการทำงานที่ไม่ต้องให้คนรู้จักตัว ที่ผมชอบพูดว่าผมชอบอยู่หลังร้าน แต่ผมก็พอใจนะ ไม่ใช่ว่าไม่พอใจ เพราะคนรู้จักกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มากขึ้นเยอะ เพราะมีผลงานที่ไปแสดง หรือมีพวกรายการ (ทีวี) ต่างๆ เช่น วันละนิดวิทย์เทคโน ฉลาดสุดสุด หรือฉลาดล้ำโลก อะไรพวกนี้ มันก็มีออกมาเป็นประจำ ในแง่นี้ก็พอใจแล้ว เพียงแต่ว่าบางอย่างก็ยากสำหรับผม ในการให้คนรู้จักนี้ยาก และสำหรับผมก็ไม่ต้องการซะทีเดียว

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: งานชิ้นไหนที่ทำยาก ผลตอบกลับไม่ดี ทำให้ไม่สบายใจ?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ไม่ค่อยมี คือมันก็เป็นงานเข็นครกขึ้นภูเขาอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เช่น การที่จะพยายามให้เพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ คุณก็จะเห็นว่างบประมาณในช่วงที่ผมอยู่ งบประมาณก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ลดลงด้วยซ้ำ แต่ลดลงเพราะเราไม่ต้องจ่ายค่าดาวเทียม (ธีออส -โครงการสร้างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย) แล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม มันก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ผมอยากเห็น เราถึงพยายามทำกฎหมายให้การสนับสนุนวิทยาศาสตร์มันต้องสมน้ำสมเนื้อกันกับความก้าวหน้าและความเจริญของประเทศ เราอยากให้เป็น 1% ของจีดีพี คือมันต้องขึ้นไปอีก 3 -4 เท่า จากตอนนี้ที่ 0.26% เป็นอย่างนั้นถึงจะสมน้ำสมเนื้อกับการพัฒนาของประเทศไทยในขณะนี้และความต้องการในอนาคต

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: เวลาทำงานหนักๆ หรือเวลาเครียดกับงานมีวิธีรับมืออย่างไร?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ผมโชคดีที่ผมแทบไม่เครียดกับงานเลย ผมจะเครียดถ้าผมไม่มีงาน (ยิ้ม) ถ้าไม่มีงานทำผมจะกลุ้มใจ ดังนั้นผมจะทำงาน แม้บางทีผมอาจจะเกินเลยไปบ้าง เช่นผมพบว่าผมอ่านเอกสาร ครม.มากเลย ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เลย เพราะผมสนใจจะดูว่ากระทรวงอื่นหรืองานด้านอื่นนอกเหนือจากวิทยาศาสตร์มีอะไรที่เป็นประเด็นหลักและมีอะไรที่เราสามารถช่วยได้
 
เพราะเราได้รับการอบรมมาเรื่องการวิเคราะห์ การใช้เหตุใช้ผล มันช่วยได้เยอะ ตรงนี้ผมเลยอาจกลายเป็นตัวที่พูดมากในครม.ไปหน่อย หลายคนอาจจะว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ชอบหยิบมาแสดงความเห็นด้วย (หัวเราะ) ซึ่งผมคิดว่าดี เพราะรัฐบาลและ ครม.นี่ไม่ได้ประกอบด้วยคนที่ทำงานเฉพาะทาง มันควรจะต้องเป็นคนที่ควรคุยกันได้จากแง่มุมต่างๆ เพื่อที่จะสังเคราะห์เรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศชาติ

การมองอย่างนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่คิดอย่างคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่อย่างนักวิทยาศาสตร์ แม้แต่นักการเมืองที่ดีก็ควรคิดอย่างนี้ว่าไม่ใช่เราเป็นรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง ถ้าเรื่องอะไรไม่เกี่ยวกับกระทรวงเราก็ไม่สนใจอย่างนี้คงไม่ได้ เพราะ "คณะรัฐมนตรี" ก็หมายความอย่างนั้นว่า ทุกคนต้องมาร่วมกันสร้างอะไรขึ้นมา

