วช. จัดประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สัตว์ทดลอง วันแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน เผยไทยใช้สัตว์ทดลองปีละ 4 แสนตัว แต่ยังไม่มีที่ใดเลี้ยงสัตว์ได้มาตรฐานสากล หวังอยากให้ไทยมีกฎหมายสัตว์ทดลองที่นานาชาติยอมรับ ด้าน "คุณหญิงกัลยา" เผยกระทรวงวิทย์พร้อมผลักดันเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายเต็มที่ หนุนให้ไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก พร้อมลดปัญหากีดกันการค้าระหว่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่างพระราชบัญญัติการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ... ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 52 ณ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดงานเมื่อวันที่ 9 พ.ย.52 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ และมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คน
ดร.ประดน จาติกวนิช ประธานคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใข้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองในสถาบันต่างๆ กว่า 60 แห่ง และมีการใช้สัตว์ทดลองปีละประมาณ 4 แสนตัว
แม้ว่าจะมีการประกาศใช้จรรยาบรรณการใช้สัตว์ เพื่องานทางวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2542 แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีสถาบันใดสามารถจัดการการเลี้ยงสัตว์ได้ตามมาตรฐานสากล หรือใช้สัตว์ทดลองได้อย่างสอดคล้องกับจรรยาบรรณการใช้สัตว์ ซึ่งทุกแห่งยังไม่มีความพร้อมทั้งทางด้านมารตรฐานคุณภาพของสัตว์ ที่จะนำมาใช้ สถานที่เลี้ยง วัสดุอุปกรณ์ บุคลากรและการกำกับดูแล
"หากประเทศไทยต้องการพัฒนางานวิจัยทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข การผลิตยา อาหาร และวัคซีน ให้ปลอดภัยต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และต้องการใช้ชาวโลกยอมรับผลงานและวิธีการที่ใช้ปฏิบัติต่อสัตว์ ประเทศไทยต้องมีกฎหมายที่สามารถกำกับดูและการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองให้เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของสากล" ดร.ประดนกล่าว
"แต่หากปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิดเช่นนี้ เราจะหวังอะไรไม่ได้เลยนอกจากสูญเสียชีวิตสัตว์และสิ้นเปลืองงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งยังอาจไม่ปลอดภัยจากสารพิษ มลพิษ และเชื้อโรคที่มาจากสัตว์ทดลองไม่ได้มาตรฐาน" ดร.ประดนกล่าว
ทั้งนี้ ปธ.กก.เพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใข้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้มีการผลิตและใช้สัตว์ทดลองเป็นไปตามจรรยาบรรณและมาตรฐานสากล
อีกทั้ง สัตว์ต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพอย่างดี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เครียด ไม่ติดเชื้อหรือได้รับความทุกข์ทรมาน รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการใช้สัตว์อย่างพร่ำเพื่อและนำสัตว์จากธรรมชาติมาใช้ เพื่อให้ผลงานวิจัยที่ได้มีความถูกต้องแม่นยำ มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้
การจัดสัมมนาประชาพิจารณ์และร่วมร่างพระราชบัญญัติในครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ องค์กรต่างๆ จากภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าว เพื่อนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและใช้สัตว์ฯ ให้มีความสมบูรณ์ เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมากที่สุด เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและดำเนินตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป ซึ่งในวันแรกของการสัมมนามีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวระหว่างเปิดงานสัมมนาว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นกฎหมายที่สำคัญมากทั้งในขณะนี้และไปจนถึงอนาคต เชื่อว่าหากมีการประชาพิจารณ์และฟังความอย่างรอบด้าน จะทำให้ได้กฎหมายที่ดีและมีความเหมาะสมได้ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.การเลี้ยงและใช้สัตว์ฯ ที่ปรับปรุงสมบูรณ์แล้วเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และผลักดันสู่กระบวนการออกกฎหมายต่อไป
"รัฐบาลมีนโยบายใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างงานสร้างเงินให้กับประชาชน ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำให้ไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ซึ่งหากไทยไม่มีมารฐานในการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ผลผลิตที่ได้อาจไม่มีความถูกต้อง และไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้ต่างชาติจะใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าได้ การมีกฎหมายบังคับใช้จะช่วยลดปัญหานี้ได้ และยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว