นอกจากงานออกแบบจะทำให้เราทึ่งในรูปลักษณ์ภายนอกที่โดดเด่นและเก๋ไก๋แล้ว การผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงในงานออกแบบ ยังทำให้เราได้ผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์ได้จริง เช่นเดียวกับเวทีประกวดผลิตภัณฑ์ EcoDesign
ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับรางวัลการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 (2nd Thailand EcoDesign Award) ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ณ ลานกิจกรรม โซนเอเทรียม ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.52 ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ติดตามชมผลงานที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ โยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจัดแสดงถึงวันที่ 10 ส.ค.นี้
"กระถางย่อยสลาย" เป็นผลงานประกวดประเภทภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่ส่งเข้าประกวดในนาม บริษัท ดี เอ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ จำกัด ด้วยความร่วมมือกับบริษัทกระดาษดับเบิลเอ โดย ดร.เฉิดฉัน ปุกหุต หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า จากปัญหาดินแตกในถุงเพาะ "ต้นกล้ากระดาษ" หรือต้นกล้ายูคาลิปตัสที่เกษตรกรรับจากดับเบิลเอไปปลูก จึงต้องแก้ปัญหาดังกล่าว อีกทั้งแต่ละปีดับเบิลเอต้องใช้ถุงพลาสติกสำหรับต้นกล้าถึง 40 ล้านตัน ซึ่งกลายเป็นขยะในปริมาณไม่น้อย นำไปสู่การพัฒนากระถางย่อยสลายได้
กระบวนการผลิตคือนำน้ำเสียจากโรงงานกระดาษมาเป็นวัตถุดิบ และใช้จุลินทรีย์ อะซีโตแบคเตอร์ ไซลินัม (Acetobacter xylinum) เปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นฟิล์ม ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าว เป็นแบคทีเรียประเภทเดียวที่ใช้ผลิตวุ้นมะพร้าวจากน้ำมะพร้าว ซึ่งทีมวิจัยได้ออกแบบให้แบคทีเรียผลิตฟิล์ม เพื่อขึ้นรูปเป็นกระถางได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการให้ความร้อนที่สิ้นเปลืองพลังงาน ผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของประเภทภาคธุรกิจ และจะได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคนิคและเทคโนโลยีรวมเป็นมูลค่า 100,000 บาท
"ชุดชั้นในเด็กจากเยื่อไผ่" ผลงานพัฒนาของ บริษัท ซาบีน่า จำกัด ที่ส่งเข้าประกวดในประเภทภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ไม่ได้รับรางวัลใดๆ จากเวทีประกวด แต่เป็นอีกตัวอย่างผลงานที่แสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้อธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การพัฒนาชุดชั้นในนี้ อย่างแรกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องการผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ และสนองปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ต้นไผ่สามารถเติบโตได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ดังนั้นเส้นใยจากเยื่อไผ่จึงปลอดสารเคมี และเส้นใยไผ่ยังมีสารเคมีป้องกันแบคทีเรีย อีกทั้งมีโครงสร้างที่ระบายอากาศได้ดี ซาบีน่าจึงเลือกใช้เพื่อผลิตชุดชั้นในสำหรับสาวแรกรุ่น หลังจากได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ อาทิ เส้นใยจากข้าวโพด เส้นใยจากมันสำปะหลัง ซึ่งให้เนื้อผ้าที่หยาบกระด้าง จึงไม่ผ่านการคัดเลือก โดยเส้นใยไผ่นี้นำเข้าจากจีนและไต้หวัน ซึ่งเมื่อผลิตขายแล้วราคาไม่แตกต่างจากเส้นใยฝ้ายที่ใช้อยู่
"เก้าอี้แกลบ" ผลงานของ พนมสุข มีลักษณะ ที่ส่งผลงานเข้าประกวดในประเภทภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเช่นกัน แม้ไม่ได้รางวัล แต่ผลงานของเขาก็ส่งขายต่างประเทศได้หลายแห่งแล้ว ทั้ง ญี่ปุ่น แคนาดา ไต้หวัน โดยเจ้าตัวบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ปกติทำธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้อยู่แล้ว แต่มองเห็นว่าเมืองไทยมีสิ่งเหลือใช้จากภาคเกษตรถูกทิ้งอย่างไร้ค่ามากที่สุด จึงคิดที่จะนำมาใช้ประโยชน์
