xs
xsm
sm
md
lg

‘อโณทัย’&‘ไร่ปลูกรัก’ คลังอาหารออร์แกนิคเต็มเติมสุขภาพ 360 องศา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน – ความตระหนักถึงสุขภาพที่ดี เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคภัยต่างๆ จุดกระแสให้คนจำนวนมากเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่ออาหารการกิน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ปัจจุบันจึงมีอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพออกสู่ตลาดจำนวนมาก

อย่างรายของ “ไทยออร์แกนิคฟาร์ม” (Thai Organic Farm) ให้ความสำคัญต่อการเป็นผู้ผลิตอาหารออร์แกนิค (Organic) ตั้งแต่ต้นทาง คือ แหล่งวัตถุดิบ จนถึงปลายทางสู่ผู้บริโภค ในรูปแบบร้านอาหารเพื่อสุขภาพ 100% นอกจากนั้น ยังเชื่อมโยงกิจกรรมอื่นๆ เติมเต็มความต้องการสำหรับคนรักสุขภาพครบวงจร

จากปลายน้ำสู่ต้นน้ำ

กานต์ ฤทธิ์ขจร ผู้จัดการไทยออร์แกนิคฟาร์ม เล่าว่า ตัวเองและภรรยา (อโณทัย ก้องวัฒนา) ใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างมาก โดยศึกษาเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง กลายมาเป็นแรงบันดาลใจเปิดร้านอาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพ ชื่อ “อโณทัย” ตั้งอยู่ใน ซ.โรงพยาบาลพระรามเก้า เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว

“ร้านได้ผลตอบรับอย่างดี จากการบอกต่อของลูกค้า แต่วัตถุดิบผักที่ใช้ในร้านจะต้องเป็นออร์แกนิค ซึ่งเวลานั้นประเทศไทยยังหายาก ส่วนใหญ่จะมีขายแต่ผักปลอดสารพิษ ซึ่งการปลูกยังต้องใช้ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าแมลง ซึ่งร้านเราไม่ต้องการ พอดีครอบครัวภรรยามีที่ดิน ประมาณ 60 ไร่ ใน อ.บางแพ จ.ราชบุรี ปล่อยรกร้างไว้ ผมจึงลองนำพื้นที่มาพัฒนาเป็นไร่เกษตรอินทรีย์ หวังจะปลูกผักออร์แกนิคเพื่อใช้ในร้าน”

เนื่องจากการทำฟาร์มออร์แกนิคมีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น ต้องใช้เวลากว่า 3 ปีกับงบประมาณกว่าเจ็ดหลัก ในการปรับสภาพดินให้พร้อมในการทำเกษตรอินทรีย์

กานต์ ระบุว่า หลังลองผิดลองถูกมาหลายวิธี จนที่สุดพบว่า หัวใจสำคัญของการปลูกผักออร์แกนิคต้องสร้างดินให้มีสภาพสมดุลตามวิถีธรรมชาติ เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้แก่ดิน และปลูกพืชให้เหมาะสมกับภูมิอากาศ เป็นต้น โดยปัจจุบัน ฟาร์มแห่งนี้ปลูกผักออร์แกนิคได้มาตรฐานไอโฟม (IFOAM: International Federation of Organic Agriculture Movements) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป รวมถึงผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) ทำให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ

ต่อยอดครบวงจร

ทั้งนี้ ในฟาร์มปลูกผักกว่า 30 ชนิด ทั้งผักไทย จีน และตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นผักสวนครัว โดยผลผลิตจะส่งประกอบอาหารในร้านอโณทัย อีกทั้ง ส่งจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ในชื่อแบรนด์ “ไร่ปลูกรัก” เช่น ท๊อปซูเปอร์มาร์เกต , สยามพารากอน , เดอะมอลล์ , เลมอนฟาร์ม และฟู๊ดแลนด์ เป็นต้น โดยรวมมีจุดจำหน่ายทั้งประเทศกว่า 60 จุด ยอดส่งสินค้าประมาณ 100 ตันต่อปี นอกจากนั้น ประมาณ 10% ของผลผลิตในฟาร์ม ยังส่งออกไปตลาดต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ผักออร์แกนิคมีข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ทั้งระยะเวลาในการขายสั้น และการปลูกแบบธรรมชาติไม่ใช่สารเคมีเลย ทำให้ได้ผลผลิตน้อย ต้นทุนผลิตสูงไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้มากนัก ผู้ประกอบการรายนี้จึงแก้ปัญหาโดยแปรรูปผลิตภัณฑ์

“ผมต้องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ขยายสู่ตลาดที่กว้างขึ้น จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ อย่างโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ในการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคแปรรูป เน้นเป็นเครื่องปรุงในครัวเรือน อย่างน้ำส้มสายชูจากข้าวหอมมะลิ น้ำพริกเผา ซอสมะเขือเทศ จากพืชออร์แกนิค เป็นต้น ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่สำคัญยังไม่มีใครผลิต เตรียมจะออกตลาดภายในปีนี้ (2552)”

นอกจากจะทำฟาร์มผักออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์แปรรูป และร้านอาหารแล้ว ชั้นบนของร้านยังเปิดเป็นศูนย์ฝึกอบรมการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ และโรงเรียนสอนโยคะด้วย

และเพื่อตอกย้ำให้ตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ ผู้ประกอบการรายนี้ได้นำไร่ของพวกเขา เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว จ.ราชบุรี โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมไร่ ดูกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ คิดค่าใช้จ่าย ผู้ใหญ่ 650 บาท ส่วนเด็กอายุ 3- 12 ปี 350 บาท

“ผมเชื่อว่า เกษตรอินทรีย์จะเป็นทางออกของประเทศไทย ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ผมจึงอยากขยายความคิดนี้ให้คนทั่วไปได้ตระหนัก ซึ่งการปลูกผักออร์แกนิคในระยะแรกๆ ผลผลิตจะน้อย แต่ระยะยาว ผลผลิตจะมากขึ้นเรื่อยๆ และยั่งยืนมากกว่าการปลูกโดยสารเคมี อีกทั้งมีประโยชน์แก่ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากคนทั่วไปรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ อีกทั้ง เกษตรกรก็มีศักยภาพ และนิยมปลูกผักออร์แกนิคมากขึ้น ผลผลิตผักออร์แกนิคก็จะออกสู่ตลาดจำนวนมากขึ้นด้วย ราคาก็จะถูกลง กลายเป็นผักที่คนไทยทั่วไปกินกัน ไม่ใช่ผักราคาแพงที่ถูกจำกัดเฉพาะคนรักสุขภาพเท่านั้น”

โทร.0-2641-5366-70 , www.thaiorganicfood.com
กำลังโหลดความคิดเห็น