xs
xsm
sm
md
lg

เยือนสถานีวิจัยลำตะคอง ดูวิธีทำบล็อกประสานสร้างงานสร้างเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ 3 ห้องนอน สร้างด้วยบล็อกประสานทั้งหลัง ตั้งอยู่ภายในศูนย์วิจัยลำตะคอง วว. พร้อมเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วย
วว. เปิดบ้านที่สถานีวิจัยลำตะคอง โชว์ผลงานเด่นสร้างเงินสร้างงานสู่สังคม อาทิ บล็อกประสาน การปลูกผักหวานป่าเชิงระบบ วิธีผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต้นทุนต่ำประหยัดแรง และการปลูกดอกชมจันทร์เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ พร้อมถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงในยุควิกฤตเศรษฐกิจ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำคณะสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เยี่ยมชมสถานีวิจัยลำตะคอง ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาของสถานีวิจัยลำตะคอง ที่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างอาชีพแก่ประชาชน หรือนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

นายสายันต์ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง ให้ข้อมูลว่าสถานีวิจัยลำตะคองเป็นแหล่งวิจัย พัฒนา และศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยี ของ วว. โดยเน้นการวิจัยด้านพืชเป็นหลัก อาทิ การปลูกผักหวานป่าเชิงระบบ การปลูกดอกชมจันทร์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต้นทุนต่ำ และการผลิตบล็อกประสานสำหรับงานก่อสร้าง

การปลูกผักหวานป่าเชิงระบบ เป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานโดยมีผักหวานป่าเป็นพืชหลัก เนื่องจากผักหวานป่าจะเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตมากเมื่อได้ร่มเงาจากไม้อื่น เช่น แคบ้าน กล้วย มะม่วง สะเดา เป็นต้น อีกทั้งการปลูกผักหวานในระยะเริ่มต้นต้องใช้เวลาราว 2-5 ปี จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแรกได้ ฉะนั้นระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิตผักหวานป่า จึงควรปลูกพืชอายุสั้นที่ให้ผลผลิตเร็วร่วมด้วย จำพวกพืชผักสวนครัวต่างๆ เช่น มะเขือ พริก กระเพา เพื่อให้มีรายได้ในช่วงที่รอผลผลิตผักหวาน และการปลูกพืชแบบผสมผสานยังเป็นการกระจายความเสี่ยง เมื่อเกิดความเสียหายกับพืชใดพืชหนึ่ง ก็ยังมีพืชอื่นที่สามารถขายได้ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี

ส่วนดอกชมจันทร์หรือดอกพระจันทร์ (ดอกบานดึก) เป็นพืชสกุลเดียวกับผักบุ้ง โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งพบแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง หลายประเทศนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนำดอกตูมมารับประทานด้วยการลวกจิ้มน้ำพริกหรือผัดน้ำมันหอย ซึ่งการวิเคราะห์ทางโภชนาการของดอกชมจันทร์พบว่ามีไขมันต่ำมากและมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน อีกทั้งยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆมากมาย วิธีการปลูกก็ทำได้ทั้งแบบเพาะเมล็ดหรือปักชำ โดยให้เถาเลื้อยขึ้นบนค้าง ซึ่งจะเจริญเติบโตดีในพื้นที่กลางแจ้ง และให้ผลผลิตตลอดทั้งปี โดยมีราคาขายกิโลกรัมละ 150-200 บาท

สำหรับบล็อกประสาน เป็นผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้วทั่วประเทศ จนปัจจุบันมีผู้ประกอบการด้านบล็อกประสานแล้วกว่า 400 ราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากความต้องการใช้บล็อกประสานเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวัตถุดิบที่ใช้ทำบล็อกประสานเป็นกรวดหินดินทรายที่หาได้ไม่ยากในท้องถิ่นต่างๆ กระบวนการผลิตก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เครื่องจักรราคาแพงจากต่างประเทศ และไม่ต้องใช้พลังงานในการเผา

