"ข้าว" นอกจากจะเป็นพืชอาหารเลี้ยงคนค่อนโลกแล้ว ยังเป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่เราควรศึกษาวิจัยอย่างถ่องแท้ด้วย "ค่ายข้าวไทยกับวิทยาศาสตร์" จึงเกิดขึ้นเพื่อชี้ชวนให้เยาวชนวัยอยากรู้อยากเห็นได้มาสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับข้าว เผื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้า พวกเขาจะเติบใหญ่เป็นนักวิจัยข้าว ที่ใช้วิทยาศาสตร์มาพัฒนาข้าวไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ติดตามครั้งนี้ จัดโดยโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ระหว่างวันที่ 10-13 มิ.ย.51 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และจะมีการลงพื้นที่ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ด้วย
ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสาะหาและติดตามเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทั่วประเทศ เพื่อให้การส่งเสริมให้เกิดนักวิจัยหน้าใหม่ โดยเฉพาะนักวิจัยด้านการเกษตรที่ประเทศไทยขาดแคลนมาก ทั้งที่ข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นๆ ต่างเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นจุดแข็งของคนไทย สาเหตุเพราะภาพลักษณ์ผิดๆ เกี่ยวกับนักวิจัยการเกษตรที่ดูไม่น่าดึงดูดใจนักเมื่อเท่ากับการนักวิจัยต่างสาขา
"ข้อนี้มีคำถามว่า ถ้าเราจะไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวของเราเอง อย่างนั้นเราจะรอให้ประเทศอื่นเขาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อเราอย่างนั้นหรือ?" ศ.ดร.ประมวล สะท้อนถาม
ทั้งนี้ เยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมค่ายข้าวมี 61 คน ประกอบด้วยเยาวชนจากการคัดสรรของ สพฐ. 50 คน และเยาวชนจากโครงการโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในชนบท (เซอร์ส) อีก 11 คน ซึ่งทั้งหมดจะได้ฟังการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับข้าวในเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศ อาทิ ดร.มาลี สุวรรณอัตถ์ กรรมการบริหารมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ อดีต ผอ.ไบโอเทค รวมทั้งจะได้เยี่ยมชมหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว และการลงมือดำนาข้าวในแปลงปลูกจริง
ดร.มาลี บรรยายถึงความผูกพันระหว่างข้าวและวิถีชีวิตคนไทยว่า ข้าวเป็นอาหารหลักและสินค้าส่งออกสำคัญของคนไทย และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์จากอดีตจวบจนปัจจุบันทรงให้ความสำคัญกับข้าวมาก โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจน อีกทั้งมีงานวิจัยต่างประเทศสนับสนุนด้วยว่าข้าวเป็นอาหารที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้อยู่เลย ทว่าคนไทยปลูกข้าวน้อยลงกว่าอดีตทุกที เวลานี้มีผู้ปลูกข้าวน้อยลงกว่า 25% แล้ว
ภูมิปัญญาเกี่ยวกับข้าวไทยมีมากมาย ตัวอย่างจากการรวบรวมโดยมูลนิธิข้าวไทยฯ เช่น ความเชื่อของชาวนาไทยภาคกลางที่กล่าวว่า ในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ถ้ามีฟ้าร้องคำรามมากแสดงว่าปีนั้นน้ำจะดีมาก ต้องระวังอาจท่วมได้ นอกจากนั้นให้สังเกตดูคางคก ถ้าปีไหนคางคกผอมน้ำจะมาก ถ้าอ้วนน้ำจะน้อย และให้สังเกตดูหญ้างวงช้าง ถ้าปีไหนน้ำมากจะชี้ตรง ถ้างอเป็นรวงโก่ง น้ำจะน้อย ฯลฯ ซึ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพียงนิดหน่อยเท่านั้น
