ตัวแทนเกษตรกรลำไยลำพูนขอความชัดเจนเรื่องทำลายลำไยค้างสต็อก 46,800 ตัน ด้านโฆษกเผยกระทรวงวิทย์พร้อมดำเนินการได้ทันทีที่กระทรวงเกษตรเห็นชอบด้วยงบ 80 ล้านบาท ชี้จะช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชน ส่วนรายได้จากการขายเชื้อเพลิงอัดแท่ง 30 ล้านบาท จะหมุนเวียนไปสู่การพัฒนาคุณภาพลำไยในปีต่อไป
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะโฆษก วท.ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ภายหลังตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตลำไยจากจังหวัดลำพูน จำนวน 3 คน ขอเข้าพบ ได้แก่ นายชนะ ไชยชนะ ประธานวิสาหกิจชุมชน จังหวัดลำพูน, นายกำพล ขันคำกาศ ประธานคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรจังหวัดลำพูน และนายวิชาญ จาระธรรม รองประธานชุมนุมสหกรณ์จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามความคืบหน้าและความชัดเจนในการกำจัดลำไยค้างสต็อก จำนวนทั้งสิ้น 46,800 ตัน จากทั้งหมด 60 โกดัง ใน 5 จังหวัด ภายใต้โครงการรีไซเคิลลำไยค้างสต็อก ปี 2546/2547 โดยใช้เป็นพลังงานชีวมวล ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
โฆษกกระทรวงวิทย์ฯ กล่าวยืนยันว่า จะมีการดำเนินการในโครงการดังกล่าวอย่างแน่นอน แต่ข้อกำหนดในการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ บางข้อ ทำให้ต้องใช้งบดำเนินการสูงขึ้น เช่น ต้องขนส่งลำไยในระบบปิด เพื่อป้องกันเชื้อราฟุ้งกระจาย เป็นต้น จึงต้องมีการปรับแก้ไขให้เหมาะสม และไม่เกินงบ 90 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติให้กับกระทรวงเกษตรฯ เรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งเป็นงบดำเนินการตรวจนับลำไยในสต็อกจำนวน 10 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรฯ และ 80 ล้านบาท สำหรับรีไซเคิลลำไยเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งโดยกระทรวงวิทย์ฯ
สำหรับกระบวนการรีไซเคิลลำไยค้างสต็อกตามแนวทางที่ปรับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว จะทำโดยการบดลำไยที่ค้างอยู่ในโกดังให้เป็นผง ด้วยเครื่องจักรบริเวณด้านหน้าโกดังแต่ละแห่ง จากนั้นบรรจุในภาชนะปิดสนิทไม่ให้ฟุ้งกระจาย โดยใช้แรงงานเกษตรกรในพื้นที่ แล้วขนส่งไปรวมไว้ที่ศูนย์กลางใน จ.ลำพูน เพื่อเข้าสู่กระบวนการอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิง ด้วยเครื่องอัดแท่งชีวมวล ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการราว 10 เดือน จึงจะได้เชื้อเพลิงอัดแท่งสำหรับจำหน่ายต่อไป
รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวต่อว่า จะต้องซื้อเครื่องบดลำไยจากสมาคมเครื่องจักรกลไทยราว 32 เครื่อง หลังจากใช้งานเสร็จในโครงการนี้ ก็จะมอบให้กับเกษตรกรสำหรับใช้งานต่อไป และขั้นตอนการบดลำไยให้เป็นผงจะก่อให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชนประมาณ 18-20 ล้านบาท ส่วนเครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิงชีวมวลขณะนี้ กระทรวงวิทย์มีอยู่แล้วจำนวน 3 เครื่อง โดยเช่าจากสมาคมเครื่องจักรกลไทยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทย์ฯ เตรียมยื่นหนังสือการดำเนินโครงการดังกล่าวถึงนายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ภายสัปดาห์นี้ และรอให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาและตอบรับกลับมายังกระทรวงวิทย์ฯ หากได้รับความเห็นชอบก็สามารถเริ่มโครงการรีไซเคิลลำไยค้างสต็อกได้ทันที และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จราวกลางปีหน้า
สำหรับเชื้อเพลิงจากลำไยอัดแท่งที่ได้นั้น จะจำหน่ายแบบเหมารวมให้กับกลุ่มโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรงงานเซรามิก โรงงานลำไยอบแห้ง โรงไฟฟ้า เป็นต้น เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 30 ล้านบาท ซึ่งจะคืนให้กับรัฐบาลทั้งหมด เพื่อนำไปหมุนเวียนใช้ในการพัฒนาการปลูกและการแปรรูปลำไยในปีต่อๆ ไป
นอกจากนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าวิธีการรีไซเคิลลำไยค้างสต็อกให้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ได้รับความเห็นชอบจากเกษตรกรผู้ผลิตลำไย มากกว่าวิธีการกำจัดลำไยค้างสต็อกวิธีเดิม ที่จะทำโดยการฝังกลบหรือเผาทำลาย เพราะจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ที่จะใช้ในการฝังกลบ หรือหากเผาก็จะก่อให้เกิดมลพิษ และไม่ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนกลับมา
แต่การนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง นอกจากจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรให้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ทดแทนพลังงานจากแหล่งอื่น