การตัดสินใจเลือกเรียนต่ออะไรนั้น เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต และเป็นเหมือนเข็มทิศชี้อนาคตของหลายๆ คน แล้วเราจะเลือกเรียนอะไรระหว่าง "สาขาเรียนที่เราชอบ" กับ "สาขาเรียนที่มีอนาคต"
แต่สำหรับ "ดร.สันติ แม้นศิริ" เขาเลือกจะเรียนฟิสิกส์ที่เขารัก แม้ว่าตอนเรียนปริญญาตรีจะมีเพื่อนร่วมชั้นเพียง 7 คน เนื่องจากขะนั้นยังเป็นสาขายังหางานทำได้ยาก แต่ทุกวันนี้เขากลายเป็นนักวิจัยอันดับต้นๆ ของประเทศและมีผลงานตีพิมพ์วารสารวิชาการนานาชาติกว่า 60 ฉบับ
ด้วยวัยเพียง 36 ปีแต่มีผลงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติมากกว่า 60 ฉบับและมีผลงานที่โดดเด่น ในวันนี้ รศ.ดร.สันติ แม้นศิริ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (TWAS Prize Young Scienctists in Thailand) สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2552 เพิ่มเป็นอีกเกียรติภูมิหนึ่งในชีวิต โดยก่อนหน้านั้นเขาเคยได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2550 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นนี้ตั้งขึ้นโดยสภาวิทยาศาสตร์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Third World Academy of Sciences) หรือเดิมคือสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศโลกที่สาม ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 29 ประเทศ และประเทศสมาชิกจะคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์อายุไม่เกิน 40 ปีที่มีผลงานดีเด่นใน 4 สาขา คือ ชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ โดยจะมอบรางวัลหมุนเวียนกันไปปีละ 1 สาขา
รศ.ดร.สันติ เป็นนักฟิสิกส์ที่มีผลงานทางด้านวัสดุศาสตร์ โดยผลงานที่เขารู้สึกภูมิใจคือผลงานพัฒนาเครื่องผลิตเส้นใยนาโน ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลชมเชยผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และงานวิจัยเกี่ยวกับวัสดุตัวเก็บประจุซึ่งได้ตีพิมพ์ลงวารสาร แอพพลายด์ฟิสิกส์เลตเตอร์ส (Applied Physics Letters) วารสารฟิสิกส์ประยุกต์ที่ได้รับการยอมรับสูงถึง 5 บทความ โดยมี 3 บทความที่ตีพิมพ์พร้อมกันในปีเดียว
ปัจจุบันเขามีงานวิจัยวัสดุศาสตร์ใน 3 ด้าน อย่างแรกคือการผลิตเครื่องอิเล็กโทรสปินนิงสำหรับผลิตเส้นนาโน และผลิตเส้นใยนาโนจากเครื่องดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ทางการแพทย์ เช่น ผลิตผิวหนังเทียม แผ่นปิดแผลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือแผ่นเส้นใยนาโนที่ผสมตัวยาสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งต้องได้รับยาแต่อาจลืมกินยา โดยปิดไว้ในร่างกายผู้ป่วยเพื่อให้ตัวยาค่อยๆ ซึมเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย อีกทั้งประยุกต์เส้นใยนาโนเป็นอิเล็กโทรด (electrode) ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างแบตเตอรีลิเธียมไออน เซลล์เชื้อเพลิงและเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น
อีกด้านต่อมาคือการผลิตอนุภาคแม่เหล็กนาโน ซึ่งนำไปประยุกต์เป็นสารเพิ่มความเปรียบต่างหรือคอนทราสต์ (Contrast) ให้กับภาพถ่ายของเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) ใช้บำบัดเซลล์มะเร็งโดยวิธีทางความร้อน (Hyperthermia) ใช้คัดแยกดีเอ็นเอหรือโมเลกุลซึ่งสามารถแยกออกมาได้ด้วยสมบัติทางแม่เหล็ก และบำบัดน้ำเสียหรือจำกัดโลหะเป็นพิษในน้ำเสีย
