ก.วิทย์แถลงข่าวความพร้อมอัดเชื้อเพลิงแท่งจากลำไยเน่าช่วย ก.เกษตรเคลียร์ 59 โกดังได้ใน 3 เดือน เตรียมแผนเช่าเครื่องจักร 60 เครื่องบดลำไยหน้าโกดังแล้วขนส่งไปอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงขาย คาดกำจัดลำไย 46,800 ตัน ได้เชื้อเพลิงขายคืนรัฐ 30 ล้านบาท เตรียมลงนามความร่วมมือกันสัปดาห์หาก ก.เกษตรเห็นชอบแผน
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวการดำเนินงาน เพื่อเสนอแผนงานโครงการแปรรูปลำไยค้างสต็อกปี 2546 และ 2547 ไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง เมื่อบ่ายวันที่ 30 มิ.ย.52 ณ ห้องโถงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า จะเสนอแผนดำเนินโครงการต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันศุกร์ที่ 3 มิ.ย.52 ซึ่งและหากได้รับความเห็นชอบ คาดว่าจะได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงในสัปดาห์หน้า และจะรีบดำเนินงานตามแผนให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมติจากคณะรัฐมนตรีให้กำจัดลำไยค้างสต็อกของปี 2546 และ 2547 ด้วยงบประมาณ 90 ล้านบาท โดยเดิมมีแผนเผาทำลายทิ้ง แต่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ยื่นข้อเสนอที่จะช่วยกำจัดลำไยโดยนำไปบดอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และได้รับความเห็นชอบ ซึ่ง ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวว่า สามารถดำเนินการตามข้อเสนอนี้ได้โดยไม่ต้องขอมติ ครม. เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้รับมติมาแล้ว ต่อไปเป็นการหารือระหว่างกระทรวง โดยในส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กลับมาพิจารณาว่าจะมีส่วนช่วยเหลือในการกำจัดลำไยค้างสต็อกอย่างไรได้บ้าง
ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะโฆษกกระทรวง ชี้แจงระหว่างแถลงข่าวซึ่งข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมด้วยว่า เมื่อครั้งเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546/2547 ที่เชียงใหม่นั้น เดิมทีมีความคิดเผาทิ้ง แต่ ก.วิทย์ได้เสนอว่ามีเครื่องจักรที่จะบดเป็นผงแล้วลำเลียงไปอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งลำไยค้างสต็อกเหล่านั้นเน่าเสียและมีเชื้อรา 4-5 ชนิด จึงไม่สามารถนำไปเป็นปุ๋ยหรือฝังกลบได้ เนื่องจากจะทำให้คุณภาพดินเสียหาย
ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้สนับสนุนสมาคมเครื่องจักรกลไทยมาตั้งแต่ปี 2548 ในการพัฒนาเครื่องจักรสำหรับอัดเชื้อเพลิงแท่งจากชีวมวล ซึ่งในการกำจัดลำไยค้างสต็อกนี้จะได้เช่าเครื่องจักร 60 เครื่องจากบริษัทเอกชนในสมาคมเครื่องจักรกลไทย เพื่อบดทำลายลำไยให้เป็นผงที่หน้าโกดัง 59 แห่งใน 4 จังหวัดภาคเหนือที่มีลำไยค้างสต็อก จากนั้นจะลำเลียงลำไยที่บดเป็นผงไปอัดเป็นแท่งในจังหวัดที่กำหนดให้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ จ.ลำพูน โดยบดลำไยหน้าโรงงานเพื่อแสดงความโปร่งใส
"มีลำไยที่จดทะเบียนเพื่อรอกำจัดทิ้ง 46,800 ตัน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะช่วยกระทรวงเกษตรฯ เคลียร์โกดังเก็บลำไยได้ภายใน 3 เดือน และใช้เวลาอีก 6 เดือนในการอัดเป็นแท่ง ซึ่งกระทรวงเกษตรมีค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดังเดือนละ 3.5 ล้านบาท" รศ.ดร.วีระพงษ์กล่าว
ลำไยค้างสต็อก 46,800 ตัน เปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งได้ 20,000 ตัน ซึ่งจะขายได้ตันละ 1,500 บาท คาดว่าจะมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงทั้งหมด 30 ล้านบาท ซึ่ง รศ.ดร.วีระพงษ์ระบุว่า ภาคเอกชนที่รับบดอัดลำไยจะต้องรับภาระในการจำหน่ายแท่งเชื้อเพลิงด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะขายคืนโรงงานอบแห้งลำไย 9,000 ตัน โรงงานเซรามิกส์ 8,000 ตัน โรงงาน 5,000 ตันและโรงงานอุตสาหกรรมอีก 1,400 ตัน ซึ่งทั้งหมดดำเนินงานด้วยงบประมาณ 78 ล้านบาท จากงบทั้งหมด 90 ล้านบาท โดยอีกกว่า 11 ล้านบาทเป็นค่าดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้ง
ส่วนนายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องจักรกลไทย กล่าวว่าสมาคมมีเครื่องจักรสำหรับบดทำลายลำไยโกดังละ 3 ชุด ซึ่งแบ่งเป้นลำไยเปียก ลำไยชื้นและลำไยแห้ง โดยกำลังของเครื่องจักรสามารถบดทำลายลำไยเป็นผงได้ชั่วโมงละ 6 ตัน โดยมีเวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และจะบดทำลายลำไยพร้อมกันวันละ 20 โกดัง
ทั้งนี้แท่งเชื้อเพลิงจากลำไยอบแห้งจะให้ความร้อนกิโลกรัมละ 4,500 กิโลแคลอรี ซึ่งแท่งเชื้อเพลิงลำไยออบแห้ง 2 กิโลกรัมจะให้ความร้อนเทียบเท่าน้ำมันเตา 1 ลิตร โดยราคาน้ำมันเตาไม่รวมภาษีตกลิตรละ 12 บาท ส่วนแท่งเชื้อเพลิงลำไยอบแห้งราคากิโลกรัมละ 3 บาท ดังนั้นหากใช้แท่งเชื้อเพลิงจากลำไยอบแห้งจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 50%.