xs
xsm
sm
md
lg

เด็กๆ สะท้อนความรู้สึก "ปลูกข้าว" ครั้งแรกในชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้องๆ ชาวค่ายข้าวพร้อมใจกันถอดรองเท้า-พับขากางเกงมาลงดำนาข้าวด้วยกันอย่างสนุกสนาน โดยมีชาวนาตัวจริงคอยให้คำแนะนำ ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นการดำนาครั้งแรกในชีวิต ที่ลำบากไม่น้อยทีเดียว
"ใครไม่รู้จักข้าวยกมือขึ้น ?" ไม่ต้องรอคำตอบก็ทราบดีว่าไม่มีใครยกมือแน่ๆ เพราะข้าวเป็นอาหารหลักที่เรากินกันทุกวัน แต่คนเคยปลูกข้าวด้วยเห็นจะมีไม่มากนัก

ในกิจกรรมค่าย "ข้าวไทยกับวิทยาศาสตร์" จึงจัดให้เยาวชนคนเก่งวิทย์ทั้ง 61 ชีวิตได้มาลองสัมผัสกับการปลูกข้าวกันบ้าง เพื่อที่จะได้รู้จักกับชีวิตของชาวนา และรู้ซึ้งถึงความยากลำบาก กว่าที่เราจะได้ข้าวมาเปิบแต่ละคราวคำ

สำหรับกิจกรรมดีๆ ที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์นำมาฝากนี้จัดโดยโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ศูนย์การพัฒนากำลังคน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระหว่างวันที่ 10-13 มิ.ย.51 ซึ่งหลังจากน้องๆ ชาวค่ายได้ฟังการบรรยายความรู้เกี่ยวกับข้าวไปบ้างแล้ว ยังได้พาวัยซนไปเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เพื่อทดลองดำนากันจริงๆ ด้วย

"ตังเม" น.ส.นพร เตชะวัฒนาบวร นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย บอกว่าตัวเองได้ความรู้เรื่องข้าวจากการกิจกรรมครั้งนี้มาก และแม้ จ.อยุธยา บ้านเกิดจะมีการปลูกข้าวมาก แต่ตังเมก็ไม่เคยได้ลงมือปลูกข้าวด้วยมือตัวเองเลยสักที ครั้งนี้จึงเป็นการดำนาปลูกข้าวครั้งแรกของตังเม ซึ่งก็สนุกดี ทว่าหากยืนกลางแดดร้อนๆ นานๆ เพื่อดำนาทั้งแปลงก็เห็นทีจะไม่ไหว ตังเมเผยว่าทำให้รู้สึกเห็นใจชาวนามากขึ้น

เช่นเดียวกับ "บี" น.ส.ธวัลรัตน์ ตั้งวงศ์สิน ชั้น ม.5 โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย จ.นครปฐม ซึ่งสาวน้อยรายนี้บอกว่าเป็นการดำนาครั้งแรกในชีวิตของเธอเช่นกัน ที่ลองดำนาแล้วก็รู้สึกว่าร้อนและลำบากพอตัว ทำให้บีรู้สึกเห็นคุณค่าของข้าวมากขึ้นว่ากว่าจะเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวมาใส่จานได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

นอกจากนั้น บียังได้ความรู้ใหม่ว่าวิทยาศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าวมาก โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ข้าวต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยให้ชาวนาไม่ต้องพบกับความเดือดร้อนจากโรคพืช โรคแมลง หรือแม้แต่น้ำท่วมและดินเค็ม อีกทั้งยังทึ่งกับการวิจัยเพิ่มคุณค่าทางอาหารแก่ข้าวด้วย เช่น งานวิจัยเรื่องข้าวธาตุเหล็กสูง ซึ่งก่อนเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ บียังปักใจเชื่อว่า คนไทยไม่สามารถทำวิจัยเหล่านี้ได้ และต้องอาศัยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากต่างชาติเท่านั้น

ส่วนเสียงจากหนุ่มชาวนารุ่นเยาว์จำเป็น "ก็อด" นายวัฒวุฒิ พลมณี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล ก็ยอมรับแบบเปิดอกว่า ลองมาดำนาดูจริงๆ ก็พบว่า เพียงทดลองปลูกข้าวไม่กี่กำมือก็เหนื่อยแล้ว และการปลูกแต่ละต้นก็ยอมรับว่ายากลำบากเหมือนกัน จึงรู้สึกเหมือนตังเมและบีที่รู้ซึ้งถึงความลำบากของชาวนาแล้ว

