นักวิจัย มข. ดันข้าวฟ่างหวาน เป็นพืชพลังงานชนิดใหม่ ผลิตเอทานอลทดแทนมันสำปะหลัง-กากน้ำตาล ที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เตรียมส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และผลักดันให้โรงงานเอทานอลรับซื้อผลผลิต
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล และทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการผลิตเอทานอลจากข้าวฟ่างหวานเชิงพาณิชย์ ซึ่งพบว่าข้าวฟ่างหวานพันธุ์ มข.40 ให้ผลผลิตคุ้มค่ามากที่สุด เตรียมประสานโรงงานเอทานอล ให้รับซื้อผลผลิตข้าวฟ่างหวาน ก่อนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไปในไม่ช้านี้
น.ส.อร่ามจิต กงชา ผู้ช่วยนักวิจัย เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปัจจุบันวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงมีเพียงกากน้ำตาลและมันสำปะหลังเท่านั้น ส่วนอ้อยแม้จะมีศักยภาพทำได้เช่นเดียวกัน แต่ยังติดปัญหา เพราะเป็นพืชที่มี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 คุ้มครองอยู่ จึงทำให้ใช้ได้เฉพาะสำหรับผลิตน้ำตาลเท่านั้น โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70:30
ส่วนข้าวโพดและปลายข้าว มีต้นทุนการผลิตสูงมาก จึงไม่คุ้มหากนำมาแปรรูปเป็นเอทานอล ประกอบกับในอีกไม่กี่ปีนี้ จะมีโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50 โรงงาน ส่งผลให้วัตถุดิบอาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องมองหาพืชพลังงานชนิดอื่นเข้ามาทดแทน และจากการศึกษาก็พบว่า ข้าวฟ่างหวานสามารถนำมาผลิตเอทานอลได้ และมีคุณภาพไม่แตกต่างจากเอทานอลที่ผลิตจากอ้อย ที่สำคัญต้นทุนต่ำกว่าอ้อย
"การปลูกข้าวฟ่างหวานในไทย ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ และคนก็ไม่นิยมบริโภค ทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกยังไม่มากนัก ซึ่งข้าวฟ่างหวานมีลักษณะคล้ายอ้อย คือมีสารให้ความหวาน แต่ไม่ตกผลึกเป็นน้ำตาล ทว่าสามารถนำน้ำหวานมาหมักและผลิตเป็นเอทานอลได้เหมือนกัน และพบว่าเอทานอลที่ได้จากข้าวฟ่างหวานก็มีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากเอทานอลที่ผลิตได้จากอ้อย และสามารถนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ได้เช่นเดียวกัน" น.ส.อร่ามจิต อธิบาย
"ฤดูกาลปลูกอ้อยและมันสำปะหลังอยู่ในช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย. ทำให้ช่วงเวลานอกเหนือจากนี้ไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงานเอทานอล ขณะที่ข้าวฟ่างหวานให้ผลผลิตสูงที่สุดในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค. ดังนั้นจึงช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในช่วงเวลาดังกล่าวได้"
"ข้าวฟ่างหวานปลูกไม่ยาก และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวน สามารถปลูกในแปลงระหว่างที่รอปลูกอ้อยหรือมันสำปะหลังในฤดูกาลต่อไปได้ ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากเดิมที่ต้องทิ้งแปลงปลูกให้ว่างเปล่าไว้เฉยๆ หรือปลูกทดแทนในพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้" น.ส.อร่ามจิตกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ช่วยนักวิจัยบอกว่า ทีมวิจัยได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างหวาน จนได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ พันธุ์ มข. 40 ที่ให้ผลผลิต 5-7 ตันต่อไร่ ให้น้ำหวานเฉลี่ย 2,500-3,500 ลิตรต่อไร่ ซึ่งนำไปผลิตเอทานอลได้ประมาณ 300-420 ลิตรต่อไร่ และเกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ได้ตลอดโดยที่ไม่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังเร่งผลักได้ให้โรงงานเอทานอลรับซื้อผลผลิตข้าวฟ่างหวาน เพื่อที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไป โดยอาจต้องมีการทำพันธะสัญญาการรับซื้อระหว่างโรงงานและเกษตรกร และมีการประกันราคาเช่นเดียวกับอ้อยด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกข้างฟ่างหวาน และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ.