xs
xsm
sm
md
lg

ดร.แดน แนะไทยทุ่มวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ แก้วิกฤตเศรษฐกิจระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ดร.แดน ชี้ต้องใช้วิทย์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมไหนสร้างองค์ความรู้ได้ก่อนมีโอกาสร่ำรวยก่อนเพื่อน แนะรัฐบาลไทยควรเห็นความสำคัญและลงทุนวิจัยให้มากกว่าที่ผ่านมา พร้อมจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนด้วย เน้นที่จุดเด่นของประเทศ ด้าน วว. สนองนโยบายกระทรวงวิทย์ ด้วยงานวิจัยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เน้นวิจัยอาหาร พลังงานทดแทน ควบคู่ให้บริการวิทยาศาสตร์แก่ภาคเอกชน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ หรือ ดร.แดน ร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง "วิทยาศาสตร์...พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก" ในงานประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวที่จัดโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 52 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมด้วย พร้อมกับสื่อมวลชนและผู้แทนจากภาคเอกชนอีกมากมาย

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70-80 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต จะพบว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาทุกยุคทุกสมัย

ตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เริ่มล่าสัตว์เป็นอาหาร มีการประดิษฐ์เครื่องมือในการล่าสัตว์ และเมื่อเริ่มหันมาทำการเพาะปลูก ก็มีการคิดค้นเทคโนโลยีการเกษตร กระทั่งมีผู้คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำได้ ก็ทำให้สามารถผลิตได้มากขึ้น ขยายตลาดได้กว้างไกลขึ้น และเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสังคมไหนที่เข้าสู่ระบบนั้นๆได้ก่อน หรือสร้างองค์ความรู้นั้นได้ก่อน จะกลายเป็นมหาอำนาจและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

"ไม่มีเศรษฐกิจยุคใดก้าวหน้าได้โดยปราศจากองค์ความรู้ องค์ความรู้เป็นตัวสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็หมายถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะทำให้มีความสามารถในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความคุ้มทุน และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่สร้างองค์ความรู้เป็นของตัวเอง ก็จะต้องล้าหลังและตามประเทศอื่นเรื่อยไป" ดร.เกรียงศักดิ์กล่าว

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ภาคอุตสาหกรรมมากเท่าที่ควร มีการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อย ผลที่ได้จึงน้อยตามไปด้วย

และประเทศไทยยังมีบุคลากรระดับปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์น้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของสังคม และบริบทของสังคมไทยก็ยังไม่เอื้อให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานวิจัย รวมถึงขาดความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับหน่วยงานวิจัย

"ต้องแก้ไขให้ถูกจุด ทำให้สังคมไทยเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น รัฐบาลจะต้องทุ่มทุนสนับสนุนการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากกว่านี้ โดยพุ่งเป้าไปที่จุดเด่นของประเทศ เช่น สมุนไพร และพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะประเทศไทยมีพืชสมุนไพรจำนวนมาก และมีแสงแดดตลอดทั้งปี ควรทำให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางในเรื่องเหล่านี้ให้ได้" " ดร.เกรียงศักดิ์ชี้แนะ

นอกจากนั้น ภาคเอกชนก็ต้องร่วมลงทุนสนับสนุนงานวิจัยด้วยเช่นกัน โดยที่รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนด้วย และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่ภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม

ด้านนายสุรพล วัฒนวงศ์ รักษาการผู้ว่าการ วว. เปิดเผยกับ สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า วว. ผลิตผลงานวิจัยและถ่ายทอดสู่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารแปรรูปจากผลิตผลทางการเกษตร บล็อคประสานจากดิน ปุ๋ยอินทรีย์ และเครื่องจักรแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งช่วยให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น และในระยะหลังๆ มานี้ วว. มุ่งเน้นวิจัยเพื่อตอบโจทย์ภาคเอกชนมากขึ้น ทำให้ผลสำเร็จถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

อีกทั้งนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็มุ่งที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติอยู่แล้วด้วย และในการประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ก็เพื่อศึกษาข้อมูล ดูความต้องการของภาคเอกชน เพื่อวางแผนงานวิจัยในปีต่อๆไป โดยเน้นใน 3 เรื่อง ได้แก่ อาหารและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ, พลังงานและสิ่งแวดล้อม และบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

"ประเทศเรามีผลผลิตจากการเกษตรจำนวนมาก เราจะสามารถนำอะไรมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อย่างไรบ้าง เรื่องพลังงานทดแทนเราก็ศึกษาวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องศึกษาการผลิตในปริมาณมากขึ้น การทำให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น หรือศึกษาหาวัตถุดิบที่เหมาะสมจะนำมาใช้มากที่สุด ซึ่งไม่แน่ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจได้ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตได้เองในประเทศไทย" รักษาการผู้ว่าการ วว. กล่าว.
นายสุรพล วัฒนวงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น