16-17 ธ.ค. สวทช.จัดแข่งขันไอเดีย เปลี่ยนเทคโนโลยีเป็นธุรกิจ Idea to Product อุดช่องว่างการสร้างเงินจากความรู้ที่ยังมีอยู่น้อย ชี้ต้นเหตุนักวิจัยไม่มีความคิดเรื่องทำธุรกิจ ส่วนนักธุรกิจรู้ว่าจะสร้างธุรกิจอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าเทคโนโลยีนั้นคืออะไร
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการแข่งขัน Idea to Product เพื่อผลักดันงานวิจัย สวทช.สู่เชิงพาณิชย์ โดยทีมที่เข้าแข่งขันประกอบไปด้วยสมาชิก 2-4 คน มีข้อกำหนดต้องมีนักวิจัยจาก สวทช. หรือสถาบันอื่นที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช.อย่างน้อย 1 คน และมีนักศึกษาปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมแข่งขันอย่างน้อย 1 คน
ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบช ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) สวทช.เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งว่า แบ่งผู้เข้าแข่งขัน 16 ทีม เป็น 4 กลุ่ม และคัดเลือกผู้ชนะจากแต่ละกลุ่ม 1 ทีมเพื่อคัดเลือกผู้ชนะการแข่งขัน โดยมีตัดสินวันที่ 16-17 ธ.ค.52 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการประกอบไปได้ด้วยผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน นักวิจัยและที่ปรึกษากฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา
สำหรับเกณฑ์การตัดสินนั้น ดร.เอ็ดเวิร์ดกล่าวว่า ไม่มีเกณฑ์การตัดสินเป็นคะแนน เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเจอในชีวิตจริงของการทำธุรกิจ แต่กรรมการแต่ละคนจะพิจารณาว่าแนวคิดของทีมไหนที่น่าต่อยอดและมีโอกาสทางธุรกิจ จากนั้นต้องหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อคัดเลือกทีมชนะเลิศที่คณะกรรมการเห็นตรงกัน
ด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ คณะบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมในการแข่งขันครั้งนี้กล่าวถึงตัวอย่างผลการแข่งขันของปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแข่งขันปีแรก อาทิ แผนการทำธุรกิจ "ทองอัลลอยด์ผสม"ที่ใช้ผลิตเครื่องประดับทอง 14 กะรัต ซึ่งทำให้ใช้ทองในการผลิตเครื่องประดับน้อยลง 20% และทำให้เครื่องประดับใหญ่กว่าเดิม 20% หรือสารยืดอายุยางธรรมชาติไร้แอมโมเนียที่มีกลิ่นฉุนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น
สำหรับการแข่งขันที่จัดขึ้นนี้ ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า ไทยมีนักวิจัยที่เปลี่ยนเงินไปเป็นความรู้มามากแล้ว แต่ส่วนที่จะสร้างความรู้ไปเป็นเงินนั้นมีน้อยมาก จึงมีแนวคิดที่จะทำให้ให้ครบวงจร ทั้งนี้นักวิจัยเป็นผู้ที่มีแนวคิดในการสร้างเทคโนโลยีแต่ขาดความคิดว่าจะสร้างธุรกิจจากเทคโนโลยีที่ตัวเองสร้างได้อย่างไร ขณะที่นักธุรกิจมีแนวคิดว่าจะสร้างธุรกิจอย่างไร แต่ไม่ทราบว่าเทคโนโลยีของนักวิจัยนั้นคืออะไร จึงเกิดการแข่งขันนี้ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ "Lab 2 Market จากงานวิจัยไปสู่ตลาด" ของทีเอ็มซี