xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ธัญบุรี ต่อยอดเกราะอ่อนกันกระสุน ให้ป้องกันอาวุธสงครามเทียบชั้นเกราะแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.สมประสงค์ ภาษาประเทศ โชว์แบบเสื้อเกราะอ่อนกันกระสุนระดับ 3A จากเส้นใยพอลิเอสเตอร์ ในงานวันนักประดิษฐ์ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 2-5 ก.พ. 52
นักวิจัย มทร.ธัญบุรี เตรียมผลิตเสื้อเกราะอ่อนกันกระสุนลอตแรก 50 ตัว ให้รั้วของชาติ พร้อมต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพให้ป้องกันอาวุธสงครามได้เทียบเท่าเกราะแข็งของต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่าครึ่ง ตั้งเป้ายิงทดสอบนัดแรกในปีนี้

ผศ.ดร.สมประสงค์ ภาษาประเทศ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้เขาและทีมวิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดเสื้อเกราะอ่อนกันกระสุน จากผ้าใยประดิษฐ์ให้มีประสิทธิภาพสูงถึงขึ้นป้องกันอาวุธสงครามได้เทียบเท่าเสื้อเกาะแข็งของต่างประเทศ แต่ให้มีน้ำหนักเบากว่าและราคาถูกกว่า

"ทีมวิจัยได้พัฒนาเสื้อเกราะอ่อนกันกระสุนจากเส้ยใยพอลิเอสเตอร์ และนำไปทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันกระสุนปืนโดยยิงด้วยกระสุนปืนขนาดต่างๆ พบว่าผ้าทอจากเส้นใยพอลิเอสเตอร์ความหนา 80 ชั้น สามารถป้องกันกระสุนได้ถึงระดับ 3A ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประสิทธิภาพเสื้อเกราะอ่อนตามมาตรฐานเอ็นไอเจ (National Institute of Justice: NIJ) ของสหรัฐอเมริกา" ผศ.ดร.สมประสงค์แจง

ทั้งนี้ หากนำไปผลิตเป็นเสื้อเกราะสำหรับใช้งานจริง จะทำให้เสื้อเกราะอ่อนแต่ละตัวมีน้ำหนักราว 8 กิโลกรัม และมีต้นทุนต่ำกว่าเสื้อเกราะอ่อนนำเข้าจากต่างประเทศ (ราว 4-5 หมื่นบาท) ถึงครึ่งหนึ่ง

อีกทั้งในปีนี้นักวิจัยยังได้ทุนจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในการผลิตเสื้อเกราะอ่อนจำนวน 50 ตัว เพื่อมอบให้กระทรวงกลาโหมนำไปใช้งานจริง โดยอยู่ระหว่างการขออนุญาตการผลิตจากกระทรวงกลาโหม เพื่อผลิตเสื้อเกราะสำหรับทดสอบจริงครั้งสุดท้าย (ทดสอบยิงในรูปเสื้อเกราะที่ผลิตเป็นตัวแล้ว) ก่อนผลิตให้นำไปใช้งานจริง

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สมประสงค์ เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังจะพัฒนาต่อยอดเสื้อเกราะอ่อนดังกล่าวให้สามารถป้องกันอาวุธสงครามได้ เช่น เอ็ม 16 และไรเฟิล เพื่อใช้ทดแทนเสื้อเกราะแข็งของต่างประเทศที่มีน้ำหนักมากกว่าและราคาสูงกว่ามาก

"เรากำลังพัฒนาเซ็นเซอร์ สำหรับตรวจวัดประสิทธิภาพการกระจายแรงจากจากหัวกระสุนและการดูดซับแรงกระแทกของเสื้อเกราะว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำจริงๆ สำหรับพัฒนาโครงสร้างของผ้า จากเส้นใยที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพป้องกันสูงสุด เพราะหากอาศัยเพียงแค่องค์ความรู้และประสบการเดิมโดยไม่ใช้เซนเซอร์ช่วยในการตรวจวัด อาจไม่สามารถตรวจจับความแตกต่างที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยได้ หรือทำให้วิเคราะห์ผิดพลาดได้" ผศ.ดร.สมประสงค์เผย โดยนักวิจัยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีนี้น่าจะได้ต้นแบบเสื้อเกราะอ่อนป้องกันอาวุธสงครามในการยิงทดสอบประสิทธิภาพนัดแรก

ทั้งนี้ การพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมพลาธิการทหารอากาศ, แผนกทดสอบทางขีปนวิธี โรงงานวัตถุระเบิดทหาร กรมการอุตสาหกรรมทหาร, ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร.
ตัวอย่างผ้าทอจากเส้นใยพอลิเอสเตอร์จำนวน 80 ชั้น ที่ผ่านการยิงทดสอบด้วยกระสุนขนาด .44 ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันได้ในระดับ 3A ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเสื้อเกราะอ่อน ตามมาตรฐาน NIJ
กำลังโหลดความคิดเห็น