แม้สถานการณ์อุณหภูมิและชั้นบรรยากาศโลกได้เริ่มย่ำแย่ให้ประจักษ์ แต่การประชุมเจรจาลดภาวะโลกร้อนเพื่อหาข้อตกลงฉบับใหม่ที่โคเปนเฮเกนก็หาได้ราบรื่น กระทั่งวันเกือบสุดท้ายก็มีแนวโน้มว่ายังไม่ลงตัว ท่ามกลางเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ จากทั่วโลกที่โอบล้อมอยู่ด้านนอก เพื่อหวังให้ผู้แทนชาติต่างๆ เสียสละเพื่อส่วนรวม แต่หลายๆ ประเทศก็ยังลังเล ไม่ยอม และเรียกร้องความช่วยเหลือ ไปดูกันกว่าในการประชุมมีกี่กลุ่ม กี่ก้อน และใครมีเสียงเรียกร้องอย่างไร
การประชุมเจรจาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ระหว่างวันที่ 7-18 ธ.ค.52 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อหาข้อตกลงต่อจากพิธีสารเกียวโตที่กำลังจะหมดผลแห่งสัญญาในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น มีตัวแทนรัฐบาลจาก 192 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุม แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่อรองครั้งนี้ คือ ประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มจี 77 (G77), จีน, ยุโรป และสหรัฐฯ
กลุ่มจี 77 และจีน
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นแกนหลักในการต่อรองกับประเทศร่ำรวย เห็นว่าประเทศร่ำรวยควรแสดงความรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น และควรลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีให้ได้อย่างน้อย 40% ภายในปี 2563 เทียบกับปี 2533 โดยมีข้อผูกพันทางกฎหมาย
ขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนากลุ่มนี้ก็ปฏิเสธที่จะตั้งเป้าในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศตัวเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศเขาจำเป็นจะต้องเข้าถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลในราคาถูก เพื่อดึงประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจน แต่ก็มีบางประเทศที่ตกลงจะร่วมลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจภายในปี 2563
ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาร่วมกันเรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน และเปลี่ยนแปลงสู่วิถีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมก็เสนอจะให้ความช่วยเหลือในแต่ละปีเป็นเงินจำนวน 1% ของจีดีพี หรือประมาณ 270 พันล้านยูโร (ประมาณ 13 ล้านล้านบาท)
ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
ประเทศกำลังพัฒนาที่มีจำนวนประชากรมากและมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว มักได้รับแรงกดดันจากประเทศร่ำรวยให้ร่วมแสดงความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจกในศตวรรษนี้ด้วย โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยจีนได้แสดงเจตจำนงว่าจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยจีดีพีให้ได้ 40-50% ภายในปี 2563 โดยเทียบกับปี 2548
ส่วนบราซิลให้คำมั่นว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 36-39% ในปี 2563 ด้วยการลดการทำลายพื้นที่ป่าอะเมซอน โดยเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าน่าถูกปลดปล่อยออกมาในปีดังกล่าว ขณะที่อินโดนีเซียบอกว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 26% จากการลดการตัดไม้ทำลายป่า เมื่อเทียบกับปริมาณที่คาดว่าน่าจะถูกปล่อยออกมาในปีเดียวกัน และอาจลดให้ได้ถึง 41% ด้วยความช่วยเหลือจากนานาชาติ
ด้านเกาหลีใต้ ซึ่งยังจัดอยู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ UNFCCC ก็ได้ให้คำมั่นว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ในปี 2563 ฟากอินเดียได้ยื่นข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจงเช่นเดียวกันกับแอฟริกาใต้ โดยมีการเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยมีข้อผูกมัดคล้ายกับพันธะกรณีในพิธีสารเกียวโต
ประเทศอุตสาหกรรม
ประเทศร่ำรวยแบ่งความเห็นออกเป็นหลายฝ่าย ทั้งเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดขึ้นเอง บ้างก็ประสงค์ที่จะยึดตามพิธีสารเกียวโต หรืออาจต้องการกลไกที่มีประสิทธิภาพสำหรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกแบบมีข้อผูกพันทางกฎหมาย
สหราชอาณาจักร ชาติที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลก และผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งยังอยู่นอกเหนือกรอบข้อตกลงในการประชุมที่เกียวโต กำลังผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างสมัครใจ โดยไม่มีพันธกรณีกับพิธีสารเกียวโต
สหรัฐฯ ระบุว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 17% ในปี 2563, 30% ในปี 2568, 42% ในปี 2573 และให้ได้สูงสุด 83% ในปี 2593 โดยเทียบกับปี 2548 ซึ่งเมื่อเทียบเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2563 ของสหรัฐฯ แล้วคิดเป็น 4% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2533
สหภาพยุโรปถือได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่รักษาข้อปฏิบัติในพิธีสารเกียวโตได้มากที่สุด ขณะที่สหรัฐฯ ปฏิเสธความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายในปี 2563 เทียบกับปี 2533 พร้อมเพิ่มเป้าหมายเป็น 30% หากประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ก้าวเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน
ส่วนญี่ปุ่นนั้นแม้ว่าจะเสนอเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 25% แต่ก็ตั้งเงื่อนไขขึ้นมามากมายด้วย ด้านแคนาดามองว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ในปี 2563 โดยเทียบกับปี 2549 ซึ่งเทียบเท่า 3% หากนำไปเทียบกับปี 2533 ขณะที่รัฐสภาของออสเตรเลียยังหารือกันไม่เสร็จว่าจะตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ในปี 2563 เทียบจากปี 2543 ระหว่าง 5% และ 25% ซึ่งตัวเลือกที่สูงกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อสรุปที่จะได้จากที่ประชุมในโคเปนเฮเกนด้วย
สำหรับกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนยังไม่มีความชัดเจนจากประเทศร่ำรวย แต่สหภาพยุโรประบุว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินสนับสนุนประมาณ 100 พันล้านยูโร (ประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท) ต่อปี ภายในปี 2563 ทว่าการจัดหาทุนสนับสนุนจากยุโรปยังล้มเหลวอยู่