ทั้งนี้ฟางข้าวและแกลบนั้น มีความเหนียวสูงและใช้ทดแทนไม้ได้ โดยเฉพาะแกลบที่มีการหดตัวน้อย ขณะที่คนทั่วไปนิยมเผา แต่พนมสุขนำแกลบที่ไม่ผ่านกระบวนการเผามาทำเป็นแผ่นหนา 4 มิลลิเมตร แล้วประสานกันให้หนาขึ้น ก่อนขึ้นรูปเป็นเก้าอี้ โดยความแข็งของเก้าอี้แกลบมีมากกว่าไม้ ซึ่งสังเกตได้จากใบเลื่อยที่ทื่อเร็วกว่าการเลื่อยไม้ นอกจากนี้ยังออกแบบให้เก้าอี้แกลบถอดประกอบได้เพื่อลดพื้นที่ในการจัดเก็บ และขนส่งในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเมื่อหมดอายุใช้งานแล้วเก้าอี้จะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
หลายคนอาจมองการสูญเสียเนื้อไม้จากแท่งดินสอว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับ พิมพิพัฒน์ ห้องดุลย์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นค่าว่า เนื้อไม้เหล่านั้นน่าจะนำไปปลูกต้นไม้ได้ จึงเป็นที่มาของ "กบเหลาดินสอ" ที่เป็นกระถางปลูกต้นไม้ในตัว โดยใช้เศษไม้จากดินสอในการเพาะปลูก
พิมพิพัฒน์ได้ทดลองปลูกบานชื่น พูลด่าง และไม้อื่นๆ ที่ปลูกในบรรยากาศออฟฟิศได้ แต่ไม่สำเร็จในการปลูกกุหลาบ ซึ่งแนวคิดบรรเจิดของเธอนำไปสู่รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในประเภทนักศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และยังมีผู้สนใจมาติดต่อเธอ ภายในงานประกวดเพื่อต่อยอดในทางการค้าต่อไปด้วย
เสียดายกันบ้างหรือไม่กับตะเกียบไม้ที่เราทิ้งทุกครั้งหลังกินก๋วยเตี๋ยว และความเสียดายเช่นเดียวกันนี้ ทำให้ทีมนักเรียน ม.ปลาย จากโรงเรียนปลาปากวิทยา จ.นครพนม ช่วยกันคิดวิธีลดการสูญเสีย จึงเกิดเป็นตะเกียบที่ถอดส่วนปลายสำหรับคีบอาหารทิ้งได้ เหลือด้ามตะเกียบที่นำไปใช้งานได้ใหม่ เป็นผลงานที่ลดการสูญเสียไม้ตะเกียบได้ถึง 60% และได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนักเรียนระดับมัธยมศึกษา พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท
เป็นรางวัลเดียวกับทีมนักเรียน ม.ปลายจากโรงเรียนชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ในประเภทนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเช่นเดียวกัน จากผลงานระบบเก็บแก๊สชีวภาพ ซึ่งออกแบบเป็นทุ่นลอยและใช้แรงงานคนลากเครื่องไปตามคลองน้ำเน่าที่มีซากพืช-ซากสัตว์ทับถม หรือแหล่งน้ำขังที่มีโคลนตม เพื่อเก็บก๊าซมีเทนไว้ในถัง สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
อติศักดิ์ ศรีตำแย หนึ่งในทีมพัฒนาของโรงเรียนชุมพลโพนพิสัย กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า จากการที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซมีเทนในการเกษตรปริมาณมาก จึงคิดหาวิธีที่จะนำก๊าซดังกล่าวมาใช้ ลักษณะการทำงานของเครื่องจะมีใบพัดกวนให้ก๊าซมีเทนลอยออกมาและมีกลไกกักเก็บก๊าซมีเทนเข้าถังของระบบ ก่อนส่งต่อเข้าถังแก๊สที่ใช้ตามบ้านเรือน ซึ่งระบบของจริงมีขนาด 2x3 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที สามารถเก็บก๊าซมีเทนได้เต็มถังแก๊สที่ใช้ในครัวเรือน หรือต่อถังก๊าซจากระบบเพื่อใช้งานได้โดยตรง
ทางด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่าการประกวดนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Thinking) และจัดอบรมแก่ผู้เข้าประกวดเพื่อพัฒนาความรู้ ต่อยอดความคิดสู่ต้นแบบที่ใช้งานได้จริง
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ถึงการสนับสนุนและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เข้าประกวดว่า ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะสนับสนุนให้มีการประกวดต่อไป และผู้เข้าประกวดในประเภทภาคธุรกิจฯ ก็มีศักยภาพที่จะต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปได้
ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลสูงสุดของแต่ละประเภท จะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 19 ก.ย.52 และสำหรับผู้สนใจในผลงานประกวดเหล่านี้สามารถเข้าชมได้ ณ ลานกิจกรรม โซนเอเทรียม ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ จนถึงวันที่ 10 ส.ค.52