xs
xsm
sm
md
lg

สนุกคิดกับ "กลวิทยาศาสตร์" เรียนรู้วิทย์ง่ายๆ ด้วยเกมกลแสนสนุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไข่ลอยน้ำ กลวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องความเข้มข้นของสารละลายเกลือ
กระทรวงวิทย์เปิดมิติใหม่แห่งการเรียนรู้โลกวิทยาศาสตร์ นำเสนอกลวิทยาศาสตร์ หวังกระตุ้นต่อมความคิดให้เด็กไทย ได้ทั้งสาระและความสนุกจากการเรียนรู้สิ่งรอบตัวด้วยเกมกลง่ายๆ เตรียมเผยแพร่ออกอากาศทางฟรีทีวีให้เข้าถึงเยาวชนทั่วประเทศ หวังไกลให้เด็กไทยโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็นและคิดชอบ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเสนอมิติใหม่แห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน ด้วยเกมกลวิทยาศาสตร์ โดยจัดกิจกรรม “กลวิทยาศาสตร์กับ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์” เมื่อวันที่ 5 พ.ย.52 ที่ผ่านมา ณ ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งมีนักเรียนระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนสวนมิสกวันเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน

พญ.ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการเรียนรู้ของเด็ก สถาบันสร้างสรรค์ศักยภาพสมองครีเอตีฟเบรน กล่าวกับผู้สื่อข่าวและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ในโลกปัจจุบันมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมากมายที่ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ได้มากกว่าการเรียนการสอน ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ก็ก้าวหน้าขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งเราก็ต้องก้าวให้ทันกับสิ่งเหล่านั้น การศึกษาวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนไทยและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ล้วนพัฒนาขึ้นจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์

"เด็กไทยมีความสามารถไม่แพ้ใครในโลก เห็นได้จากการที่เด็กไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติและคว้ารางวัลมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หรือการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์"

"หากได้รับการกระตุ้นและส่งเสริมที่ดี ก็สามารถพัฒนาศักยภาพสมองของเยาวชนได้ ซึ่งเยาวชนเหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการส่งเสริม แต่หากเราอยากจะขยายโอกาสให้เด็กส่วนใหญ่ของประเทศมีศักยภาพทัดเทียมกัน ก็ต้องมีกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กเพื่อลดข้อจำกัดของการเรียนในห้องเรียน และสภาวะสังคมในปัจจุบัน" พญ.ศันสนีย์ กล่าว

พญ.ศันสนีย์ ให้ข้อมูลว่า เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี สมองจะมีพัฒนาการเรียนรู้เรื่องภาษาเป็นหลัก และเมื่ออายุประมาณ 3 ปี ขึ้นไป สมองส่วนที่เป็นเหตุเป็นผลจะเริ่มพัฒนา เด็กจะเริ่มเกิดความสงสัย ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ฉะนั้นจึงควรเริ่มส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้เด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่เด็กกำลังอยากรู้อยากเห็น หากได้รับการกระตุ้นหรือสนับสนุน เด็กจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยผู้ปกครองสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกหลานได้ง่ายๆ ด้วยกิจกรรมที่สนุกและเป็นเรื่องใกล้ตัว

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการเรียนรู้ของเด็กยังได้ให้ข้อเสนอแนะให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โดยให้เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนให้มากขึ้น เพราะการเรียนวิทยาศาสตร์ที่ดีไม่ได้มีอยู่แค่เฉพาะในห้องเรียนอย่างเดียวเท่านั้น

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวกับผู้สื่อข่าวและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า กิจกรรมสนุกคิดกลวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เยาวชนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างสนุกสนาน ได้สาระความรู้จากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว โดยกระตุ้นให้เด็กตื่นเต้นจากกลวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทำให้เด็กเกิดความสงสัย อยากรู้ แล้วจึงเฉลยกลด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วย กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดแบบมีเหตุผล สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และไม่จำเป็นว่าโตขึ้นจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เป้าหมายสูงสุดคืออยากให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็น คิดชอบ และใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา

ด้านนางฤทัย จงสฤษดิ์ หัวหน้าฝ่ายสร้างความตระหนัก สวทช. ยกตัวอย่างกลวิทยาศาสตร์ที่สามารถช่วยพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้เด็กและเยาวชน อาทิ "ยิ่งคน...ยิ่งดูด ยิ่งตียิ่งแข็งแรง" เป็นการอธิบายว่าทำไมคนเราเมื่อติดอยู่ในทรายดูด ยิ่งดิ้นรนหนีก็ยิ่งถูกดูด โดยจำลองเหตุการณ์ด้วยการนำแป้งข้าวโพดมาผสมกับน้ำแล้วคนให้เข้ากัน จะพบว่า ยิ่งคน แป้งยิ่งดูด และยิ่งตีแป้ง แป้งจะเปลี่ยนสภาพจากของเหลวเป็นของแข็งได้

ส่วนกลวิทยาศาสตร์ "ขวดดูดไข่" ทั้งที่ไข่ต้มฟองใหญ่กว่าปากขวด แต่ขวดก็สามารถดูดเข้าไปได้ เนื่องจากขวดแก้วเมื่อได้รับความร้อนจะขยายตัว และเมื่อนำไข่วางไว้บนปากขวด ทำให้อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ เมื่ออุณหภูมิเย็นลง ทั้งอากาศและขวดแก้วจะหดตัว ทำให้มีพื้นที่ว่างภายในขวดที่เปรียบเสมือนสุญญากาศและดูดไข่เข้าไปอยู่ในขวดได้

นอกจากนี้ยังมีกลวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น เทียนพิศวงดูดน้ำได้, ไข่ลอยน้ำ, อาบน้ำให้ใบบัว, ปลาว่ายในขวด, อยู่ๆ น้ำหายไปไหนเนี่ย, ลูกโป่งพองลมได้โดยไม่ต้องเป่า, เสกน้ำเปลี่ยนสี และ รวมกันแล้วไม่เหนียว เป็นต้น โดย สวทช. จะนำเสนอกลวิทยาศาสตร์เหล่านี้ให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านรายการ "สนุกคิด กลวิทยาศาสตร์" ซึ่งจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ทุกเช้าวันเสาร์ เวลาประมาณ 07.00 น. เริ่มเสาร์ที่ 7 พ.ย. 52 และจะออกอากาศต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 1 ปี.
พญ.ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์, ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ นางฤทัย จงสฤษดิ์ (เรียงจากซ้าย)
อยู่ๆ น้ำหายไปไหนเนี่ย เมื่อเทน้ำลงไปบนหิมะเทียม น้ำก็หายวับไปกับตา
อาบน้ำให้ใบบัว ไขความลับทำไมใบบัวไม่เปียกน้ำ
เทียนพิศวงดูดน้ำได้ ดูดน้ำที่อยู่รอบๆ ขวดให้หายเข้าไปในขวดได้ไงเนี่ย?
ยิ่งคน...ยิ่งดูด
ขวดดูดไข่ (ภาพจาก สวทช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น