เพียงใช้ดินลูกรังที่มีทรายเป็นส่วนประกอบมากกว่า 80% ผสมกับปูนซีเมนต์ ในอัตราส่วน 7 ต่อ 1 และผสมน้ำราว 10% ของน้ำหนักดินรวมกับปูนซีเมนต์ จากนั้นนำวัตถุดิบที่ผสมกันดีแล้วใส่ลงในแม่พิมพ์ของเครื่องอัดขึ้นรูปเพื่ออัดขึ้นรูปเป็นบล็อกประสาน แล้วผึ่งไว้ในที่ร่มนาน 12 ชั่วโมง จึงนำไปบ่มความชื้นต่ออีกอย่างน้อย 5-7 วัน โดยการปิดกองบล็อกประสานด้วยแผ่นพลาสติกหรือกระสอบป่าน เพื่อให้บล็อกประสานพัฒนากำลังอัดสูงที่สุด

นอกจากนี้การก่อสร้างอาคารด้วยบล็อกประสานยังช่วยลดการใช้ไม้แบบ ไม้ค้ำยัน และคอนกรีตเหล็กเสริมได้ เพราะบล็อกประสานจะทำหน้าที่เป็นทั้งผนังและโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทาน และสวยงามตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องฉาบปูนหรือทาสี จึงช่วยลดเวลาในการก่อสร้างได้ถึง 30% และลดต้นทุนได้ 10-20% เมื่อเทียบกับอาคารขนาดเดียวกันที่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูน

บล็อกประสานยังสามารถนำมาใช้ก่อเป็นซองหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และป้องกันสัตว์คุ้ยเขี่ยได้ โดยก่อบล็อกประสานขึ้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างตามขนาดที่ต้องการ โดยมีการเปิดช่องด้านข้างตามแนวยาวของซองหมัก เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาในการนำปุ๋ยออกจากซองหมักหลังจากที่หมักเสร็จแล้วโดยไม่ต้องรื้อซองหมัก และเปิดช่องด้านกว้างซองหมักสำหรับสอดท่อไม้ไผ่ เพื่อช่วยเติมออกซิเจนให้กับกองปุ๋ยหมัก ซึ่งวิธีการนี้ช่วยให้ไม่ต้องกลับกองปุ๋ยหมักอีกต่อไป จึงประหยัดแรงงานและลดค่าใช้จ่ายในการกลับกอง ซึ่งปกติแล้วการกลับกองปุ๋ยหมักต้องใช้แรงงานคนมาก ด้วยค่าแรงคนละประมาณ 180 บาทต่อวัน

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากไส้เดือนดินด้วย โดยเลี้ยงไส้เดือนดินด้วยเศษพืชผักหรือขยะอินทรีย์ต่างๆ แล้วเก็บมูลที่ไส้เดือนถ่ายออกมาไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทั้งยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีแร่ธาตุอาหารครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับบำรุงพืชผลอีกด้วย หากใครสนใจที่จะนำงานวิจัยเหล่านี้ไปสร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพให้ตนเองหรือชุมชน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. โทร. 044-390-107, 044-390-150 หรือ lamtakhong@tistr.or.th
บล็อกประสานทำได้ไม่ยาก โดยใช้ดินที่มีในท้องถิ่นผสมกับซีเมนต์และน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนนำไปผึ่งและบ่ม ก็ใช้งานได้
บล็อกประสานที่ขึ้นรูปเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำไปผึ่งแห้งต่อไป
ซองหมักปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่กลับกองที่ก่อขึ้นจากบล็อกประสาน
ดอกชมจันทร์ผัดน้ำมันหอย กินอร่อยได้ประโยชน์
นักวิจัย วว. โชว์ดอกชมจันทร์บรรจุกล่องพร้อมจำหน่าย โดยเบื้องหลังเป็นค้างปลูกดอกชมจันทร์
นักวิจัย วว. แสดงวิธีการตอนกิ่งผักหวานป่า
แปลงปลูกผักหวานป่าแบบผสมผสานภายในสถานีวิจัยลำตะคอง
เลี้ยงไส้เดือนดินด้วยเศษพืชเศษผัก เก็บเอามูลไส้เดือนไปทำปุ๋ยชีวภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น