xs
xsm
sm
md
lg

SOMBOON BATIK พลิกโฉมบาติก แฟชั่นชิ้นเดียวในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผ้าบาติก” ถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ ที่ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากมีลวดลายและสีสันสดใสสวยงามสะดุดตา ปัจจุบัน การผลิตผ้าบาติกขยายไปทั่วทุกภาค อย่างในรายของห้างหุ้นส่วนจำกัด สมบูรณ์อินเตอร์เทรด ผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าบาติก แบรนด์ SOMBOON BATIK ในจังหวัดเชียงใหม่ สะสมประสบการณ์กว่า 30 ปี จนลูกค้ายอมรับด้วยดีตลอดมา
 โฉมสุดา สมณะ
โฉมสุดา สมณะ ทายาทรุ่นที่ 2 เปิดเผยว่าบริษัทฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2516 เริ่มจากเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นการย้อมสีและเพ้นท์สี หลังจากที่จบการศึกษาในปี 2540 จึงมาต่อยอดธุรกิจของผู้เป็นแม่ โดยพัฒนารูปแบบและดีไซน์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งมีการคัดวัตถุดิบที่ใช้คุณภาพเกรดเอ นอกจากนั้นยังมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและมีการออกแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากน้องสาวคนเล็ก (นางสาวสรัชนันท์ สมณะ) จบทางด้านสิ่งทอจึงสามารถออกแบบโดยใช้สีและดีไซน์ตามที่ลูกค้ากำหนด

จากแนวความคิดของคนรุ่นใหม่บวกกับการที่ลูกค้ากำหนดรูปแบบงานที่ยากขึ้น หวังสร้างความแตกต่างให้กับตลาด พร้อมหลีกหนีคู่แข่ง จึงคิดที่จะทำผ้าบาติกมัดย้อมโดยใช้เทคนิคการผสมผสานงานบาติกและงานมัดย้อมเข้าด้วยกัน

โฉมสุดาเล่าว่า จากกรรมวิธีการทำที่มีหลายขั้นตอนทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้ว จุดเด่นที่สัมผัสได้คือลวดลายไม่ซ้ำแบบใคร แต่ละชิ้นจะไม่ซ้ำกัน หรือเรียกได้ว่ามีเพียงชิ้นเดียวในโลก ดังนั้นจึงสนองตอบความต้องการของลูกค้าที่ต้องการอะไรที่แปลกใหม่ ทั้งนี้สามารถรับออร์เดอร์จากลูกค้าซึ่งมีระดับความยากของงานได้มากขึ้น
โฉมสุดา และแม่
กระบวนการผลิตผ้าบาติกจะเริ่มตั้งแต่เป็นผ้าสีขาวอาจจะเป็นผืนหรือเสื้อผ้าที่ตัดเย็บ แล้วนำไปย้อมสีตามออร์เดอร์ จากนั้นเขียนลวดลายตามที่ออกแบบลงบนผืนผ้าด้วยดินสอ ใช้ปากกาเขียนเทียนจันติ้ง (Jancting) จุ่มน้ำเทียนเขียนไปตามลวดลายเพื่อให้น้ำเทียนเป็นแนวป้องกันน้ำสีไม่ให้ซึมผ่านถึงกัน จากนั้นจึงทำให้เกิดลวดลายด้วยวิธีการเพ้นท์หรือย้อมสี โดยที่สีบนผืนผ้าจะต้องซึมผ่านทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รอให้สีแห้งแล้วจึงนำไปเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบผ้า “โซเดียมซิลิเกต” เพื่อทำให้สีติดอยู่บนผืนผ้าอย่างถาวร ทิ้งไว้สักพักแล้วนำไปล้างน้ำออก จากนั้นนำผ้าดังกล่าวลงไปต้มในน้ำสบู่เทียมเพื่อละลายเทียนออก แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาดอีกครั้ง ในการผลิตผ้าบาติกแต่ละชิ้นจะใช้เวลาในการย้อมและเพ้นท์สีอย่างน้อย 2 วัน โดยอาศัยการตากแดดจนสีแห้ง ในส่วนของการตัดเย็บเสื้อผ้าจะให้ชาวบ้านในละแวกนำไปตัดเย็บตามแบบ ซึ่งราคาค่าตัดเย็บจะขึ้นอยู่กับรูปแบบ โดยเฉลี่ยประมาณตัวละ 50 – 90 บาท เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ทำจากผ้าบาติกมัดย้อมของหจก.สมบูรณ์อินเตอร์เทรด มีหลากหลายรูปแบบ หลายราคา ทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระโปรง โสร่ง เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต ฯลฯ เป็นผ้าที่ใช้ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติทั้งหมด อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าใยกัญชา และผ้าลินิน นอกจากนี้ยังเริ่มนำผ้าใยผสมมาใช้ เนื่องจากคุณสมบัติของผ้าชนิดนี้เมื่อนำมาย้อมจะเกิดการย้อมไม่สมบูรณ์ ดูมีหลายมิติขึ้นและยังได้ลวดลายที่แปลกใหม่ เป็นที่พอใจของลูกค้า

จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือการเน้นใช้สีค่อนข้างหนักและฉูดฉาด สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศสเปน ญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป โดยจะขายดีที่สุดในช่วงหน้าร้อนเพราะเสื้อผ้ามีสีสันสดใส สินค้ามีจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ผ่านหน้าร้านของตัวเอง ราคาอยู่ในระดับกลาง ราคาขายส่งโดยเฉลี่ยมีตั้งแต่ 100 – 400 บาทต่อตัว

