กระทรวงวิทย์หนุนเอกชนไทย ใช้วิศวกรรมย้อนรอย พัฒนาเครื่องจักรประสิทธิภาพเทียบเท่าของนอก 4 เครื่องต้นแบบล่าสุด ตอบโจทย์ทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น, พลาสติก และสิ่งแวดล้อม หวังช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ พร้อมพัฒนาศักยภาพคนไทยในด้านวิศวกรรม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ สถาบันไทย-เยอรมัน หรือทีจีไอ (TGI) แถลงข่าวผลสำเร็จการพัฒนาเครื่องจักรในกระบวนการผลิต ภายใต้โครงการวิศวกรรมย้อนรอย เมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมนำเครื่องจักรต้นแบบทั้ง 4 ชนิดมาจัดแสดง ณ ห้องโถง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำโครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรในกระบวนการผลิตด้วยวิศวกรรมย้อนรอยมาตั้งแต่ปี 2547 และในปี 2551 ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับทีจีไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม
"โครงการวิศวกรรมย้อนรอยเป็นการสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทย โดยคนไทย ด้วยการศึกษาย้อนรอยเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ และพัฒนาต้นแบบขึ้นมาใหม่ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกันหรือมากกว่า แต่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า สามารถแข่งขันได้ ที่สำคัญยังช่วยสร้างกำลังคนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนาประเทศต่อไปได้อย่างยั่งยืน" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
จากโครงการดังกล่าวสามารถส่งเสริมให้เอกชนไทยพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบสำเร็จจำนวน 4 เครื่อง ที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ เครื่องตัดด้วยลวดอัตโนมัติพร้อมซอฟต์แวร์ช่วยในการผลิต โดยบริษัท ใจ อินเวนเตอร์ จำกัด, เครื่องอัดก้อนเศษโลหะ โดย บริษัท แอพพลายด์ เพาเวอร์ จำกัด, เครื่องตัด Pattern พร้อมซอฟต์แวร์ช่วยในการผลิต โดย บริษัท สแกนเนอร์สสามมิติ (3D Scanners) ประเทศไทย จำกัด และ เครื่องจักรเป่าขวดพลาสติกพีอีทีสำหรับขวด 10 ลิตร โดย บริษัท มหาธานีอุตสาหกรรม จำกัด
ด้าน นายณรงค์ ฉลาดธัญกิจ จากบริษัท แอพพลายด์ เพาเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาเครื่องอัดก้อนเศษโลหะ เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนว่า พัฒนาเครื่องอัดก้อนเศษโลหะขึ้นจากปัญหาทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรงกลึงหรือโรงผลิตชิ้นส่วนโลหะจะมีเศษโลหะเหลือทิ้งจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการจัดเก็บและสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่ง เนื่องจากการฟูตัวของเศษโลหะ ทำให้ต้องขนส่งหลายเที่ยว
"เครื่องอัดก้อนเศษโลหะนี้สามารถอัดเศษโลหะที่ฟูตัวให้เป็นก้อนและมีปริมาตรเล็กลงได้ 20-30% ก้อนละประมาณครึ่งกิโลกรัม โดยมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 70-80 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของโลหะ ก้อนโลหะที่ได้จะไม่แตกหลุดออกมาได้ง่าย ทำให้สะดวกและประหยัดพลังงานในการขนส่งและการนำไปรีไซเคิลต่อไป ซึ่งเครื่องจักรประเภทนี้จะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคต เพราะมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" นายณรงค์ อธิบาย ซึ่งเครื่องอัดก้อนโลหะต้นแบบนี้มีราคาประมาณ 1.2 ล้านบาท แต่ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าถึง 3.5 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ผลิตเครื่องจักรแบบนี้ได้
ด้านนายสุริยา ทองเชตุ จาก บริษัท สแกนเนอร์สสามมิติ ประเทศไทย จำกัด ผู้พัฒนาเครื่องตัด Pattern พร้อมซอฟต์แวร์ช่วยในการผลิต เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมแฟชั่นกระเป๋ารองเท้าค่อนข้างมาก โดยต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ และตัดแบบออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วประกอบเข้ากันเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งโรงงานขนาดใหญ่ใช้เครื่องจักรที่นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ส่วนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและยังต้องอาศัยแรงงานคนเป็นหลัก
จึงได้พัฒนาเครื่องตัด Pattern พร้อมซอฟต์แวร์ช่วยในการผลิต เพื่อช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และช่วยลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ โดยควบคุมการทำงานของเครื่องด้วยซอฟต์แวร์ เป็นได้ทั้งเครื่องตัดและเครื่องวาดแบบ ตัดได้ทั้งวัสดุที่เป็นหนัง ผ้า หรือกระดาษที่มีความหนาไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร สามารถตัดแบบได้อย่างแม่นยำ โดยมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับของต่างประเทศ แต่มีราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง และในอนาคตจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
เครื่องจักรต้นแบบฝีมือคนไทยพัฒนาจากวิศวกรรมย้อนรอยเหล่านี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับของต่างประเทศ แต่ราคาต่ำกว่าราว 30-50% และหากมีการผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้นจะทำให้ราคาต่ำลงได้อีก ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้มาก