วช. จับมือกรมการข้าวทำโครงการ 2-V Research Program ช่วยชาวนาลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้ ส่งเสริมให้ข้าวไทยเพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่า กลายเป็นสินค้าออกที่มีคุณภาพ แข่งขันกับต่างประเทศได้ และรักษาเอกลักษณ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกรมการข้าว ลงนามความร่วมมือส่งเสริมการวิจัยภายใต้โครงการ 2-วี รีเสิร์ช โปรแกรม (2-V Research Program) ภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 ณ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัล เวิลด์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.51 โดยมีจุดประสงค์ เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านข้าว และนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกร เพื่อให้งานวิจัยเกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยเกษตรลดต้นทุนการผลิตลงได้
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตและส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และในช่วงระยะหลังนี้ ปริมาณความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการด้านอาหารมีมากขึ้น ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนส่งผลให้ผลผลิตด้านการเกษตรตกต่ำลง ประกอบกับการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารไปเป็นการเพาะปลูกพืชพลังงาน จึงทำให้เกิดวิกฤติทางด้านอาหารตามมา
"แต่เดิมต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรไทยอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันบาทต่อไร่ แต่ในระยะหลังเพิ่มขึ้นเป็น 6-8 พันบาทต่อไร เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตลงได้ และทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาก็คืองานวิจัย แต่ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ จำเป็นต้องทำให้เกษตรกรยอมรับผลงานวิจัยนั้นให้ได้ จึงจะนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง" นายประเสริฐ กล่าว ซึ่งโครงการ 2-V Research Program ก็จะเป็นกลไกสำคัญในการนำงานวิจัยไปสู่เกษตรกร
อธิบดีกรมการข้าวบอกอีกว่า จะเริ่มต้นถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานเป็นอันดับแรก ตั้งแต่ขึ้นตอนการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก วิธีการปลูก การดูแลรักษา การให้ปุ๋ย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเน้นเพาะปลูกข้าวเพื่อการส่งออกเป็นหลัก
ด้าน ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. กล่าวว่า โครงการ 2-V Research Program เป็นการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และนำผลงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ (Value Chain) และเกิดการเพิ่มมูลค่าจากผลงานวิจัย (Value Added) ด้วยการสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดี เช่น การสร้างมาตรฐาน สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และการส่งเสริมด้านการตลาด เป็นต้น
"การบริโภคข้าวในตลาดโลก ก็มีทั้งการบริโภคเป็นอาหารหลัก และบริโภคเพื่อสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ส่งผลให้มีสายพันธุ์ข้าวหลากหลาย และเราก็ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวและการปรับปรุงพันธุ์ข้าวมากมาย แต่ที่ผ่านมา เรายังไม่มีการส่งเสริมให้นำงานวิจัยไปใช้อย่างจริงจังมากนัก" ศ.ดร.อานนท์กล่าว
"ดังนั้น วช. จึงร่วมกับกรมการข้าวส่งเสริมให้นักวิจัยสร้างผลงานวิจัย ควบคู่กับผลักดันในนำผลงานไปใช้จริง โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลผลิต ส่งเสริมให้ข้าวไทยเป็นสินค้าออกที่มีคุณภาพ และแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมทั้งต้องรักษาเอกลักษณ์ที่ดีของข้าวไทยเอาไว้ด้วย" ศ.ดร.อานนท์เผย
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการในปีแรกด้วยงบประมาณ 9 ล้านบาท จะเป็นเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในทุกพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาจนไม่สามารถปลูกข้าวได้ ปัญหาเหล่านั้นก็จะหมดไป และสามารถเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ได้
อีกทั้ง ในช่วงแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 8 จังหวัด เป็นการนำร่อง นอกจากนี้ วช. ยังมีโครงการจะนำ 2-V Research Program ไปใช้ในการส่งเสริมงานวิจัยด้านอื่นๆ ต่อไปอีกในอนาคตให้ครอบคลุมทุกสาขางานวิจัยที่มีอยู่ด้วย.