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: ระหว่างอยู่ในตำแหน่งมีแรงเสียดทานมากไหม รับมืออย่างไร และดึงตัวเองอย่างไรไม่ให้หลงไปกับเรื่องต่างๆ เมื่ออยู่ในอำนาจ?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ค่อนข้างน้อยเพราะกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นกระทรวงซึ่งไม่ค่อยมีผลประโยชน์มากนัก เพราะฉะนั้นในแง่นี้จึงค่อนข้างสบาย และก็จะเห็นดังตัวอย่างได้ว่าการร้องเรียนร้องทุกข์ปัญหาร้องเรียนต่างๆ ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีน้อยมากๆ เลยเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ เพราะมันเป็นกระทรวงวิชาการ ในแง่นี้ผมถือว่าโชคดี แต่ถ้ารู้สึกกลุ้มหน่อยๆ คือ คนไม่ค่อยรู้จักกระทรวง เพราะเป็นกระทรวงวิชาการจริงๆ คนจึงไม่ค่อยสนใจ ทั้งที่เรารู้ว่ามันเป็นขุมทรัพย์ที่สามารถนำไปใช้อะไรได้เยอะ

ส่วนเรื่องของการดึงตัวเองกับอำนาจ ผมโชคดีเพราะผมไม่ได้สนใจอำนาจอยู่แล้ว และผมคิดว่ารัฐมนตรีก็ตาม ผู้บริหารก็ตาม ที่จริงในแง่หนึ่งก็มีอำนาจ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นเพียงแต่ลูกจ้างรัฐบาลเท่านั้นแหละ เพราะฉะนั้นที่จริงคนทั้งหลายเป็นนาย อันนี้พูดเหมือนนักการเมืองแต่มันจริง ประชาชนทั้งหลายอันที่จริงเป็นนาย แต่ว่าบางทีเราเข้าใจผิดว่าเราเป็นนายเขา จริงๆ ไม่ใช่เลย ปกติผมเป็นคนที่ไม่สนใจอำนาจเลย (แล้วสนใจอะไร?) ผมสนใจวิชาการ (หัวเราะ) ผมผลิตงานวิชาการ ดังนั้นก็ออกมาเป็นเชิงนี้ทั้งหมด

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: คนมักถามว่ามาอยู่ตรงนี้ได้คุ้มเสียไหม?

ศ.ดร.ยงยุทธ: โอ้! ได้ (อุทานพร้อมแสดงความประหลาดใจเล็กน้อย) คุ้มมาก เพราะเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และรู้สึกว่าเราได้ทำอะไรให้ประเทศชาติ เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่หายาก ดังนั้นต้องขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนทำให้ผมได้มาอยู่ตรงนี้ได้ โดยเฉพาะท่านนายกฯ ที่ได้เห็นว่าผมน่าจะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: จริงไหมที่คนเขาบอกว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ควรมาเป็นผู้บริหารเสียเอง?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ไม่จริงอ่ะ (ปฏิเสธทันที) ผมกลับคิดว่าพวกนักบริหารทั้งหลายน่าจะรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพราะว่านักวิทยาศาสตร์ผมได้บอกแล้วว่าเป็นคนที่ได้รับการอบรมมาทางการใช้เหตุผล เพราะฉะนั้นจะเข้าใจประเด็นต่างๆ ได้เร็ว รู้ตื้นลึกหนาบางได้ แต่แน่นอนนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปจะไม่สามารถมาทำงานบริหารได้หมด เพราะมองแคบ มักจะมองเฉพาะในเรื่องเทคนิค ต้องมองให้กว้างขึ้น ในแง่นี้ต้องมีการอบรมตรงนั้น แต่พวกนักบริหารทั่วไปก็น่าจะต้องรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพราะข้อที่หนึ่ง มันเป็นแนวทางของโลกอนาคต และสอง มันสอนให้เรามีเหตุมีผล

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: รู้สึกเข็ดขยาดไหมกับการดำรงตำแหน่งการเมืองเป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ หากมีโอกาสอีกจะรับตำแหน่งไหม จะเล่นการเมืองหรือเปล่า?