ด้านสุดท้ายคือ งานวิจัยเกี่ยวกับไดอิเล็กทริกเซรามิกส์ (di-electric ceramics) เพื่อประยุกต์ใช้เป็นตัวเก็บประจุ โดยพัฒนาวัสดุที่มีค่าคงที่ไดอิเล็กทริกสูง และหาเหตุผลทางฟิสิกส์ว่าทำไมวัสดุดังกล่าวจึงมีค่าดังกล่าวสูง เขาบอกว่างานด้านนี้เป็นงานที่มีความเป็นฟิสิกส์สูงกว่างานวิจัยอื่นๆ ที่เขาทำ และเขามีพื้นฐานทางด้านฟิสิกส์ค่อนข้างเยอะและมีพื้นฐานทางด้านวัสดุศาสตร์ด้วย จึงทำวิจัยได้หลากหลาย โดยงานทั้งหมดที่เขาทำนั้นใช้ความรู้พื้นฐานเดียวกันประมาณ 50%
เดิมทีเมื่อครั้งเป็นนักเรียนมัธยมเขาสนใจในชีววิทยามากกว่า แต่เมื่อสอบได้คะแนนฟิสิกส์สูงสุดในชั้น จึงหันมาสนใจวิทยาศาสตร์กายภาพนี้ และเลือกสอบระบบรับตรงของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเรียนฟิสิกส์ ซึ่งย้อนกลับไปเกือบ 20 ปี สาขาฟิสิกส์ยังเป็นสาขาที่ไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากจบแล้วหางานยาก รุ่นเขาจึงมีเพื่อนร่วมชั้นเพียง 7 คน
"เรียนฟิสิกส์เท่ากับหมดอนาคต ยุคผมคนไม่นิยมเรียนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่นิยมเรียนเคมี จบแล้วเข้าโรงงานด้านปิโตรเคมี ได้เงินสูงกว่ามาก แต่จบฟิสิกส์แล้วไม่ค่อยมีงานรองรับ โรงงานสมัยนั้นยังไม่เปิดรับฟิสิกส์เท่าไหร่ แต่ผมเรียนเพราะชอบ" รศ.ดร.สันติเล่าถึงค่านิยมการเรียนสมัยเขายังเป็นศึกษา และปัจจุบันเขาบอกว่าเรียนฟิสิกส์แล้วมีอะไรให้ทำอีกมาก และโรงงานก็เริ่มเปิดรับผู้เรียนฟิสิกส์มากขึ้นแล้ว
ความสนใจทางด้านวัสดุศาสตร์ของเขาก็เริ่มในช่วงปริญญาตรีนั่นเอง ช่วงนั้นวัสดุกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดัคเตอร์กำลังเป็นที่นิยม เขาจึงเลือกทำโครงการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเซมิคอนดัคเตอร์แบบฟิล์มบาง และปริญญาโท-เอกเขาได้รับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปศึกษาวัสดุศาสตร์ที่สหราชอาณาจักร
ระดับปริญญาโทศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) โดยทำวิจัยเกี่ยวกับวัสดุอะลูมินา (Alumina) วัสดุผสมนาโนคอมโพสิท (Nano Composit) โดยศึกษาทางด้านคุณสมบัติเชิงกล ส่วนช่วงปริญญาเอกเขายังคงศึกษาวัสดุอะลูมินา แต่เน้นทางด้านคุณสมบติเชิงความร้อน และย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford)
"วัสดุหนึ่งๆ มีคุณสมบัติหลายอย่าง ทั้งคุณสมบัติเชิงความร้อน คุณสมบัติเชิงกล คุณสมบัติเชิงไฟฟ้า คุณสมบัติเชิงแม่เหล็ก การพัฒนาวัสดุให้นำไปประยุกต์ใช้ได้ตามต้องการนั้นต้องดูคุณสมบัติของวัสดุ ในด้านที่สนใจ อยากประยุกต์ด้านไหนก็ศึกษาสมบัติด้านนั้น" อาจารย์นักฟิสิกส์กล่าว และบอกด้วยว่าวัสดุศาสตร์นั้นมีพื้นฐานจากเคมีและฟิสิกส์ หากเรียนทั้งสองสาขาได้ดีจะเรียนด้านนี้ได้ ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นวัสดุศาสตร์ของเขานั้นมาจากหลากหลายสาขา ทั้งเคมี ฟิสิกส์และวิศวะ
ถึงตอนนี้หนุ่มอีสานคนนี้ได้ประจักษ์ต่อตัวเองและพิสูจน์ให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่า เรียนฟิสิกส์ไม่ไร้อนาคตอย่างที่เชื่อกันในอดีต และเขาเองยังได้ฝากถึงเยาวชนว่าทุกศาสตร์ดีเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แต่ถ้าเลือกเรียนสิ่งใดแล้วให้ทำให้ดีที่สุด รักและตั้งใจทำในศาสตร์นั้นๆ