“ผลิตภัณฑ์ของเราถ้าเปรียบเทียบกับเจ้าอื่นๆในตลาด ลูกค้าสามารถแยกออกได้เลยว่านี่เป็นของเรา เพราะจุดเด่นสำคัญ คือ หนึ่งดีไซน์จะไม่เหมือนใคร สองการลงสีจะเน้นสีเข้ม ฉูดฉาด แล้วคุณภาพที่สั่งสมกว่า 30 ปีที่ทำมาตั้งแต่สมัยคุณแม่ซึ่งจะเน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก คือของเราจะไม่ย้อมร้อนและสีที่ใช้จะเป็นสีที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกายของคนเหมือนกับสีที่เขาใช้ย้อมร้อนทั่วไป” โฉมสุดากล่าว

อย่างไรก็ดี ปัญหาหนึ่งที่ผู้ผลิตผ้ามัดย้อมส่วนใหญ่ประสบ คือคุณภาพของสีที่ย้อมไม่สม่ำเสมอ เช่น สีด่างและสีตกเมื่อซักล้าง แต่หจก.สมบูรณ์อินเตอร์เทรดได้พัฒนาเสื้อผ้าบาติกมัดย้อมสีไม่ตก โดยยังคงใช้สีจากธรรมชาติในการมัดย้อม สร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวให้กับผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก และลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อไปจะกลับมาซื้อซ้ำเพราะรู้ว่าคุณภาพดี
เครื่องต้นแบบการย้อมเสื้อระบบย้อมเย็นกึ่งอัตโนมัติ
แม้สินค้าของบริษัทฯจะมีความโดดเด่น แต่คงยังประสบปัญหาในการใช้แรงงานคนในกระบวนการย้อมสีก่อให้เกิดความเมื่อยล้า และการย้อมสีด้วยแรงงานคนทำให้การย้อมแต่ละครั้งไม่ได้คุณภาพ สีด่างไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผู้ประกอบการมีแนวคิดเปลี่ยนมาใช้ “เครื่องย้อมที่มีความเหมาะสมกับการผลิตขนาดเล็กและมีราคาไม่สูงมากนักเข้ามาทดแทนแรงงานคน” ซึ่งต้องจ่ายค่าแรงคนย้อมเฉลี่ยชิ้นละ 3 บาท

จากปัญหาดังกล่าวหจก.สมบูรณ์อินเตอร์เทรด จึงได้ขอรับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ ใน “โครงการการออกแบบและพัฒนาเครื่องย้อมเสื้อระบบย้อมเย็นกึ่งอัตโนมัติสำหรับกิจการขนาดเล็ก”

ภายใต้โครงการดังกล่าว iTAP ได้จัดส่ง นายเผ่าภิญโญศ์ ฉิมพะเนาว์ อาจารย์จากคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าเป็นที่ปรึกษาเมื่อปี 2551 โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ในการพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการผลิต เครื่องต้นแบบการย้อมเสื้อระบบย้อมเย็นกึ่งอัตโนมัติ

โฉมสุดายอมรับว่า แม้จะเป็นเพียงเครื่องต้นแบบที่รองรับการย้อมได้ครั้งละ 10 ตัว และรับน้ำหนักได้ 20 กิโลกรัม ใช้เวลาในการย้อม 30 นาที เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้แก่ น้ำ สีย้อม เกลือ กับการย้อมโดยใช้แรงงานคนแล้วทำให้กิจการสามารถประหยัดต้นทุนการผลิตในส่วนของค่าแรงงานได้กว่า 200 บาท/วัน นอกจากนี้ยังทำให้คนงานสามารถทำงานได้อย่างมีสุขอนามัยมากขึ้น ลดการอ่อนล้าลงและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น จึงถือเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีอย่างง่ายมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตแบบพื้นบ้าน อย่างไรก็ดี เครื่องย้อมผ้าดังกล่าวยังเป็นเพียงเครื่องต้นแบบ ที่ต้องการการปรับปรุงให้เครื่องมีขนาดใหญ่สามารถรองรับปริมาณงานที่มากขึ้น จึงมีโครงการต่อยอดเพื่อพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

“ ปัจจุบันเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ลูกค้าหายไปประมาณ 40% และยอดขายน้อยลงกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งปกติจะมียอดขายปีละหลายล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะทำให้ออร์เดอร์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศลดน้อยลงไปมาก จากเดิมที่เคยออร์เดอร์เข้ามาครั้งละพันชิ้น ล่าสุดมีออร์เดอร์เพียงร้อยชิ้นก็ยังถือว่าดีกว่าบางเจ้าที่ออร์เดอร์หายไปเลย สาเหตุเพราะคนหันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังกันมากขึ้นทำให้กระทบไปทั้งระบบ แต่ด้วยเป็นกิจการขนาดเล็กและส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่จึงไม่กระทบกับภาวะเศรษฐกิจมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังวางแผนจะสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง อีกทั้งพัฒนาแบบและดีไซน์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองตลาดให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งใช้สีจากธรรมชาติให้มากขึ้น” โฉมสุดากล่าวในตอนท้าย

***********************************

ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมบูรณ์อินเตอร์เทรด เลขที่ 168/1 ถ.ทุ่งโฮเต็ล ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000 โทรศัพท์. 053-249-464 หรือที่เว็บไซต์ www.somboonbatik.com

*********************************

ข้อมูลโดย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โทร. 0-2270-1350-4 ต่อ 115
กำลังโหลดความคิดเห็น