เนคเทคมอบสิทธิให้ 2 มหาวิทยาลัยร่วมใช้ซอฟต์แวร์ผ่าตัดรากฟันเทียม หลังพัฒนาต่อเนื่องร่วม 4 ปี และคว้ารางวัลมาแล้วหลายเวที หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนไข้ ด้วยซอฟต์แวร์ฝีมือคนไทย อนาคตให้สิทธิเอกชนผลิตเชิงพาณิชย์สู้กับซอฟต์แวร์ต่างประเทศ ด้าน มอ. วิจัยต่อยอดวิจัยลักษณะช่องปากคนไทย หาวิธีผ่าตัดรากฟันเทียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีลงนามการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ "ซอฟต์แวร์ผ่าตัดรากฟันเทียม เดนตี้แพลน" (DentiPlan) เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและวิจัยด้านทันตกรรม" ระหว่างเนคเทคกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 24 ก.ย.52 ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า การผ่าตัดรากฟันเทียมในประเทศไทยต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของทันตแพทย์เป็นหลัก เพราะยังขาดเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผนที่ดี โดยทั่วไปทันตแพทย์ต้องอาศัยข้อมูลจากภายถ่ายเอ็กซ์เรย์ (X-Ray) ซึ่งเป็นภาพถ่าย 2 มิติเท่านั้น ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการผ่าตัดได้ ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี นักวิจัยเนคเทคและคณะ จึงได้ร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์เดนตี้แพลน เพื่อช่วยในการวางแผนการผ่าตัดรากฟันเทียม
การใช้งานซอฟต์แวร์เดนตี้แพลน จะอาศัยข้อมูลรูปภาพฟันแบบ 3 มิติ จากการถ่ายภาพด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (X-Ray CT) ทำให้ได้ภาพที่เสมือนจริงและมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าภาพเอ็กซ์เรย์ 2 มิติทั่วไป ช่วยให้ทันตแพทย์ สามารถวางแผนการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการผิดพลาด ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยต่อการผ่าตัดรากฟันเทียมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีความเข้าใจในขั้นตอนการรักษาดียิ่งขึ้นด้วย
ทั้งนี้ นักวิจัยพัฒนาซอฟต์แวร์เดนตี้แพลนมาร่วม 4 ปีแล้ว และมีการพัฒนาปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเรื่อยมา จากการที่ได้นำไปทดลองใช้งานโดยทันตแพทย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนได้ซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ
อีกทั้ง ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2552 สาขาการแพทย์และสาธารณสุข ส่วน ดร.เสาวภาคย์ ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2551 จากผลงานวิจัยชิ้นนี้ด้วย ซึ่งสามารถช่วยลดการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศได้ ซึ่งมีราคาแพงตั้งแต่ 500,000-2,000,000 บาท
เนคเทคอนุญาตให้มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้สิทธิในซอฟต์แวร์เดนตี้แพลนเป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งเพื่อการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย และการรักษาผู้ป่วย โดยจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยส่วนหนึ่งเพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งในอนาคตเนคเทคจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชนเพื่อนำไปขยายผลต่อในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ด้าน รศ.ทพญ.ปริศนา ปริพัฒนานนท์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มอ. เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้นำซอฟต์แวร์เดนตี้แพลนนี้ ได้ใช้ในงานวิจัยร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) โดยศึกษาลักษณะโครงสร้างของโพรงอากาศข้างแก้มของขากรรไกรบน ซึ่งจำเป็นต้องทราบ เพื่อที่จะปลูกกระดูกรองรับรากฟันเทียมในคนไข้ที่สูญเสียฟันไปนานแล้ว และอีกงานวิจัยหนึ่งศึกษาทิศทางของเส้นประสาทในขากรรไกรล่าง จากคนไข้ประมาณ 100 ราย เพื่อความปลอดภัยในการผ่าตัดรากฟันเทียม เพราะที่ผ่านมายังมีข้อมูลในส่วนนี้ไม่มากนัก
"ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประมวลผลข้อมูล โดยเบื้องต้นเราได้ข้อมูลลักษณะของเส้นประสาทในขากรรไกรล่างที่เป็นข้อมูลของคนไทย ซึ่งแตกต่างไปจากลักษณะที่พบในชาวตะวันตก เนื่องจากกระดูกขากรรไกรคนไทยมีขนาดเล็กกว่า"
"อีกทั้งยังพบว่าที่กึ่งกลางขากรรไกรมีรูเปิดมากกว่า 1 รู หากผ่าตัดรากฟันเทียมบริเวณดังกล่าวอาจทำให้เลือดออกมากได้ และอาจเป็นอันตรายแก่คนไข้ ซึ่งผลที่ได้จากงานวิจัยนี้ทำให้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับคนไทยชัดเจนมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์สำหรับการผ่าตัดรากฟันเทียม รวมทั้งนำไปปรับปรุงพัฒนาซอฟต์แวร์เดนตี้แพลนให้มีความเหมาะสมกับคนไทยมากยิ่งขึ้นได้" รศ.ทพญ.ปริศนา อธิบาย.