xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยมข.รุกต่อยอดวิจัยแก่นตะวัน มุ่งผลิตเอทานอลรองรับการผลิตE85

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิจัยม.ขอนแก่น รุกต่อยอดงานวิจัยแก่นตะวัน สอดรับแผนผลิตพลังงานทดแทนเอทานอล E85 สร้างความมั่นคงด้านพลังงานกับประเทศ เล็งพัฒนาเทคโนโลยีผลิต/ปรับปรุงพันธุ์ให้ผลผลิตต่อไร่สูง หวังลดต้นทุนผลิต ชี้ปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำมัน ดันแผนผลิตเอทานอล E85 เกิดแน่ ระบุต้องหาพืชพลังงานชนิดใหม่เป็นทางเลือกรองรับแผนผลิต E85 ในอนาคต เบื้องต้นชู “มันเทศ” ให้เปอร์เซ็นต์แป้งสูง เหมาะผลิตเอทานอลได้แน่


จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับสูงมาก ล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก เฉพาะในจังหวัดขอนแก่นล่าสุด ราคาน้ำมันดีเซลสูงถึง 44.68 บาท/ลิตร เบนซิน 91 ราคาสูงถึง 43.23 บาท/ลิตร และแก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 39.63 บาท/ลิตร ทำให้ผู้ใช้รถยนต์เดือดร้อนต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงสูงเป็นประวัติการณ์ กระแสเรียกร้องใช้พลังงานทดแทนเกิดขึ้นสูงมาก

ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทนจากพืช ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล โดยเฉพาะเอทานอล ที่นำมาผสมเป็นเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ สำเร็จผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ล่าสุดมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดส่งเสริมให้ใช้ เอทานอล E85 หรือใช้เอทานอลผสมกับเบนซินในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 85 ลดการนำเข้าเบนซินจากต่างประเทศ และช่วยทำให้ราคาจำหน่ายต่ำลงได้

รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัย แก่นตะวัน เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน” ถึงงานวิจัยพืชแก่นตะวันให้เหมาะต่อการผลิตพลังงานทดแทน ว่า แก่นตะวันเป็นพืชชนิดใหม่ที่สามารถปลูกในประเทศไทยได้ และเป็นพืชอีกชนิดที่มีศักยภาพในการแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนเอทานอลได้

งานวิจัยเบื้องต้น พบว่า ต้นทุนผลิตเอทานอลจากหัวแก่นตะวันสด มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง เมื่อเทียบกับต้นทุนผลิตเอทานอลจากพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง จากงานวิจัยพบว่า ต้นทุนปลูกแก่นตะวันเฉลี่ยที่ 3.10 บาท/กิโลกรัม ราคารับซื้อหัวแก่นตะวันสดประมาณ 5-10 บาท/กิโลกรัม ขณะที่มันสำปะหลังสด ต้นทุนปลูกเฉลี่ย 1.20-1.40 บาท/กิโลกรัม ราคารับซื้อหัวมันสด 1.80-2.00 บาท/กิโลกรัม

ขณะที่การแปรรูปเป็นเอทานอล หัวแก่นตะวันสด 1 ตัน แปรรูปเอทานอลได้ 80 ลิตร ส่วนหัวมันสำปะหลังสด 1 ตัน แปรรูปเอทานอลได้ถึง 160 ลิตร ราคารับซื้อแก่นตะวันสดค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับมันสำปะหลัง จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นเอทานอล เนื่องจากราคารับซื้อค่อนข้างสูง ทั้งการแปรรูปเป็นเอทานอลยังได้ผลผลิตต่ำกว่า
แก่นตะวัน พืชอีกชนิดที่มีศักยภาพนำมาผลิตเป็นเอทานอล โดยใช้หัวมาแปรรูป
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐเดินเครื่องผลิตเอทานอล E85 เต็มที่ การหวังพึ่งผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด และกากน้ำตาลจากการหีบอ้อย มาแปรรูปเป็นเอทานอล ไม่น่าจะเพียงพอ แม้ว่าจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก หรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่มันสำปะหลังและอ้อย ก็ไม่น่าจะเพียงพอต่อความต้องการผลิต เนื่องจากมีอุตสาหกรรมแปรรูปเดิมใช้พืชทั้งสองชนิดอยู่ ทั้งโรงงานแป้งมัน โรงงานมันอัดเม็ด โรงงานน้ำตาล

ระบุแก่นตะวันยังเป็นพืชเสริมผลิตE85
เร่งพัฒนาพันธุ์/วิจัยพืชชนิดใหม่รองรับ


รศ.ดร.สนั่นกล่าวต่อว่า แก่นตะวัน ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เป็นพืชทางเลือก หรือพืชเสริมเพื่อใช้ผลิตเป็นเอทานอล แม้ว่าราคารับซื้อจะสูงกว่ามันสำปะหลังหรือกากน้ำตาลมาก แนวทางเบื้องต้น น่าจะจัดสรรการใช้ประโยชน์จากหัวแก่นตะวันสดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหัวแก่นตะวันเกรด A ควรนำไปขายเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ส่วนแขนงหรือหัวย่อย และกากแก่นตะวัน ซึ่งมีราคาต่ำกว่าหัวแก่นตะวันสด ควรนำมาหมักเป็นเอทานอลได้

ส่วนแผนงานอนาคตอันใกล้ คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเร่งต่อยอดงานวิจัยแก่นตะวันให้เหมาะสมต่อการผลิตในอุตสาหกรรมเอทานอลมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่เทคโนโลยีการแปรรูปเอทานอลจากพืชชนิดต่างๆ ณ ปัจจุบัน ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ได้ผลผลิตเอทานอลค่อนข้างต่ำ เชื่อว่า น่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปเอทานอลให้ได้ผลผลิตที่สูงกว่านี้อีกในอนาคต

อีกทั้งจะมีการนำเข้าพันธุ์แก่นตะวันจากต่างประเทศ เข้ามาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์แก่นตะวัน ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในเขตร้อนของไทยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในแง่การปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จากเดิมเฉลี่ย 2.5-3 ตัน/ไร่ น่าจะพัฒนาเพิ่มผลผลิตได้ถึง 5-6 ตัน/ไร่ในอนาคต

“คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีรศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยพืชพลังงาน มุ่งให้ความสำคัญต่องานวิจัยพืชพลังงานชนิดใหม่ ออกมารองรับยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของประเทศ อย่างต่อเนื่อง นอกจากแก่นตะวันแล้ว ยังมีพืชข้าวฟ่างหวาน ที่มีศักยภาพในการผลิตเป็นเอทานอล” รศ.ดร.สนั่น กล่าวและว่า

ล่าสุดคณะนักวิจัยพบว่า มันเทศ เป็นพืชอีกชนิดที่นำมาหมักเป็นเอทานอลได้ เนื่องจาก มันเทศให้เปอร์เซ็นต์แป้งสูง ลักษณะเดียวกับมันสำปะหลัง แต่เป็นพืชล้มลุกเก็บเกี่ยวระยะสั้น เพียงแค่ 90 วัน ก็สามารถขุดหัวมันเทศมาใช้แปรรูปได้ สามารถปลูกหมุนเวียนสูงถึงปีละ 3 ครั้ง โดยให้ผลผลิตเบื้องต้น 2-3 ตัน/ไร่ โดยจะมีการวิจัยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่หัวมันเทศให้สูงขึ้น ตามกรอบงานวิจัย การเพาะปลูกมันเทศเพื่อผลิตพลังงานทดแทน คาดว่าจะเริ่มได้ภายในเร็วๆนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น