xs
xsm
sm
md
lg

ปีหน้า วศ. เตรียมเปิดแล็บใหม่ พร้อมให้เอกชนร่วมใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ บรรยายพิเศษในระหว่างการเสวนาเรื่อง ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย...สินค้าไทยสู่สากล ณ ห้องประชุม อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 52
กรมวิทย์บริการจัดเสวนาเผยแพร่ความรู้ และบริการมาตรฐานสินค้าปลอดภัย หวังขยายฐานลูกค้า เจาะกลุ่มผู้ส่งออกมากขึ้น ปีหน้า วศ. เตรียมเปิดศูนย์เครื่องมือใหม่ เพิ่มศักยภาพการบริการ พร้อมเปิดโอกาสบุคคลภายนอกร่วมใช้ประโยชน์ ด้านอธิบดีกรมหวังให้ วศ. ได้เป็นองค์การมหาชนเร็วๆ นี้

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดเสวนาเรื่อง "ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย...สินค้าไทยสู่สากล" ณ ห้องประชุม อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เมื่อวันที่ 4 ก.ย.52 ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และเผยแพร่การในบริการของ วศ. ที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าได้มาตรฐาน และแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าไทย ซึ่งมีผู้สนใจจากภาคเอกชนเข้าร่วมมากมาย

นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดี วศ. กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ สังคมทุกภาคส่วนต้องการมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ประชาชนต้องการความปลอดภัยจากการอุปโภคบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐาน และการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศก็ต้องผ่านมาตรฐานระดับสากล ซึ่ง วศ. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพการแข็งขันของภาคเอกชนได้ด้วยการให้บริการวิเคราะห์และทดสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค

"ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำพริกเผาไทย ที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ผู้ประกอบการอาจผลิตน้ำพริกเผาได้มาตรฐาน แต่อาจไม่รู้ว่าภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำพริกเผาอาจมีปัญหา เมื่อบรรจุน้ำพริกเผาเข้าไป น้ำมันในน้ำพริกเผาอาจไปชะล้างสารบางชนิดจากบรรจุภัณฑ์ให้ปนเปื้อนไปในน้ำพริกเผาได้ ซึ่ง วศ. ก็ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบทั้งด้าความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล ช่วยลดความเสียหายเนื่องจากสินค้าไม่ได้มาตรฐานและถูกตีกลับได้" นายปฐมกล่าว

อธิบดี วศ. ให้ข้อมูลกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ อีกว่า นอกจากเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แล้ว หลายประเทศยังให้ความสำคัญกับเรื่องของผลิตภัณฑ์กับสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นในกระบวนการผลิตจึงต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่ง วศ. ก็มีบริการวิเคราะห์ทดสอบสารพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วย เช่น น้ำเสีย ควันพิษ สารระเหยจากโรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตเพื่อไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม และได้มาตรฐานสากล และช่วยลดการถูกกีดกันทางการค้าได้อีกด้วย

"วศ. ยังมีการวิจัยและพัฒนาเนคนิคการวิเคราะห์ทดสอบอยู่เสมอ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการฝึกอบรมบุคลากรที่ปฏิบัติงานทางด้านวิทยาศาสตร์หรือห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้" นายปฐมกล่าว

ทั้งนี้ ในแต่ละปี วศ. สามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อปี โดยผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนมากถึง 80-85%

นอกจากนี้ วศ. กำลังอยู่ระหว่างการติดตั้ง "ศูนย์เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ" ด้วยงบประมาณเงินกู้จำนวน 150 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ แก่ภาคเอกชนด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มีความทันสมัยมากขึ้น และเพื่อให้ศูนย์ดังกล่าวเกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ วศ. จึงมีนโยบายเปิดให้บุคคลภายนอกทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้เข้ามาร่วมใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ของศูย์เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบด้วย เช่น เพื่อวิจัยและพัฒนา หรืองานวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ ซึ่งคาดว่าศูนย์นี้จะก่อตั้งแล้วเสร็จ และเริ่มเปิดให้ใช้บริการได้ในช่วงต้นปี 53

อย่างไรก็ตาม อธิบดี วศ. ระบุว่า เนื่องจาก วศ. เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้เปรียบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบของภาคเอกชน เพราะอัตราค่าบริการที่ถูกกว่า และให้บริการวิเคราะห์ทดสอบได้ละเอียดและครอบคลุมมากกว่าของเอกชนบางแห่ง ทว่าอาจมีปัญหาในเรื่องการให้บริการได้ล่าช้ากว่า และรับให้บริการแก่ลูกค้าทุกกลุ่มที่มาติดต่อขอใช้บริกาณ ขณะนี้ วศ. ก็กำลังพยายามแก้ไขและปรับปรุงตรงจุดนี้ โดยมีแนวทางที่จะจัดสรรการให้บริการให้เป็นระบบมากขึ้นต่อไป เช่น แบ่งกลุ่มของการวิเคราะห์ทดสอบที่จะให้บริการในแต่ละวัน เพื่อให้มีตัวอย่างสำหรับการวิเคราะห์ทดสอบในแต่ละประเภทมากขึ้นในการดำเนินการวิเคราะห์ทดสอบแต่ละครั้งที่สามารถทำได้พร้อมกันทีละหลายๆ ตัวอย่าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

"ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยน วศ. ให้เป็นองค์การมหาชน หากรัฐบาลเห็นว่า วศ. ควรเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ขณะนี้การเมืองยังไม่นิ่ง เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก แต่เราก็หวังว่าจะสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนได้ภายใน 2-3 ปีนี้ เพราะทาง วศ. ได้เริ่มดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 40 แล้ว และหากเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชนได้ เราก็จะสามารถให้บริการภาคเอกชนได้มากขึ้น และหารายได้เลี้ยงตัวเองได้มากขึ้นด้วย" นายปฐมกล่าว.
นายปฐม แหยมเกตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น