xs
xsm
sm
md
lg

ออสเตรียเล็งขายเทคโนโลยีเปลี่ยน "น้ำมันใช้แล้ว" เป็น "ไบโอดีเซล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.กุสตัฟ เกรสเซล (Dr.Gustav Gressl) ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานทูตออสเตรีย มองของที่ระลึกให้ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ
ก.วิทย์จัดสัมมนาแนะนำนักธุรกิจไทย ให้รู้จักเทคโนโลยีพลังงานทดแทนจากออสเตรีย ด้านรองปลัดกระทรวงฯ เผยออสเตรียมีเทคโนโลยีเด่นด้านเปลี่ยน "น้ำมันใช้แล้ว" เป็น "ไบโอดีเซล" และสนใจขายเทคโนโลยีให้นักลงทุนไทย หลังประสบความสำเร็จกับฮ่องกง ระบุเมื่อได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ไทยจะผลิตได้เองอีก 3-4 ปี

สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับฝ่ายพาณิชย์ สถานทูตออสเตรีย จัดสัมมนาเรื่อง "การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน : ก้าวใหม่ของความท้าทายในอนาคต" เมื่อวันที่ 26 พ.ค.52 ณ โรงแรมโซฟิเทล เซนทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวด้วย

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเปิดงานสัมมนาดังกล่าวว่า วิกฤติพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งมีคาดการณ์ว่าอีก 40-50 ปีข้างหน้า โลกจะพบกับความขาดแคลนพลังงาน ทั่วโลกจึงมีความตื่นตัวกันทั่วหน้าในการพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานลม พลังงานแดด พลังงานชีวมวล

"แต่ไม่ว่าพลังงานใดก็ตาม เราจำเป็นต้องเข้าใจในเทคโนโลยีนั้นๆ เพื่อให้เกิดการต่อยอดที่มีประสิทธิพลและบรรลุเป้าหมาย แม้ยังอีกยาวไกล กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงเห็นควรให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งนอกจากจากการจัดสัมมนาแล้ว ยังจะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทราบว่าหัวข้อในงานนี้เน้นหนักที่ "ชีวมวล" ซึ่งไทยมีศักยภาพสูง เนื่องจากมีแหล่งทรัพยากรอันไม่จำกัด" รศ.ดร.วีระพงษ์กล่าว

ส่วนไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากการสัมมนาครั้งนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ได้ตอบคำถามดังกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการเปิดตัวเทคโนโลยีของออสเตรีย ซึ่งมีเทคโนโลยีในการผลิตไบโอดีเซลและก๊าซชีวภาพ และมีเทคโนโลยีในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้ว ซึ่งเดิมร้านอาหารต่างๆ ต้องนำไปทิ้ง แต่ปัจจุบันสามารถเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซลได้ และยุโรปก็ทำเรื่องนี้กันเยอะ

"การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการเปิดตัวให้ผู้ประกอบการพลังงานทดแทนของไทยได้รู้จักกับเทคโนโลยีจากออสเตรีย โดยประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลถึง 50% ในการภาคการขนส่ง รถโดยสาร สิบล้อ ไบโอดีเซลจึงเป็นทางเลือก ซึ่งเครื่องมือของเขานั้นผลิตไบโอดีเซลได้จากน้ำมันทุกชนิด ทั้งน้ำมันปาล์มสดหรือน้ำมันใช้แล้ว แต่น้ำมันปาล์มสดไม่เป็นที่นิยม เพราะสามารถแยกกลีเซอรอลออกมาสร้างมูลค่าได้ เขาจึงเน้นทางเรื่องน้ำมันใช้แล้วมากกว่า" รศ.ดร.วีระพงษ์กล่าว

รองปลัดกระทรววิทยาศาสตร์ฯ กล่าวด้วยว่า ทางออสเตรียสนใจที่จะเปิดตลาดเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในไทย โดยประสบความสำเร็จมาแล้วในฮ่องกง โดยมีทั้งเทคโนโลยีเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งจะเป็นช่องทางในการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งหากนำเข้าเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาในเมืองไทยในเบื้องต้น และบังคับให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์แบบ ในอีก 3-4 ปี ไทยก็จะมีเทคโนโลยีของเราเอง และลดต้นทุนการนำเข้าได้

พร้อมกันนี้ ดร.ทรงศักดิ์ เกียรติสุข จากบริษัท ท.เพิ่มทรัพย์เกษตร จำกัด ได้บรรยายพิเศษภายในงานสัมมนาถึงความท้าทายในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในอนาคต ทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิงจากพืช กังหันลมและเซลล์แสงอาทิตย์ โดยในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงจากพืชนั้นเขาระบุว่า ต้องเริ่มจากการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อรองรับกำลังการผลิต

ปัจจุบันเราปลูกมันสำปะหลัง ที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอลได้เพียงปีละ 2-3 ตันต่อไร่ ซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุนด้านพลังงาน จึงมีการบ้านว่าทำอย่างไรจึงจะเพิ่มผลผลิตให้ได้ปีละ 50 ตันต่อไร่ ซึ่งตอนนี้บริษัทของเขาเองผลิตได้แล้วไร่ละ 40 ตัน ส่วนปาล์มซึ่งวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลต้องปลูกให้ได้ผลผลิตปีละ 10 ตันต่อไร่ ขณะที่ตอนนี้เราปลูกได้เพียงปีละ 2-3 ตันต่อไร่

นอกจากการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแล้ว กระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิงเป็นอีกความท้าทายในการพัฒนาพลังงานทดแทน สำหรับการกลั่นเอทานอลนั้นมีความท้าทายว่า จะไม่ต้องกลั่นถึง 2 ครั้งได้อย่างไร รวมทั้งการนำยีสต์ซึ่งใช้ในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ หรือการผลิตไบโอดีเซลที่เรามีปัญหาเรื่องกลีเซอรอล ทั้งที่เป็นผลิตผลพลอยได้ที่สร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยาหรือแม้แต่ไอศครีม ซึ่งการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ต้องอาศัยการมองแบบนักเคมี แต่ที่ผ่านมาเรายังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนคนที่มีความรู้

ด้านการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยยังติดปัญหาที่มีการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ไม่มากนัก แต่มีอีกแนวทางที่น่าสนใจคือใช้หลักการรวมแสงอาทิตย์ เช่นเดียวกับที่อาร์คีมิดิส (Archimedes) ใช้จานรวมแสงเผากองทัพเรือของศัตรู แล้วเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปความร้อน ซึ่งเราเก็บความร้อนไว้ในสารเคมีได้ถึง 1,800-2,000 องศาเซลเซียส จากนั้นความร้อนดังกล่าวไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ ดร.ทรงศักดิ์กล่าวว่าต้องฉลาดและคิดแบบนักเคมี

ส่วนพลังงานลมนั้นหลายคนอาจบอกว่าไทยไม่มีลมที่จะหมุนกังหันลมได้ แต่ ดร.ทรงศักดิ์กล่าวว่าเราสามารถ สร้างลมได้จากหลังการลมบก-ลมทะเล ที่อากาศจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจะพัดเข้าสู่บริเวณที่มีอุณหภูมิสูง ซึ่งเขาได้เสนอความคิดให้ทำความคู่ไปกับการเก็บพลังงานความรู้จากแสงอาทิตย์ด้วยการรวมแสง.
งานสัมมนา การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน : ก้าวใหม่ของความท้าทายในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น