ส่วน ศ.ดร.มรกต ได้ให้ความรู้ถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวว่า มนุษย์เริ่มเข้าสู่สังคมการเกษตรมาได้เมื่อกว่า 1 หมื่นปีก่อนนี้เอง และเริ่มปรับปรุงสายพันธุ์พืชป่ามาเป็นพืชปลูกเรื่อยมา พืชอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตที่สำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพด และข้าวสาลี โดยเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในอดีตจะเป็นการผสมพันธุ์พ่อแม่เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์และการคัดเลือกลักษณะเฉพาะเพื่อให้ได้ลักษณะที่เราต้องการ เช่น มีขนาดใหญ่และจำนวนของเมล็ดมาก ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว และมีคุณค่าทางสารอาหารสูง
เมื่อวิทยาการได้ก้าวหน้ามากขึ้น มนุษย์จึงรู้จักกับเทคโนโลยีชีวภาพช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืช ที่ได้รับความแพร่หลาย คือ การทำเครื่องหมายทางพันธุกรรม ที่จะทำให้การพัฒนาพันธุ์พืชมีความรวดเร็วแบบก้าวกระโดดและมีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ ตัวอย่างข้าวไทยที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเช่น ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวพันธุ์ กข 6 เป็นต้น
ด้านความคิดเห็นจากเยาวชนค่าย "อ้น" นายรักชาติ แสงสวยงาม นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน หนึ่งในเยาวชนโครงการเซอร์ส เปิดมุมมองว่า ในสายตาของเขาแล้ว ข้าวคือเป็นพืชอาหารสำคัญของคนไทย และเรียกได้ว่าเป็นผู้ให้ชีวิตแก่ทุกคน ซึ่งจุดนี้เขาในฐานะคนดอยจะเห็นแง่มุมที่ต่างจากเพื่อนในเมือง เพราะครอบครัวของเขาต้องปลูกข้าวป่าไว้รับประทานเอง
อ้นเล่าว่า การปลูกข้าวบนเขาอาจให้ข้าวมากถึง 200 ถังต่อภูเขาหนึ่งลูก ทว่าปลูกได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง เพราะไม่ได้อาศัยน้ำจากการชลประทาน แต่อาศัยน้ำฝนในการปลูกข้าว หากฤดูกาลใดฝนฟ้าไม่ดีก็จะทำให้เมล็ดขาวลีบ หรือไม่ให้ผลเลย ทำให้ไม่มีข้าวรับประทาน อีกทั้งการหาซื้อและการหยิบยืมก็เป็นเรื่องยากมาก
"หากประชาชนคนไทยลืมความสำคัญของข้าวไป คงเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะคนไทยและคนเอเซียกินข้าวเป็นหลัก และที่คนรุ่นใหม่ๆ หันมาทำงานในอุตสาหกรรม สำนักงาน และภาคธุรกิจมากขึ้นก็ทำให้ไม่มีใครปลูกข้าว อย่างที่ดอยแสงเองเมื่อ 10 ปีก่อน ประชาชนกว่า 90% ปลูกข้าว แต่ตอนนี้เหลือเพียง 60% เท่านั้น" อ้นเสริม
ส่วน "เมย์" น.ส.ศศิธร ควรชม นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสตูลวิทยา และ "เฟิร์น" น.ส.เหมมิกา เวียงสมุทร ชั้น ม.5 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เชียงราย พูดถึงภูมิปัญญามากมายในข้าวว่า นอกจากจะใช้ข้าวเป็นอาหารหลักแล้ว ข้าวยังถูกแปรรูปเป็นอาหารจำพวกก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ และจะสังเกตได้ว่าขนมหลายชนิดของไทยยังทำจากข้าวด้วย เช่น ขนมข้าวแต๋น และของขบเคี้ยวอย่างข้าวตังหน้าตั้ง
