xs
xsm
sm
md
lg

เร่งยกระดับอุตสาหกรรมยาไทยสู่สากล หวังใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์
นักวิจัยเร่งพิสูจน์ตำรับยาไทย หวังยกระดับยาแผนโบราณ เทียบมาตรฐานสากล อนาคตอาจแทนยาแผนปัจจุบันได้ ไม่ต้องนำเข้ายาแพง ก.พาณิชย์หนุนยกระดับอุตสาหกรรมยาไทย ให้ทุนมหิดลเป็นพี่เลี้ยง เตรียมรับมือเปิดเขตการค้าเสรีในอาเซียน ป้องกันยาสมุนไพรจากประเทศเพื่อบ้านเข้ามาตีตลาด

รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ นักวิจัยจากภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ในงานสัมมนาการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรสู่ระดับอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 52 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เกี่ยวกับเรื่องของการยกระดับยาแผนโบราณสู่มาตรฐานสากล

"เดิมทีเราใช้สมุนไพรตามภูมิปัญญาที่มีมาแต่ดั้งเดิม แต่ในทางการแพทย์ มันเป็นเรื่องยาก ในปัจจุบันจะอ้างแต่ภูมิปัญญาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักวิจัยจึงต้องเป็นผู้พิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง" รศ.ดร.นพมาศ กล่าว

นักวิจัยกล่าวต่อไปว่า ในการวิจัยยาแผนโบราณนั้นส่วนที่สำคัญมากที่สุดก็คือตัววัตถุที่นำมาวิจัย ซึ่งในบันทึกของภูมิปัญญาไทยจะบันทึกไว้เป็นภาษาไทยที่มีชื่อซ้ำกันเยอะมาก ทั้งที่จริงอาจเป็นพืชคนละชนิดกัน ดังนั้นจึงต้องมีการพิสูจน์ว่าในตำหรับยานั้นประกอบไปด้วยพืชอะไรโดยใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นต้นอะไร อยู่ในวงศ์ไหน

นอกจากนั้นต้องพิจารณาว่านำส่วนใดของพืชมาใช้ เพราะแต่ละส่วนของพืชในต้นเดียวกัน มีสารที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันทั้งชนิดและปริมาณ เช่น ต้นยอ ซึ่งมีการนำผลยอมาทำผลิตภัณฑ์ แต่บางคนอาจจะคิดว่ากินห่อหมกใบยอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกินผลิตภัณฑ์จากผลยอก็ได้ ซึ่งที่จริงใบยอไม่ได้มีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทานเลย แต่มีอยู่ในผลยอ

ในการทำงานวิจัยต้องดูว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้นเขาใช้ส่วนไหนของพืชอะไรมาเป็นยา และต้องดูด้วยว่าภูมิปัญญาใช้วิธีใด บางตำหรับต้มกับน้ำ บางตำหรับดองในแอลกอฮอล์ ซึ่งตัวยาที่ออกมาในน้ำและแอลกอฮอล์ก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้นักวิจัยเตรียมสารสกัดได้อย่างถูกต้องตามหลักภูมิปัญญา

ส่วนในขั้นตอนการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดก็ต้องใช้วิธีที่เป็นสากล นักวิจัยต้องตีโจทย์ก่อนว่า ตำรับยาสมุนไพรดังกล่าวใช้แก้โรคอะไร และการทดลองอะไรจะมาช่วยยืนยันสรรพคุณตรงนี้ได้ เช่น ยาหอม ใช้แก้โรคเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน

ดังนั้นจะต้องพิสูจน์ว่ามีฤทธิ์เพิ่มการหมุนเวียนของโลหิตช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น ช่วยปรับความดันให้เป็นปรกติ ช่วยขับลม หรือช่วยให้ลำไส้บีบตัวลงล่างได้หรือไม่ เป็นต้น เมื่อตีโจทย์วิจัยได้ก็อาจแบ่งหน้าที่นักวิจัยแต่ละคนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ร่วมกันพิสูจน์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในคนทั่วไปได้

"แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการศึกษาความเป็นพิษร่วมด้วย ไม่ว่ายาจะมีสรรพคุณดีมากแค่ไหน แต่หากมีความเป็นพิษด้วย ก็พัฒนาไปไม่รอด ฉะนั้นยาที่ดีจะต้องออกฤทธิ์ได้ดีแต่มีความเป็นพิษต่ำมากหรือไม่มีเลย ซึ่งการทดลองที่ว่ามาทั้งหมดเหล่านี้อยู่ในขั้นพรีคลินิก หรือก่อนทดลองในคน นักวิจัยต้องศึกษาจนได้ข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนแล้ว จึงจะสามารถทดสอบต่อในคนได้"

การทดสอบในคนก็มีหลายขั้นตอน โดยต้องเริ่มจากทดสอบกับอาสาสมัครที่เป็นปรกติและมีสุขภาพแข็งแรงก่อน เพื่อดูอาการต่างๆ เช่น การแพ้ ปริมาณยาในกระแสเลือด หากไม่พบความผิดปรกติใดๆ จึงจะทำการทดสอบต่อไปในผู้ป่วยได้ โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับยาจริงและยาหลอก และที่ได้รับยาในปริมาณต่างๆ

เมื่อได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากพอก็สามารถขออนุญาตผลิตสู่ตลาดได้โดยมีการควบคุมคุณภาพให้มีสารออกฤทธิ์ในปริมาณที่เหมาะสม หลังจากนั้นก็ยังต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ต่อไปอีก เพื่อศึกษาในกลุ่มผู้ใช้ที่กว้างมากขึ้น

รศ.ดร.นพมาศ กล่าวอีกว่าแม้ยาแผนโบราณของไทยในขณะนี้ส่วนใหญ่อาจยังเทียบกับยาแผนปัจจุบันไม่ได้มาก แต่ก็เป็นเรื่องดีที่มีการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น ทำให้ต่อไปในอนาคตยาแผนโบราณอาจจะสามารถนำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันก็ได้ ซึ่งขณะนี้นักวิจัยก็กำลังพยายามกันอย่างมาก เพราะจะช่วยให้ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้

รศ.ดร.นพมาศ บอกอีกว่าขณะนี้กระทรวงพาณิชน์ก็ให้ทุนสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมยาไทย โดยให้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหิดลในการเผยแพร่ความรู้และอบรมการพัฒนารูปแบบการผลิตยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 19 ชนิด ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ให้ยาอยู่ในรูปแบบที่ดี สามารถนำไปใช้ได้ไม่ยาก เช่น อยู่ในรูปยาเม็ด แคปซูล หรือเจล

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือในการเปิดเขตการค้าเสรีในอาเซียนที่อาจทำให้ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรจากประเทศเพื่อนบ้านที่ดีกว่าเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย.
กำลังโหลดความคิดเห็น