แม้จะผ่านพ้นปีเก่าไปเกือบเดือนแล้ว แต่ สวทช.เพิ่งได้แถลงสรุปผลงานเด่นรอบปีที่ผ่านมา และยังคงปลื้มกับผลงานที่มีมากเกินคาด โดยเฉพาะผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรมีมากถึง 88 ชิ้น ตั้งเป้าปี 51 เพิ่มเป็น 110 ชิ้น พร้อมยกไบโอเซ็นเซอร์ตรวจหวัดนกเชิงพาณิชย์เป็นเจ้าแรกของโลก ตอบรับเทรนด์เทคโนโลยีชีวภาพโลก
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แถลงข่าวสรุปผลงานเด่น สวทช.ในรอบปี 2550 ขึ้นเมื่อวันที่ 28 ม.ค.51 ณ โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ โดย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช.ได้แสดงความพอใจกับผลงานขององค์กรในปีที่ผ่านมา เพราะตั้งเป้าให้มีผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรไว้ 70 ชิ้น แต่จนสิ้นปีกลับมีถึง 88 ชิ้น
"เราได้พัฒนาไปมากทีเดียว เช่น ในแง่ของการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานรัฐและเอกชนอื่นๆ ปี 51 นี้เราจึงตั้งเป้าสิทธิบัตรไว้ที่ 110 ชิ้น เพราะปีที่ผ่านมาก็บรรลุเป้าหมาย งานวิจัยที่ออกมาก็ตอบสนองความต้องการไปทุกด้าน ซึ่งเราเน้นงานวิจัยที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อสังคม นำไปใช้งานได้ " รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าว
แม้จะมีงานวิจัยมากเกินเป้า แต่เขาก็ยอมรับว่าต้องการเพิ่มอัตราเร่งให้มากกว่านี้ โดย ผอ.สวทช.ต้องการให้มีนักวิจัยและห้องแล็บมากขึ้นอย่างน้อย 5-10 เท่า จากตอนนี้ที่นักวิจัยยังขาดแคลนอยู่ทุกสาขา
อย่างไรก็ดี ผอ.สวทช.เสริมต่อว่า ปี 51 นี้ สวทช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 3,800 ล้านบาท เพิ่มจากปี 50 จำนวน 800 ล้านบาทซึ่งเร็วๆ นี้ยังจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงแบบออกไซด์ของแข็ง (Solid Oxide) ที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของแข็งทำจากสารประกอบเซรามิก โดยฝีมือนักวิจัยไทยขนาด 3 เมกะวัตต์ ซึ่งเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในชุมชนขนาดเล็กต่อไป
นอกจากนี้ รศ.ดร.ศักรินทร์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มของโลกกำลังจับตาเทคโนโลยีชีวภาพมาก ซึ่งปี 50 ที่ผ่านมา สวทช.โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ให้การสนับสนุนศิริราชพยาบาลและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ พัฒนาชุดตรวจไบโอเซนเซอร์รุ่นใหม่ขึ้นเพื่อวินิจฉัยโรคไข้หวัดนกเอช 5
ปัจจุบันมีเอกชนไทยนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปผลิตชุดตรวจวางจำหน่ายเป็นเจ้าแรกของโลก ข้อดีของชุดตรวจดังกล่าวจะมีความไวในการตรวจมากกว่าชุดตรวจแบบเดิมถึง 100 เท่า จึงใช้เวลาตรวจเพียง 15 นาที
ทั้งนี้ รศ.ดร.ศักรินทร์ บอกด้วยว่า เทคโนโลยีชีวภาพยังคงเป็นกระแสที่ส่งต่อมาถึงปี 51 ด้วย ซึ่ง สวทช.จะเน้นการวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อตอบโจทย์ 2 ข้อหลักคือ ด้านสุขภาพ อาทิ การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 ตลอดจนสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อยอย่างเอช 7 และเอช 9 นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการวิจัยพัฒนาเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่อื่นๆ โรควัณโรค และโรคไข้เลือดออก
ขณะที่อีกด้านหนึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีชีวภาพยังใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชในด้านการเกษตรด้วย
ส่วนผลงานเด่นชิ้นอื่นๆ ที่ สวทช.ยกมาแถลงข่าวด้วยเช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน การพัฒนาข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวเสริมธาตุเหล็ก รถสามล้ออัจฉริยะเพื่อผู้พิการ เทคโนโลยีต้นแบบรวดเร็วทางการแพทย์
โปรแกรมเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์เพื่อการซ่อมแซมแก้ไขและฟื้นฟูสภาพร่างกายซึ่งนำมาใช้ในการทำรากฟันเทียม การตรวจเชื้อไวรัสในกุ้งด้วยวิธีพีซีอาร์ บรรจุภัณฑ์แอคทีฟเพื่อยืดอายุผลิตผลสดเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมไทย รถสื่อสารฉุกเฉินเพื่อสังคมไทย รวมถึงการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