xs
xsm
sm
md
lg

“Thai Organic Farm" ต่อยอดผักปลอดสาร จับ ‘ข้าวอินทรีย์’ ผลิต ‘น้ำส้มสายชู’ รายแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนผักอินทรีย์ของ‘ไร่ปลูกรัก”
ออร์แกนิค” เป็นอาหารที่ผลิตโดยไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลผลิตออร์แกนิคกลายเป็นทางเลือกใหม่ของกลุ่มคนรักสุขภาพในปัจจุบัน ดังนั้น เกษตรอินทรีย์จึงเป็นคำตอบที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน พยายามผลักดัน สำหรับตัวผู้ประกอบการอย่าง “Thai Organic Farm” สนใจทฤษฏีดังกล่าว โดยพลิกผืนนารกร้างทำเกษตรอินทรีย์ หวังคนไทยได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปราศจากสารเคมี เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ภายใต้แบรนด์ “ไร่ปลูกรัก” ล่าสุดเพิ่มไลน์ใหม่ พัฒนา “ สูตรน้ำส้มสายชูจากข้าวอินทรีย์ – น้ำจิ้มไก่ออร์แกนิค” ต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่มือผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ iTAP เครือข่าย มจธ.
นายกานต์ ฤทธิ์ขจร ผู้จัดการทั่วไป ไทยออร์แกนิค ฟาร์ม
นายกานต์ ฤทธิ์ขจร ผู้จัดการทั่วไป ไทยออร์แกนิค ฟาร์ม ( Thai Organic Farm ) ผู้ผลิตและจำหน่ายผักสดอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ “ ไร่ปลูกรัก ”  กล่าวถึงการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ว่า เป็นการตอบสนองตนเองในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ความยั่งยืนไม่เบียดเบียนธรรมชาติมากเกินไป จึงได้ปรับพื้นที่นารกร้างที่มีอยู่ประมาณ 60 ไร่ ใน อ.บางแพ จ.ราชบุรี มาพัฒนาเป็นไร่เกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคเรียกชื่อว่า “ไร่ปลูกรัก”

“ โดยฟาร์มแห่งนี้ผลิตผักออร์แกนิคภายใต้มาตรฐานไอโฟม ( IFOAM : International Federation of Organic Agriculture Movements ) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป ( EU REGULATION ) นอกจากนี้ ผลิตผลของฟาร์มฯ ยังได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย(มกท.) ทำให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ ”

นายกานต์ เปิดเผยว่า “ไร่ปลูกรัก” ดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 10 พบว่า กลุ่มลูกค้าหลักส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย เพราะสินค้าค่อนข้างมีราคาจากข้อจำกัดและขั้นตอนการบำรุงรักษาซึ่งต้องปลูกตามฤดูกาล อีกทั้งการไม่ใช้สารเคมีในการบำรุงหรือการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตทำให้ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถแข่งขันด้านการตลาดมาได้มากนัก
ผลิตภัณฑ์ของไร่
จากปัจจัยดังที่กล่าวมา “ไร่ปลูกรัก”จึงต้องการขยายตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ผักดอง พริกดอง และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อื่นๆ ที่ใช้น้ำส้มสายชูหมักเป็นวัตถุดิบ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการผลิตน้ำส้มสายชูจากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ที่ชัดเจน และเป็นการต่อยอดผลผลิตจากผักสด จึงต้องการผลิตน้ำส้มสายชูจากข้าวเกษตรอินทรีย์ขึ้นมาเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มรักสุขภาพเพื่อขยายตลาดและต้องการฐานลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น

“โครงการการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูหมักจากข้าวเกษตรอินทรีย์” จึงเริ่มขึ้นจากการความช่วยเหลือและสนับสนุนของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี รศ.วรวุฒิ ครูส่ง อาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ

นายกานต์ กล่าวว่า การพัฒนากระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูจากข้าวเกษตรอินทรีย์ได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงด้วยดีได้ผลตรงตามเป้าหมาย ทั้งการออกแบบและวางแผนกระบวนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการหมักข้าวอินทรีย์ให้เป็นน้ำตาลด้วยเชื้อรา กระบวนการหมักไวน์ข้าวอินทรีย์ด้วยหัวเชื้อยีสต์บริสุทธ์ และการหมักน้ำส้มสายชูจากไวน์ข้าวเกษตรอินทร์ด้วยหัวเชื้อน้ำส้ม โดยอาศัยระบบการหมักในถังหมักน้ำส้มสายชูต้นแบบ ที่ได้พัฒนาร่วมกันระหว่าง รศ.วราวุฒิ ครูส่ง ในฐานะหัวหน้าโครงการ และบริษัท ไวน์วิเศษ จำกัด

