ทีเอ็มซี - ไอแท็ปสนับสนุนที่ปรึกษาทางเทคนิคแก่ บ.โมลีคิว และ บ.เอเซนเทค ในการพัฒนาต้นแบบตู้อัตโนมัติรับฝากดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินกู้ยืมทองรูปพรรณของร้านทอง (Payment & Selling Kiosk) หรือตู้ QฺBic) และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลองค์กรด้วยสื่อดิจิทัล (Digital Content) ทำให้เกิดนวัตกรรมตู้ QBic ช่วยให้ร้านทองบริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงในการรับชำระเงิน ตรวจนับ และทอนเงินค่าดอกเบี้ยทองรูปพรรณ สร้างความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมยิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดบริการใหม่ใช้ตู้ QฺBic เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบด้วยระบบการควบคุมผ่าน เครือข่าย พร้อมต่อยอดงานวิจัยสร้างความร่วมมือในกลุ่มธุรกิจใหม่ “คิวบิคพอยท์” เพื่อร่วมลงทุนผลิตออกสู่ตลาด
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหน่วยงานไอแท็ป (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สวทช. เป็นผู้ให้การสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการผลิตต้นแบบนวัตกรรมตู้ธุรกรรมทางการเงินในธุรกิจร้านค้าทองคำ และการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการประชาสัมพันธ์มัลติมีเดียผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ตลอดจนเกิดการร่วมลงทุนเพื่อผลิตสู่ตลาด ซึ่งในอดีตอุปกรณ์เหล่านี้ประเทศไทยเราได้แต่ซื้อและนำเข้ามาจากต่างประเทศ การลงนามความร่วมมือของทั้งสามบริษัทในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการขยายผลสู่ตลาดต่อไป
“หน่วยงาน iTAP เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเจาะตรงการให้บริการสู่ภาคเอกชนเพื่อมุ่งให้มีการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากองค์กรที่มีความรู้ไปยังองค์กรที่ต้องการนำความรู้ไปใช้ในการทำธุรกิจ ผ่านทางคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในลักษณะของกิจกรรมการให้คำปรึกษาและออกแบบ ซึ่งมีผลงานความสำเร็จที่น่าสนใจจำนวนมาก ทั้งในระดับบริษัท ห้างร้าน และลงไปถึงระดับเกษตรกรรากหญ้า”รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการทีเอ็มซี กล่าวว่า นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จจากการสนับสนุนของ iTAP ในโครงการพัฒนาต้นแบบตู้อัตโนมัติรับฝากดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินกู้ยืมทองรูปพรรณของร้านทอง โดยบริษัท โมลีคิว (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโครงการเพื่อการพัฒนาต้นแบบตู้ฯดังกล่าว เพื่อให้สามารถรับชำระเงิน ตรวจนับ ทอนเงินค่าดอกเบี้ยทองรูปพรรณได้สะดวกขึ้น ใช้เวลาสั้นกว่าเดิมที่ใช้พนักงาน
โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาออกแบบรูปแบบภายในและภายนอก ระบบการทำงานแบบออนไลน์ เพื่อให้รองรับการทำงานแบบเครือข่าย และการศึกษาออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยของตู้เพื่อป้องกันทรัพย์สินภายในตู้ ตลอดจนการพัฒนาออกมาเป็น ตู้ต้นแบบ และอีกหนึ่งความสำเร็จคือโครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลองค์กรด้วยสื่อดิจิทัลของบริษัท เอเซนเทค(ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นการพัฒนาระบบการถ่ายทอดข้อมูลในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปยังสถานที่ตามที่ต้องการได้ผ่านเครือข่ายและการบันทึกสถิติข้อมูลผู้เข้าชมได้ ทำให้องค์กรสามารถสื่อสารข้อมูลได้ทันที ถูกที่ ถูกเวลา ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ยังเกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการร่วมลงทุนเพื่อผลิตออกสู่ตลาดด้วย ซึ่งถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ ถือเป็นแนวทางการทำธุรกิจแบบใหม่ที่เอกชนไทยมีความคิดสร้างสรรค์และได้หน่วยงานรัฐสนับสนุนให้เป็นรูปธรรมจนพร้อมเข้าสู่เชิงพาณิชย์อย่างสมบูรณ์” รองผู้อำนวยการ TMC กล่าว
ด้าน นายสมสิทธิ์ ดวงเอกอนงค์ ประธานกรรมการ บริษัท โมลีคิว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าตู้ PAYMENT & SELLING KIOSK หรือตู้ QBic เป็นตู้ธุรกรรมทางการเงินที่สมบูรณ์แบบ ประโยชน์ที่จะได้รับจากตู้ QBic นี้ มีหลายประการ ได้แก่ การร่วมกับร้านทองทั่วประเทศอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถส่งดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินต้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับ บมจ.ทีโอที ในการรับชำระค่าสาธารณูปโภคมากกว่า 52 รายการ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และอื่น ๆ และยังได้ร่วมกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด ในการขายตั๋วรถ บขส. และบริษัท กลางประกันภัย เพื่อขายตั๋วประกันบุคคลที่ 3 รถจักยานยนต์ด้วย
ขณะที่นายกำพล โชคสุนทสุทธิ์ กรรมการ บริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าระบบโฆษณาแบบออนไลน์ที่มีชื่อเรียกว่า Digital Content นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับงานโฆษณาบนตู้ QBic ซึ่งเป็นระบบควบคุมและส่งข้อมูลดิจิทัลผ่านระบบเครือข่าย เพื่อช่วยนำเสนอสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านตู้อัตโนมัติหรือจอภาพแสดงผล โดยสามารถควบคุมสื่อเหล่านั้นผ่านจากส่วนกลาง ด้วยการกำหนดสื่อที่ต้องการแสดง ตามกลุ่มของจอแสดงผล ตามตารางเวลาที่กำหนด รวมถึงการรวบรวมจำนวนครั้ง เวลาที่ใช้แสดงผล สามารถแบ่งพื้นที่แสดงสื่อได้หลายส่วนในหนึ่งจอและแสดงผลได้พร้อมกัน ซึ่งงานพัฒนาครั้งนี้จะช่วยลดการนำเข้าระบบดังกล่าวจากต่างประเทศได้ จุดเด่นคือ มีความหลากหลายในรูปแบบการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นแบบภายนิ่ง แบบ Flash หรือแบบ Movie
นายเกรียงศักดิ์ รัตนานนท์ หนึ่งในกลุ่มธุรกิจร่วมลงทุนในนาม “คิวบิคพอยท์” กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2553 ตู้ QBic จะเริ่มให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ และปริมณฑล หลังจากนั้นภายในปี พ.ศ. 2554 จะขยายการให้บริการทุกจังหวัดในประเทศไทยนับเป็นอีกก้าวหนึ่งจากแนวคิดใหม่ของคนไทยที่สร้างสรรค์การทำธุรกรรมการเงินแบบใหม่ ที่ครบวงจรและได้ขยายขอบเขตไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ได้นำระบบไอทีมาช่วยยกระดับคุณภาพและบริการให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น