อีกทั้งข้าวยังมีสรรพคุณทางยา อย่างจมูกข้าวที่สามารถสกัดยารักษาโรคภูมิแพ้ได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างใกล้ๆ ตัวที่สะท้อนให้เห็นว่าข้าวเป็นผู้สร้างวิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงการสร้างอาชีพแก่คนไทย
ทว่าเมย์ก็ยอมรับว่าสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้เยาวชนไทยรู้จักภูมิปัญญาเหล่านี้น้อยลง เพราะระยะห่างที่เกิดขึ้น เมย์เผยว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นหลังที่ได้รับฟังเพียงคำบอกเล่าถึงภูมิปัญญาไทยในข้าวจากแม่ซึ่งมีอาชีพเป็นชาวนาเท่านั้น ส่วนเฟิร์นเสนอว่าชาวนาไทยควรปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบเดิมๆ เพื่อการพึ่งพาตัวเอง ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรราคาแพง เช่น การไถกลบต้นข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเพิ่มธาตุอาหารแก่ดิน เป็นต้น
"ข่าวช่วงนี้ก็จะมีการพูดถึงแต่เรื่องข้าวแพงๆ ก็คิดว่าวิทยาศาสตร์น่าจะช่วยได้ จึงมาหาคำตอบที่นี่ เพราะทราบว่ามีการวิจัยเรื่องข้าวอยู่มาก" เมย์กล่าวถึงกิจกรรมตลอด 3 วันที่นอกจากการบรรยายยังจะมีการอัพเดทงานวิจัยข้าว กิจกรรมการสกัดดีเอ็นเอจากข้าว การตรวจสอบปริมาณอะไมโลสในข้าว และการหาความหนาแน่นของธาตุเหล็กในข้าวด้วย
ขณะที่ความคิดเห็นของอีกหนึ่งหนุ่มก็ฉะฉานไม่น้อย "เจมส์" นายปริญญา บรรตุคะ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนนครพนมวิทยาลัย สะท้อนความกังวลในใจว่า ขณะนี้มีการถกเถียงกันมากว่าข้าวหอมมะลิเป็นข้าวไทยหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจดสิทธิบัตรคุ้มครองข้าวหอมมะลิเลยทั้งๆ ที่มีความพยายามจากชาวญี่ปุ่นที่จะถือสิทธิ์ในข้าวพันธุ์นี้ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของไทย
เจมส์แสดงความเห็นใจไปยังชาวนาไทยด้วยว่า คนไทยไม่เห็นคุณค่าของชาวนาเท่าที่ควร และรัฐบาลก็ไม่อุ้มชูกระดูกสันหลังของชาติ ต่างจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะอุ้มชูชาวนา ให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีความมั่นคงจนอาชีพอื่นๆ พากันอิจฉา ซึ่งเขาอยากเห็นอย่างนั้นบ้างในประเทศไทย
เมื่อถามถึงการนำพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอมาใช้เพิ่มผลผลิตข้าวดังที่มีกระแสเรียกร้องในยุคข้าวราคาแพง เจมส์ปฏิเสธว่าไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากการรับประทานข้าวจีเอ็มโอมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคทางพันธุกรรมได้ เช่นเดียวกับการเร่งใช้สารเคมีเพิ่มผลผลิตซึ่งเขาก็ไม่เห็นด้วย เพราะยังมีภูมิปัญญาไทยช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตรได้
"เราควรนำของที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้มากกว่า เช่น ฝักของต้นชัยพฤกษ์ที่นำไปตำละเอียดและผสมกับน้ำส้มควันไม้เพื่อฉีดไล่เพลี้ย ทำให้ผลผลิตดีขึ้น เป็นการใช้ภูมิปัญญาไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์" เจมส์ยกตัวอย่างก่อนทิ้งท้ายว่า ภูมิปัญญาเหล่านี้ของไทยมีอยู่มาก แต่กำลังจะเลือนหายไปกับชาวนารุ่นก่อนที่ลูกหลานไม่รับการสืบทอด พร้อมๆ กับแนวโน้มการทำนาในประเทศที่นับวันมีแต่จะหดตัวเล็กลง.