ปิดฉากการแข่งขันสุดมัน RDC2009 เวทีประลองการแข่งขันหุ่นยนต์ปลูกต้นไม้ วัดกึ๋นจากโจทย์สร้างหุ่นยนต์ด้วยอุปกรณ์ที่กำหนด พร้อมเงินไม่เกิน 600 บาท ได้แชมป์คนเก่ง 5 คนไปร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติที่ญี่ปุ่น
การแข่งขันออกแบบและสร้างหุนยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 (Robot Design Contest: RDC 2009) รอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.52 ณ ลานกิจกรรม ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ปิดฉากลงพร้อม 5 ตัวแทนเยาวชนไทยจากทีมชนะเลิศที่เตรียมเดินทางไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ International Design Contest 2009 (IDC RoBoCon 2009) ณ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือน ก.ค.52 นี้
ตัวแทนเยาวชนไทยจากทีมชนะเลิศได้แก่ นายสิรวุธ ทัตติยกุล นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพงศกร หาญวารี สาขาวิศวกรรมยานยนต์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นายอนิรุทธิ์ จิตอนันตพร สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น นางสาวศนิ กลิ่นสนิท ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และ นายพรเทพ ชินศรี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ทั้ง 5 คนเข้าแข่งขันในทีม "สีน้ำตาล" และเข้าชิงชัยกับทีม "สีเขียวเข้ม" ในรอบชิงชนะเลิศ ทั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 10 ทีมๆ ละ 5 คน จากนักศึกษาสถาบันต่างๆ ที่มารวมเป็นกลุ่มเดียวกัน และเข้ารับการอบรมทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎีการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เมื่อ 8-24 เม.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นแบ่งสายการแข่งขันออกป็น 2 สาย และแข่งขันครั้งละ 2 ทีม
กติกาการแข่งขันดำเนินไปภายใต้แนวคิด "ปลูกต้นไม้ สร้างป่าเขียว ลดโลกร้อน" โดยแต่ละทีมจะได้รับอุปกรณ์และชุดคอนโทรลเลอร์จากคณะกรรมการเพื่อนำไปประดิษฐ์หุ่นยนต์สำหรับเข้าแข่งขัน พร้อมเงินที่ใช้ได้ไม่เกิน 600 บาท ซึ่งแต่ละทีมประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้นมาทีม 2 ตัว เพื่อปฏิบัติภารกิจตามกติกาการแข่งขัน
หุ่นยนต์ของแต่ละกลุ่มมีภารกิจในการปลูก "ต้นกล้า" ซึ่งจะได้แต้มต้นละ 2 คะแนน และภารกิจปลูกต้น "ต้นโพธิ์" ซึ่งหากใส่โคนต้นโพธิ์ในเสาที่กำหนดจะได้รับ 5 คะแนน โดยมีระยะเวลาแข่งขัน 100 วินาที แต่ถ้าหุ่นยนต์ของทีมใดนำยอดต้นโพธิ์ไปใส่ในเสาดังกล่าวจะถือว่า "น็อคเอาท์" และเป็นผู้ชนะในเกมนั้น
เริ่มการแข่งขันรอบชิงเกมแรกทีมสีน้ำตาลเริ่มต้นโดยนำต้นกล้าไปลงหลุมในพื้นที่ลาดเอียงของสนามแข่ง ขณะที่ทีมสีเขียวเข้มพุ่งตรงไปที่การปลูกต้นโพธิ์ โดยหุ่นยนต์ของทีมสีเขียวเข้มทำให้ทีมสีน้ำตาลต้องเสียวสันหลัง เพราะสามารถยืดเแขนกลนำยอดต้นโพธิ์ไปถึงเสาซึ่งอยู่บริเวณที่กำหนดให้เป็นหน้าผาได้ก่อน และชนะน็อคเอ้าท์ได้ในเกมแรก
เกมถัดมาทีมสีเขียวสร้างความหวาดเสียวให้กับกองเชียร์และทีมสีน้ำตาลอีกครั้ง โดยลำเลียงยอดต้นโพธิ์และพุ่งตรงไปยังเป้าหมาย ในขณะที่กองเชียร์ทั้งสองทีมกำลังลุ้นระทึกอยู่นั้น หุ่นยนต์ทีมสีน้ำตาลซึ่งอยู่บริเวณที่กำหนดให้เป็น "เชิงเขา" ก็ทยอยปลุกต้นกล้า โดยนำต้นไม้จำลองไปหย่อนลงหลุมในบริเวณที่ลาดเอียงซึ่งมีหลุมทั้งหมด 15 หลุม แต่โชคร้ายตกเป็นของทีมสีเขียวเข้มเมื่อหุ่นยนต์ที่ลำเลียงยอดต้นโพธิ์ล้มลง และตามกติกาผู้เข้าแข่งขันไม่สามารถแตะต้องหุ่นยนต์ได้ จบเกมสีน้ำตาลจึงชนะไปด้วยคะแนน 13 ต่อ 5
