xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฉากแข่งหุ่นต์ยนต์ RDC2009 เฟ้นหานักศึกษาตัวแทนไทยชิงแชมป์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (กลาง) เป็นประธานแถลงข่าวการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 (RDC2009) ภายใต้แนวคิด ปลูกต้นไม้ สร้างป่าเขียว ลดโลกร้อน (ภาพจาก เอ็มเทค)
เอ็มเทคจับมือจุฬาฯ จัดแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ RDC2009 ใต้แนวคิดลดโลกร้อน มุ่งฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพบุคลากรไทยด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พร้อมเฟ้นหาตัวแทนเยาวชนไทย ไปแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ระดับนานาชาติที่ญี่ปุ่นกลางปีนี้

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดงานการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 (Robot Design Contest 2009: RDC 2009) เมื่อวันที่ 30 เม.ย.52 ที่ผ่านมา ณ ห้องโถงชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งจัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสื่อมวลชนร่วมงานจำนวนมาก รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์

รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวถึงการแข่งขัน RDC2009 ในปีนี้ว่า จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ปลูกต้นไม้ สร้างป่าเขียว ลดโลกร้อน" เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติ ในงานไอดีซี โรโบคอน 2009 (International Design Contest 2009: IDC Robocon 2009) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยในรายการเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้วที่จัดขึ้นที่ประเทศบราซิล ตัวแทนของประเทศไทยที่เข้าร่วมแข่งขัน ก็คว้ารางวัลชนะเลิศและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมาแล้ว

นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน RDC2009 เป็นตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็น 10 ทีม ทีมละ 4-5 คน ในแต่ละทีมจะประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากต่างสถาบัน

"เวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเยาวชนไทยที่จะได้ไปแสดงความสามารถในเวทีโลก เป็นการเปิดโลกทัศน์ เปิดประสบการณ์ และฝึกทักษะในการคิดสร้างสรรค์ การออกแบบหุ่นต์ ซึ่งจะเป็นการสร้างนักเทคโนโลยี วิศวกรรุ่นใหม่ พัฒนาบุคลากรของไทยด้านการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่สำคัญจะช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในอนาคต" รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในแต่ละทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ปลูกต้นไม้ ตามเวลาที่กำหนดและวัสดุอุปกรณ์ที่จัดเตรียมไว้ให้ หรือหาซื้อเพิ่มเติมได้ในวงเงินไม่เกิน 600 บาท โดยทุกทีมจะต้องเข้าร่วมการอบรมขั้นพื้นฐานและเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์จากทีมคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มต้นปฏิบัติจริง

จากนั้นแต่ละทีมจะต้องนำหุ่นยนต์ที่ออกแบบเสร็จแล้วมาแข่งขันกัน โดยให้หุ่นยนต์นำต้นกล้าและต้นโพธิ์ลงไปปลูกในสนามแข่งขันที่ออกแบบโดยเฉพาะ ขนาด 3x4 เมตร ที่มีภูมิประเทศเป็นเชิงเขา ยอดเขา และพื้นที่ลาดเอียง ได้ตามกติกาและในเวลาที่กำหนด ซึ่งการแข่งแขันรอบแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 เม.ย. - 15 พ.ค.52 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจะมีการแข่งขันรอบสุดท้ายในวันที่ 16 พ.ค.52 ณ ลานศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซา.
รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา
กำลังโหลดความคิดเห็น