ศ.ดร.ยงยุทธ: คงไม่แล้ว เป็นคำถามที่ไม่ต้องถามแล้ว (ตอบจริงจัง) เพราะไม่มีเกิดขึ้นอีกแล้ว และไม่ได้เข็ดขยาดอะไร เพราะผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ดี บางวันเหนื่อยบ้าง แต่ผมค่อนข้างเอ็นจอยกับการเหนื่อยและการทำงานหนักอยู่แล้ว (หัวเราะ) จึงไม่มีปัญหา (แล้วงานการเมืองล่ะ?) การเมืองอย่างปัจจุบันนี้ ผมคงยากที่ผมจะเข้าไปร่วมด้วยได้ เพราะแนวความคิดคนละแบบกัน

ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดประชานิยมที่การเมืองตอนนี้นิยมกันมาก มันฝืนธรรมชาติผมไปเลย จริงอยู่บางอย่างแน่นอนว่าเราต้องให้ประโยชน์ประชาชน แต่ว่าไม่ใช่เอาไปหยิบยื่นให้เฉยๆ อย่างนั้น ถ้าเผื่อเป็นแบบนั้นมันทำไม่ได้ มันฝืนกับธรรมชาติของผม ผมก็จะไม่สามารถเป็นนักการเมืองที่ประชาชนจะเลือกได้มั้ง ก็คงยาก (ธรรมชาติของตัวเองคืออะไร?) ธรรมชาติของผมก็คือคนซึ่งคิดว่าเราไม่ว่าจะทำอะไรเราต้องเป็นผู้ได้สิ่งนั้นๆ ได้อะไรมาโดยได้ทำอะไรให้มันคุ้ม ไม่ใช่ได้อะไรมาฟรี ผมไม่เห็นด้วยกับการได้อะไรมาฟรีๆ จึงเป็นการยากที่จะไปหยิบยื่นอะไรให้คนฟรีๆ มันฝืนธรรมชาติของผม

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: หลังตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วจะทำอะไรเป็นอย่างแรก พักร้อนหรือเปล่า หรือกลับไปที่ สวทช.เลย?

ศ.ดร.ยงยุทธ: คงไม่พักร้อน ตลอดชีวิตผมแทบไม่มีการพักร้อน ครอบครัวผมก็บ่นอยู่เรื่อย หากผมพักผมจะเบื่อ แต่แน่นอนว่ามีไปเที่ยวเชียงรายบ้าง 3 -4 วัน ไปต่างประเทศ 4 -5 วัน แต่มากกว่านั้นไม่ได้ ผมจะเบื่อ ซึ่งก็คงจะกลับไปทำงานเดิมเลย เป็นงานวิจัยที่ค้างอยู่ ซึ่งผมมีกลุ่มงานวิจัย

ทั้งนี้ ยังมีงานสำคัญที่ได้การสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ ทำงานร่วมกันหลายๆ ประเทศ ทั้งอังกฤษ ทั้งออสเตรเลียในการพัฒนายามาลาเรีย (ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้ศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง) ช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤติที่ต้องเอายาออกมาให้ได้และทดสอบความเป็นพิษของมัน คือเราเกือบจะได้ยานั้นแล้ว แต่ต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ในระดับละเอียด เช่น ต้องได้ผลดีมาก ไม่เป็นพิษ ใช้กินไม่ใช่ใช้ฉีด ฯลฯ สรุปคือจะกลับไปที่ สวทช.ไปทำงานวิจัยต่อเลย

