xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองเรื่องโลกร้อน บนเวทีโคเปนเฮเกนซัมมิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่านไปแล้วครึ่งทางสำหรับการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม และจะไปสิ้นสุดในวันศุกร์ ที่ 18 ธันวาคม

ไฮไลต์ของการประชุมจะไปอยู่ที่วันท้ายๆ ของการประชุมในสัปดาห์นี้ ซึ่งบรรดาผู้นำของประเทศต่างๆ ประมาณ 100 ประเทศจะเดินทางไปชุมนุมกันที่นั่น รวมทั้งประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐฯ นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายซาร์โกซี่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน นายฮาโตยามา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยด้วย

ระหว่างนี้ จะเป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ – รัฐมนตรี เพื่อหาข้อยุติร่วมกันที่จะไปใส่ไว้ในแถลงการณ์ซึ่งจะออกมาในวันสุดท้าย และให้ผู้นำชาติต่างๆ ร่วมลงนาม

หลังการประชุมเริ่มได้เพียงวันเดียว การประชุมก็ทำท่าว่าจะปั่นป่วน เมื่อ หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียนของอังกฤษ ไปเห็นเอกสารฉบับหนึ่งที่คาดว่า เป็นร่างข้อตกลงที่มีการเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว และมีการแจกจ่ายไปยังประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ บางประเทศ จึงนำรายละเอียดของร่างขอตกลงนี้มานำเสนอ

ผลปรากฏว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้เห็นร่างข้อตกลงนี้ ต่างไม่พอใจ เพราะเห็นว่า นี่คือ การสมคบคิดกันของประเทศร่ำรวย ร่างกติกาที่เอาเปรียบประเทศเล็กๆ และประเทศที่ยากจน เหมือนกับข้อตกลงทางการค้าไม่มีผิด

สาระสำคัญของร่างข้อตกลงนี้ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเดนมาร์ก ประเทศเจ้าภาพ สหรัฐฯ และอังกฤษ ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนารับไม่ได้คือ การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศกำลังพัฒนา อย่างไม่เป็นธรรม เมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรม กล่าวคือ ห้ามประเทศยากจนปล่ออยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 1.44 ตัน ต่อ ประชากร 1 คน ในปี ค.ศ.2050 แต่อนุญาตให้ประเทศร่ำรวยปล่อยได้ถึง 2.67 ตันต่อคน

ประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่า ร่างข้อตกลงนี้ เป็นการบิดเบือนข้อตกลงตามพิธีสารเกียวโต ที่เน้นไปที่การควบคุม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยผ่อนปรนให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพราะเห็นว่า ยังยากจน และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า ผู้ก่อให้เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

ร่างข้อตกลงนี้ยัง แสดงเจตนาของประเทศร่ำรวยว่า ต้องการเข้ามามีบทบาทในการเจรจาตกลงในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แทนองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นโต้โผใหญ่มาตั้งแต่แรก องค์การสหประชาชาติใช้แนวทางการเจรจาต่อรอง โดยคำนึงถึงความได้เปรียบ เสียเปรียบระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน เพื่อหาจุดลงตัวที่ไม่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องเสียเปรียบ และยึดหลัก ผู้ก่อให้เกิดมลภาวะ ต้องเป็นผู้แก้ปัญหา ซึ่งสะท้อนออกมาในพิธีสารเกียวโต ที่อะลุ่มอล่วยให้กับประเทศกำลังพัฒนนา แต่เข้มงวดกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

หากองค์การสหรปะชาชาติถูกกันออกไป และอำนาจในการเขียนกติกาแก้ไขโลกร้อน ตกไปอยู่ในมือของประเทศร่ำรวยแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาคงจะตกเป็นเบี้ยล่าง ในเรื่องนี้ เหมือนที่เคยเป็นมาโดยตลอดในเรื่องของ การเจรจาการค้า

เรื่องหนึ่งที่ชี้ว่า กลุ่มประเทศร่ำรวยต้องการเข้ามากุมอำนาจแทนองค์การสหประชาชาติคือ การบริหารจัดการเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และเพื่อสนับสนุนการถ่ายโอนเทคโนโลยี่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่จะให้กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เคยอยุ่ในความดูแลของสหประชาชาติ ในร่างข้อตกลงนี้ ต้องการให้ธนาคารโลก เข้ามาจัดการดูแลแทน

เชื่อกันว่า ร่างข้อตกลงนี้ ถูกเตรียมไว้ให้ประธานาธิบดีโอบามา และผู้นำชาติอุตสาหกรรม ที่จะเดินทางมาร่วมประชุมในสัปดาห์นี้ ผลักดันผ่านที่ประชุมสุดยอดผู้นำ ให้อออกมาเป็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของการประชุม และจะเป็นเงื่อนไขกำหนดทิศทางของ กฎหมายแก้ไขโลกร้อนฉบับใหม่ ที่จะมาใช้แทนพิธีสารเกียวโต

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้จัดประชุม จะอ้างว่า ร่างข้อตกลงนี้เป็นเพียงกรอบกว้างๆ สำหรับการเจรจาต่อรองกันเท่านั้น ไม่ใช่เตรียมไว้ใช้เป็นแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันคือ หลักฐานว่า แม้แต่ในเรื่องของธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติ กลุ่มประเทศที่ร่ำรวย ก็ยังมองปัญหานี้ แบบเดียวกับข้อตกลงทางด้านเศรษฐกิจ การค้า คือ คำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว และต้องการเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนาให้มากที่สุด

หลังจาก วาระซ่อนเร้น ที่แฝงอยู่ในร่างข้อตกลงนี้ถูกเปิดโปงออกมาแล้ว องค์การสหประชาชาติก็นำเสนอร่างกรอบการเจรจาของตนขึ้นมาบ้าง แต่มีเนื้อหากว้างๆ และเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญเรื่องหนึ่ง การเงินก็ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไร

การประชุมเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมา หนึ่งสัปดาห์ จึงกล่าวได้ว่า ยังไม่มีความคืบหน้ามากหนัก การประชุมระดับผู้นำในสัปดาห์นี้ จึงเป็นจุดสนใจว่า ระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาที่มีสหรัฐฯ และยุโรป เป็นผู้นำ กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีจีน อินเดีย และบราซิลเป็นพี่เบิ้ม จะมีข้อลงเอยอย่างไร

กำลังโหลดความคิดเห็น