ก็อดบอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ตัวเขาเองก็อยากมีส่วนช่วยชาวนาบ้าง และหากเป็นไปได้แล้ว เขาอยากเป็นนักวิจัยด้านการเกษตรต่อไปเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ข้าวไทยมากขึ้น เช่น ข้าวสารอาหาร 5 หมู่ ซึ่งไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่เขาตั้งใจจะลองดูสักครั้ง

ไม่ต่างกันกับ "เป้" นายอดิศร ธรรมดี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม เปิดเผยอย่างมาดมั่นว่า เขามีใจรักในข้าวมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าข้าวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไทยที่เลี้ยงดูผู้คนมาตั้งแต่เล็กจนเติบโต อีกทั้งมันยังสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย

ขณะที่หนึ่งหนุ่มจากดอยแสง จ.แม่ฮ่องสอน "อ้น" นายรักชาติ แสงสวยงาม ม.5 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน ดูจะเป็นเด็กหนุ่มที่มีประสบการณ์ดำนามามากที่สุด อ้นเล่าว่า แม้บ้านของอ้นเองจะปลูกข้าวไร่บนดอยที่ไม่ใช่การปลูกบนแปลงนา ทว่าที่โรงเรียนแล้ว การปลูกข้าวเพื่อเป็นอาหารกลางวันดูจะเป็นกิจกรรมที่เขาต้องทำทุกปีตั้งแต่ชั้น ป.3

อ้น ซึ่งมีความกระชับกระเฉงในการดำนามากกว่าเพื่อน บอกด้วยว่า การดำนาข้าวสำหรับเขายังเป็นที่มาของรายได้จากการรับจ้างดำนาในยามว่างด้วย ทว่าการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ก็ไม่สูญเปล่า เพราะทำให้เขาได้ดำนาอย่างสนุกสนานร่วมกันกับเพื่อนพ้องวัยเดียวกัน แถมยังทำให้เขาเปิดมุมมองเรื่องข้าวกว้างขึ้น เช่น การมาเห็นการปลูกข้าวไฮโดรพอนิกส์ ซึ่งเคยอ่านพบแต่ในตำราเรียนเท่านั้น

สุดท้ายนี้ ผศ.ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย ที่ปรึกษาส่วนการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ สวทช.ปิดท้ายว่า ประเทศไทยในปัจจุบันยังต้องการกำลังคนด้านการวิจัยทางการเกษตรอยู่มาก และหวังว่ากิจกรรมค่ายครั้งนี้จะจุดประกายให้แก่เยาวชนบางส่วนหันมาเป็นนักวิทย์รุ่นเยาว์ในอนาคต

ทั้งนี้เพราะข้าวเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับประเทศไทยมาก ไม่เว้นแม้แต่ในสายพระเนตรพระกรรณของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ซึ่งไม่นานมานี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงพระราชทานเงินทุนวิจัยข้าวเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้พัฒนาพันธุ์ข้าวด้วย.
น้องๆ ชาวค่ายแบ่งกลุ่มเรียงแถวดำนากันอย่างแข็งขัน
 ตังเมบอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ระหว่างทดสอบหาความหนาแน่นของธาตุเหล็กในข้าวว่า นี้เป็นครั้งแรกของเธอที่ได้ลองดำนาบ้างเช่นกัน
บี ยื่นมือโชว์ตั๊กแตนใบไม้ในสวนแมลง โดยบีก็เป็นอีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่ได้มาเปิดมุมมองชีวิตและความลำบากของชาวนาครั้งนี้ด้วย แถมบียังได้อัพเดทความก้าวหน้าในงานวิจัยข้าวโดยนักวิจัยไทยไปในตัว
ก็อด เผยว่าวันหนึ่งเขาจะเป็นนักวิจัยข้าวแก้ปัญหาให้ชาวนาตามนักวิจัยรุ่นพี่ๆ บ้าง
อ้น เด็กหนุ่มชาวดอยที่มีประสบการณ์ดำนามาอย่างช่ำชอง
ผศ.ดร.ยุทธนา บอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่กำลังขาดนักวิจัยด้านการเกษตรอยู่มาก จึงน่าเป็นห่วงมิใช่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น