นอกจากนั้น ราวๆ พฤษภาคมปีหน้า ผมได้รับเชิญไปมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด 2 เดือน ซึ่งได้รับเชิญตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ผมขอเลื่อนไป คือจะได้ไปรับฟังเพิ่มเติมและอาจจะไปสอนคนทางโน้นบ้าง เป็นสถาบันที่ดี ผมก็จะได้เปิดหูเปิดตามากขึ้นเพราะความรู้ต่างๆ ก้าวหน้าไปเร็วมาก ผมจะได้มีความรู้ใหม่ ไปในลักษณะของผู้ร่วมทำวิจัย (Fellow)

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: มองว่าทำไมคนไทยไม่สนใจวิทยาศาสตร์?

ศ.ดร.ยงยุทธ: (คิดและตอบช้าๆ) คงเป็นเพราะว่าเราเป็นสังคมที่ไม่มุ่งเน้นเรื่องของการเรียนและการใช้เหตุผลอย่างเพียงพอ มีอยู่! ในศาสนาพุทธมีเรื่องของการใช้เหตุผล หรือเรื่องการขวยขวายการเรียนรู้ก็มีอยู่ แต่มันไม่แรงเพียงพอเหมือนตัวอย่างในอีกหลายวัฒนธรรม เช่นวัฒนธรรมการเรียนรู้ของอิสราเอลที่เน้นเรื่องการเรียน หรือวัฒนธรรมของขงจื้อที่เน้นเรื่องการศึกษาหาความรู้ใส่ตัว พ่อแม่ก็เน้นหนัก แต่ของเราก็จะบอกว่าเรียนไปก็เท่านั้นแหละลูก มักจะเป็นอย่างนั้นซะเยอะ เราไปเน้นเรื่องการอาชีพและรายได้มาก และเมืองไทยก็ค่อนข้างสบาย ไม่ต้องทำอะไรมากมันก็ "สบายๆ" เราก็เลยสบายๆ

คือคนที่เรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับผมเองรู้สึกว่ามันสนุก แต่ต้องมีความพยายาม อ่านแล้วมันไม่เข้าใจ พรุ่งนี้มาอ่านใหม่มันก็เข้าใจเพิ่มมาอีกนิดหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่รู้เรื่อง วันมะรืนก็มาอ่านใหม่หน้าเดิมหรือเรื่องเดิม หรือสมการนี้มาได้อย่างไร คุณเองก็คงจะผ่านเรื่องนี้มาเหมือนกัน บางคนก็อาจรู้สึกเบื่อ แต่สำหรับผมมันจะ "เอ้อเว้ย" เราก็มีสมองเหมือนกันนะ มันต้องเข้าใจได้สิ (ขึ้นเสียงสูง) ไอน์สไตน์เขายังคิดออกมาได้ เราต้องพยายามเข้าใจ ซึ่งเดี๋ยวนี้บางอย่างก็ยังไม่เข้าใจ แต่มันก็เป็นตัวอะไรบางอย่างที่จะผลักดันเรา

ส่วนเราคนไทยมัวแต่สบายอย่างเดียวคงลำบากแล้วล่ะ ต่อไปสบายมากก็จะลำบาก ผมพูดเสมอๆ ว่าเพราะตอนนี้เรากำลังถึงคอขวดเหมือนเกาหลีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เกาหลีเขามีวัฒนธรรมแบบขวนขวายเพราะเขามีวัฒนธรรมแบบขงจื๊อ เขาก็ผ่านคอขวดไปแล้ว แต่ของเรานี่ไม่แน่นะ เพราะเราเคยสบาย เคยผลิตอะไรออกมาขายก็ขายได้ คือไปรับสูตรของเขามาผลิตขาย แต่ตอนนี้เรามีค่าแรงเกินกว่าที่จะไปรับสูตรมาทำแล้ว เราต้องคิดสูตรขึ้นมาเองแล้ว อันนี้ผมเป็นห่วงว่าเราจะผ่านจุดนี้หรือไม่?