ขณะนี้ อยู่ระหว่างขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) คาดว่าราวกลางปี 2552 จะสามารถออกสู่ตลาดได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยนำผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูจากข้าวเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นไปโรดโชว์ยังต่างประเทศมาบ้างและได้ผลตอบรับค่อนข้างดีสำหรับผลิตภัณฑ์น้องใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าทางยุโรปตอนนี้ได้มีการสั่งออร์เดอร์เข้ามาบ้างแล้ว เนื่องจากน้ำส้มสายชูจากข้าวเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตขึ้น มีรสชาตินุ่มนวลไม่บาดคอเหมือนน้ำส้มสายชูจากองุ่นหรือแอปเปิ้ลที่นิยมผลิตกันอยู่ในปัจจุบัน ” เจ้าของไร่ปลูกรัก กล่าว

นอกจากนี้ นายกานต์ ยังกล่าวถึงสาเหตุที่เลือกข้าวเกษตรอินทรีย์มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำส้มสายชูว่า เพราะเป็นวัตถุดิบที่มีการเพาะปลูกและหาได้ง่ายในประเทศ ที่สำคัญยังไม่มีใครผลิต อีกทั้งแหล่งเพาะปลูกข้าวออร์แกนิคที่เป็นกลุ่มพันธมิตรมีอยู่จำนวนมาก จึงไม่กังวลถึงปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต
ผลิตภัณฑ์แปรรูปแล้ว
ด้าน นายวรรณภพ กล่อมเกลี้ยง ผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) เครือข่าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า iTAP มีภาระกิจหลักในการให้บริการผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับปรุงพัฒนากิจการภาคอุตสาหกรรม ในรูปแบบของการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านพัฒนา และให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมา iTAP ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการหลากหลายอาชีพ

เช่นเดียวกับ ไทยออร์แกนนิคฟาร์ม ทางผู้ประกอบการมีแนวคิดต้องการให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ถูกสุขอนามัย ปราศจากสารเคมี และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ จึงคิดว่าน่าจะนำพืชผักสดอินทรีย์มาแปรรูปเป็นเครื่องปรุงรสอาหารได้ ผู้ประกอบการจึงได้ขอรับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP เพื่อช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูหมักจากข้าวเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการยังมีความสนใจและต้องการพัฒนาสูตรน้ำจิ้มไก่ออร์แกนนิก จึงเกิดเป็นโครงการต่อมาคือ“โครงการศึกษาการผลิตน้ำจิ้มไก่อินทรีย์สำเร็จรูป” ที่เน้นใช้วัตถุดิบที่ปลูกในประเทศไทย โดยเฉพาะผลผลิตจากไร่ปลูกรักมาผลิต ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบบางชนิดจากต่างประเทศ และปรับสูตรรสชาติน้ำจิ้มให้ถูกลิ้นคนไทย สำหรับโครงการนี้มีนางทัศณีย์ ปิ่นแก้ว อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ

ไทยออร์แกนิค ฟาร์ม เป็นตัวอย่างเกษตรอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ครบวงจร แต่ตั้งกระบวนการตั้งต้นที่ไม่ใช่สารเคมี ( การเตรียมดิน น้ำ และปุ๋ย ) ไปจนถึงการแปรรูปผักอินทรีย์เป็นเครื่องปรุงรส ที่สอดรับนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยผู้ประกอบการนั้น มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และไม่ทำลายระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ภายใต้แบรนด์ “ไร่ปลูกรัก” โดยมีโครงการ iTAP และสถาบันการศึกษาให้การสนับสนุน

*****************************************

โทร. (02)-641-5366 แฟ็กซ์ (02)641-5365 หรือที่เว็บไซต์ www.thaiorganicfood.com

**********************

ข้อมูล โดย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
กำลังโหลดความคิดเห็น