มาถึงเกมตัดสินทีมสีเขียวยังคงยึดแนวทางเดิมโดยพุ่งตรงไปที่การลำเลียงยอดต้นโพธิ์เพื่อเอาชนะน็อคเอาท์ ขณะที่ทีมสีน้ำตาลเริ่มไม่อ่อนข้อ โดยระหว่างที่สีเขียวเข้มพยายามใส่ยอดโพธิ์ ทางทีมสีน้ำตาลก็พยายามเบียดเสียดเพื่อใส่โค่นต้นโพธิ์ ส่วนหุ่นยนต์ที่เชิงเขาของทีมสีน้ำตาลก็ยังคงลำเลียงต้นกล้าลงหลุมอย่างต่อเนื่อง และจบเกมลงด้วยชัยชนะของทีมสีน้ำตาลที่เก็บแต้มไปได้ 11 คะแนน ส่วนทีมสีเขียวเข้มได้ไป 5 คะแนน
สมาชิกทีมสีน้ำตาลเปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เน้นการออกแบบให้หุ่นยนต์แข็งแรง เรียบง่ายและเบา จึงเลือกใช้อลูเนียมเป็นวัสดุหลักของหุ่นยนต์ ซึ่งจุดแข็งในหุ่นยนต์ของทีมคือความแข็งแกร่ง โดยตลอดการแข่งขันที่ผ่านมาทุกรอบนั้น พวกเขาไม่ต้องซ่อมแซมหุ่นยนต์ระหว่างพักเลย และกลไกของหุ่นยนต์ทำงานได้ดีมาก
นายพงศกร หาญวารี หัวหน้าทีมสีน้ำตาลกล่าวกับเราว่า ได้รับโจทย์ให้ออกแบบหุ่นยนต์ปลูกต้นกล้าและต้นโพธิ์ ซึ่งทีมได้ออกแบบหุ่นยนต์ที่ทำงานได้ทั้งสองอย่าง ซึ่งแม้หลายคนจะมองว่าพวกเขาเน้นการเก็บแต้ม แต่จริงๆ แล้วทีมนี้ก็มีกลยุทธิ์ที่จะน็อคเอ้าท์ โดยรอจังหวะให้ทีมอื่นใส่โคนต้นโพธิ์ให้เรียบร้อย พวกเขาก็จะใส่ยอดต้นโพธิ์ตามหลัง
“การได้มาอยู่ทีมเดียวกัน โดยแต่ละคนมาจากต่างสถาบัน ต่างชั้นปี ทำให้ได้เรียนรู้เหมือนการทำงานจริง ซึ่งเมื่อเราไปทำงานก็จะได้ไปทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ที่จบมาจากต่างสถาบัน ส่วนไปญี่ปุ่นเราก็จะคละทีมกับประเทศอื่นๆ ทุกอย่างจะเริ่มต้นใหม่หมด เป็นการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างกันด้วย" พงศกรกล่าว และบอกเคล็ดในการทำงานภายในทีมสีน้ำตาลว่า ส่วนใหญ่จะไม่บอกว่าเรียนอยู่ชั้นปีที่เท่าไหร่ เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน
ทางด้าน "ทีมสีม่วง" แม้จะไม่ได้ชิงชนะชัย แต่พวกเขาก็ดูมีความสุขกับการได้เข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ โดยสมาชิกทีมสีนี้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ไม่เคยเข้าแข่งขันหุ่นยนต์ที่ไหนมาก่อน การแข่งขันครั้งนี้ทำให้พวกเขาได้แนวคิดที่ว่า "อย่ามองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพราะอาจไปสู่ความผิดพลาดได้" นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม เพราะระหว่างการแข่งขันต้องมีการประสานงานที่ดี
“ข้อดีของหุ่นยนต์ทีมเราคือ ความแข็งแกร่ง หุ่นยนต์ไม่ซับซ้อน ถ้าเทียบกับทีมอื่นแล้วหุ่นยนต์ของเราธรรมดามาก แต่มีข้อเสียคือขัดข้องบ่อย ระหว่างพักการแข่งขันเราต้องคอยเช็กทุกอย่าง อีกอย่างกลไกก็ไม่เป็นไปตามที่คาด หนีบแล้วหลุด และคอนโทรลเลอร์มีปัญหา การมาแข่งครั้งนี้ก็เหมือนมาฝึก ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม" สมาชิกทีมสีม่วงช่วยกันให้ความเห็น
สำหรับการแข่งขัน RDC 2009 นี้จัดขึ้นโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางไปชมการแข่งขันและมอบรางวัลให้กับเยาวนผู้เข้าแข่งขัน พร้อมทั้งให้สัญญาว่าจะหาทุนสนับสนุนการเดินทางเพื่อให้เยาวชนได้เดินทางไปแข่งขันที่ต่างประเทศได้มากกว่า 1 ทีม