xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมใหญ่สภาวิชาชีพวิทย์หาข้อบังคับ "ใบวิชาชีพ" คนวิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายนิรุจน์ อุทธา นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ
สภาวิชาชีพวิทย์ประชุมใหญ่ครั้งแรก หารือเรื่องการรับสมัครสมาชิกสภาและการฝึกอบรม พร้อมทั้งหาข้อกำหนดเรื่องใบประกอบวิชาชีพในวงการวิทยาศาสตร์ ด้านกรรมการให้ความเห็น สภาเพิ่งตั้งยังทำอะไรไม่ได้มาก แต่อนาคตจะมีบทบาทสำคัญ

สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 6 พ.ย.52 ณ อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก มีสมาชิกสภาเข้าร่วมประมาณ 200 คน และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมติดตามการประชุมครั้งนี้ด้วย

นายนิรุจน์ อุทธา นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อมี พ.ร.บ.ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วต้องมีคณะกรรมการสภาฯ เพื่อออกระเบียบต่างๆ และสมาชิกสภาต้องมาร่วมออกความเห็น ซึ่งการประชุมใหญ่ครั้งนี้เป็นการหารือกับสมาชิกเพื่อข้อมติในการพิจารณาออกข้อบังคับต่างๆ ทั้งหมด 3 ฉบับ

ข้อบังคับที่สมาชิกสภาฯ เข้าร่วมเพื่อพิจารณาฉบับแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพฯ ฉบับที่สองเป็นเรื่องข้อบังคับเรื่องการฝึกอบรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสุดท้ายคือข้อบังคับเกี่ยวกับการออกใบประกอบวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อได้ข้อบังคับทั้งหมดแล้วจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้พิจารณาเห็นชอบต่อไป

สำหรับข้อบังคับ เกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพนั้น นายนิรุจน์กล่าวว่าสำหรับวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการควบคุมอยู่แล้ว อย่างแพทย์ วิศวกรหรือสถาปนิกนั้น ทางสภาฯ จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง และวิชาชีพวิทยาศาสตร์ยังครอบคุลมไปถึงผู้ประกอบการภาคเอกชน เช่น เอกชนที่ขายสารเคมี เป็นต้น ซึ่งทางสภาฯ จะออกข้อบังคับออกมาควบคุม
"สำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์โดยไม่มีความรู้ และทำให้ประชาชนเดือดร้อนแล้วร้องเรียนมาที่สภา เราจะให้คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณซึ่งอยู่ระหว่างการแต่งตั้งนั้นออกไปสืบสวน-สอบสวน และมีการบังคับคดี โดยคณะอนุกรรมการอาจจะตั้งคณะทำงานขึ้นตามความเหมาะสม" นายนิรุจน์ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2551 มี 4 กลุ่มวิชาชีพวิทยาศาสตร์ที่ต้องได้รับการควบคุมตามข้อกำหนดของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหลุ่มวิชาชีพที่มีผลด้านความปลอดภัยต่อประชาชน คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กลุ่มวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์เคมี กลุ่มวิทยาศาสตร์จุลินทรีย์ ทั้งนี้สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นสภาวิชาชีพฯ ลำดับที่ 14 ของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 11,500 คน

ด้าน ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิตและคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงสิทธิประโยชน์ของการเข้าเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ ว่า จะได้รับการติดต่อข้อมูลข่าวสารจากทางสภาฯ และผู้ที่อยู่ในวิชาชีพควบคุมจะสามารถขอใบอนุญาตในการรับรองการทำงานได้ โดยได้ยกตัวอย่างการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียหรือควบคุมมลพิษนั้น กลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะออกใบรับรองการแบบดังกล่าวได้ หากมีใบอนุญาตจากสภา

พร้อมกันนี้ยังได้ยกกรณีปัญหาของเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองว่า ต้นต่อสำคัญมาจากการถือมาตรฐานการตรวจสอบมลพิษที่ไม่ตรงกันจึงเกิดการไม่เชื่อใจกัน อันดับแรกของการแก้ปัญหาคือการตั้งมาตรฐานการตรวจวัดให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งหากทำให้ถูกต้องก็จะไม่เกิดการถกเถียง และยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ชุมชนและโรงเรียนสามารถอยู่ร่วมกับเขตอุตสาหกรรมได้ เพราะมีความไว้วางใจกันและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา

ส่วนสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์จะมีส่วนร่วมในการแกปัญหามาบตาพุดอย่างนั้น ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเพิ่งตั้งสภาขึ้นมา แต่อนาคตจะมีบทบาทสำคัญอย่างแน่นนอน

ภายในการประชุมใหญ่สามัญของสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์นี้ ยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์สภาวิชาชีพและเทคโนโลยี ซึ่งผู้ชนะเลิศคือ นายเรืองวิทย์ ภู่ธราภรณ์ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 119 ผลงาน
 นายนิรุจน์ อุทธา มอบรางวัลให้แก่ นายเรืองวิทย์ ภู่ธราภรณ์ ผู้ชนะเลิศการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ
ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพและสมาชิกสภาฯ (ภาพทั้งหมดจากประทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น