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: มีอะไรที่จะฝากไปยัง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คนต่อไปบ้าง?

ศ.ดร.ยงยุทธ: ตอนนี้เรากำลังเตรียมงานที่จะมอบต่อหลายๆ เรื่อง เป็นการมอบงานจริงๆ เพราะเท่าที่ผ่านๆ มา รู้สึกว่าเวลาผลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีนี่มักจะมีพิธีมอบงาน แต่มันไม่มีการมอบงานจริงๆ หรอก แต่นี่จะเป็นการมอบจริงซึ่งไม่ต้องมีพิธีก็ได้ (ยิ้ม) จะมีเอกสารชัดๆ ว่าแต่ละหน่วยงานนั้นมีนโยบายอย่างไร ภาคปัจจุบันเป็นอย่างไร และแนวทางอนาคตน่าจะเป็นอย่างไรซึ่งแล้วแต่รัฐมนตรีคนใหม่จะนำไปตัดสิน โดยมีเอกสารให้ในระดับต่างๆ

ผมหวังด้วยว่ารัฐมนตรีคนใหม่อย่างน้อยน่าจะพอมีความคิด ความรู้ และภูมิหลังบ้างทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องมาก ไม่จำเป็น และที่สำคัญต้องมีสามัญสำนึกในแง่ของการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ต่อวงการ เช่น อย่างน้อยถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในสังคมหรือการผลิตที่มันต้องการการแก้ไข ก็จะต้องรู้ได้ว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะมีบทบาทอะไรได้บ้างที่จะใช้แก้ปัญหานี้ ตั้งแต่ปัญหาเรื่องโลกร้อนหรือปัญหาการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มันจะต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถที่ต้องพอรู้ ไม่ใช่ถอยหมด อันโน้นไม่เกี่ยว อันนี้ไม่ใช่ จะต้องสู้หน่อยและพยายามไปพลิกดูว่าในสถานการณ์ต่างๆ หรืออนาคตของประเทศต้องการอะไร คือไม่นิ่งดูดาย

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์: สุดท้ายนี้ คิดว่าตัวเองได้ทำงานถึงมาตรฐานทองคำของ ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้มีศักดิ์เป็นลุงที่มักยกท่านมากล่าวถึงเสมอๆ แล้วหรือยัง?

ศ.ดร.ยงยุทธ: (หัวเราะ) ไม่มีวันถึง แต่ก็ดีที่มีมาตรฐานให้ไปถึง แต่มันจะไม่มีวันถึง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่งกาจเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับคุณสมบัติของคน ถ้าเทียบในประเทศผมก็เป็นที่รู้จักหน่อย แต่ถ้าเทียบกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่เขาทำงานเรื่องเดียวกับเรื่องที่ผมสนใจ ในแง่นี้ ผมก็บอกได้ว่าผมก็อยู่ในระดับแนวหน้า แต่ก็ไม่ได้ถึงแนวหน้าที่สุด แต่ก็พอใจแล้วที่อยู่ในเมืองไทยและทำได้เท่านี้ก็ถือว่าเราพยายามมาเต็มที่

สำหรับลุงของผม มันเหมือนกับปรัชญาของพลาโต ที่พูดเรื่องอุดมคติ เขาจะมีโลกในอุดมคติ โต๊ะก็มีโต๊ะในอุดมคติ ทุกอย่างจะมีต้นแบบที่เป็นอุดมคติ เราจะไม่มีทางเข้าถึงอุดมคตินั้น เราจะมีตำหนิ โต๊ะก็จะมีตำหนิ ซึ่งลุงของผมก็มีตำหนิ แต่ก็เป็นอุดมคติของผมที่ผมใช้เป็นหลักซึ่งไม่มีทางที่ผมไปถึง แต่ก็จะพยายามไปให้ถึงให้ได้...





กำลังโหลดความคิดเห็น