xs
xsm
sm
md
lg

เผยร่างแรกแก้โลกร้อน อีก 40 ปีต้องลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่ำ 50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) อีโว เดอ โบร์ (Yvo de Boer), คอนนี่ เฮเดการ์ด (Connie Hedegaard) รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก และ เอริค ฮอลล์ (Eric Hall) เจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสาร ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าของการประชุม UNFCCC ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก (เอเอฟพี)

เวทีประชุมเจรจาแก้ปัญโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนผ่านไปครึ่งทาง เผยร่างข้อตกลงฉบับแรก กำหนดแนวทางควบคุมอุณหภูมิโลก ให้ร้อนขึ้นได้อีกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส พร้อมเสนอเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้สูงสุด 95% หรืออย่างน้อยที่สุด 50% ในปี 2593

ตัวแทนรัฐบาลจาก 192 ประเทศทั่วโลก กำลังถกแนวทางควบคุมก๊าซเรือนกระจกหลังปี 2555 กันอย่างเข้มข้น ในที่ประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ณ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 7-18 ธ.ค. นี้

หลังจากการเจรจาผ่านไปแล้วครึ่งทาง ที่ประชุมได้มีการเปิดเผยร่างฉบับแรกเกี่ยวกับข้อกำหนดแนวทางควบคุมอุณหภูมิโลกและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษถัดไป โดยมีสาระสำคัญอยู่ในเอกสารจำนวน 6 หน้า ที่กลั่นกรองมาจากต้นฉบับจำนวน 180 หน้า ซึ่งได้แจกแจงพันธะการควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา

ร่างแนวทางดังกล่าวเน้นการมี "วิสัยทัศน์" ร่วมกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป หรือปีเริ่มต้นหลังจากที่พิธีสารเกียวโตสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวได้กำหนดให้ทุกประเทศร่วมกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นไปได้ 3 แนวทาง ได้แก่ ลดให้ได้ 50%, 80% หรือ 95% ภายในปี 2593 และประเทศร่ำรวยควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-40% ภายในปี 2563 โดยเทียบกับปี 2533 ตามรายงานข่าวจากเอเอฟพีและเอพี

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ควรมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกด้วยแนวทางเรด (Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation: REDD) หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดการทำลายพื้นที่ป่า และควรได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี และความสามารถด้านต่างๆ จากประเทศพัฒนาแล้ว ทว่ายังไม่ได้มีการระบุจำนวนเงินที่ควรได้รับการสนับสนุนไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่าทุกฝ่ายควรจะร่วมมือกันเพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยการรักษาวัตถุประสงค์ของข้อตกลงไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส ตามที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรายงานไว้

หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่านี้ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและไม่สามารถหวนกลับคืนได้ดังเดิม รวมทั้งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอีกหลายสปีชีส์

ทั้งนี้ ประเทศอุตสาหกรรมเห็นชอบกับเป้าหมายที่ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ภายในปี 2593 ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่นำโดยจีนและอินเดียมีท่าทีนิ่งเฉยต่อเป้าหมายทุกแนวทาง หากยังไม่ได้รับความชัดเจนว่าประเทศร่ำรวยจะยอมรับภาระลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายรวมทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอุตสาหกรรมยังต่ำกว่าเป้าหมายระดับต่ำสุดอยู่มาก ทว่าสหภาพยุโรปกล่าวไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่าจะเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้เป็น 30% ภายในปี 2563 และปราถนาจะผลักดันให้ชาติร่ำรวยอื่นๆ ให้คำมั่นว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากขึ้นด้วยในระหว่างการเจรจาที่โคเปนเฮเกน

นอกจากนั้น ผู้นำสหภาพยุโรปยังได้ตกลงร่วมกันในเวทีประชุมที่บรัสเซลส์ว่าจะสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศยากจนเป็นช่วงเวลาสั้นจนถึงปี 2555 เป็นเงินจำนวน 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 120,000 ล้านบาท) เพื่อการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อีโว เดอ โบร์ (Yvo De Boer) เจ้าหน้าที่สูงสุดด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติ กล่าวว่า ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นให้ความสนใจต่อภาพใหญ่ ซึ่งการอภิปรายกันอย่างจริงจังถึงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและด้านการเงินได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งที่ยุโรปเสนอตัวเลขการลดก๊าซเรือนกระจกในที่ประชุมเจรจาว่าจะลดให้ได้ 30% นั้น เป็นการปลุกใจอย่างยิ่งใหญ่เพื่อไปสู่ปฏิบัติจริง

ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีการสรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของนานาประเทศหลังปี 2555 และลงนามยอมรับข้อตกลงอย่างเป็นทางการโดยรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศในวันที่ 18 ธ.ค. นี้ ก่อนปิดการประชุม.
อีโว เดอ โบร์ (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น